MGR ออนไลน์ - อุตสาหกรรมการบินของเวียดนามคึกคักมาตั้งแต่ต้นปี 2562 เมื่อท้องฟ้าของเวียดนามถูกทาบทับด้วยสีสันและโลโก้ใหม่ของสายการบินแบมบู (Bamboo Airways) ที่เปิดให้บริการเที่ยวบินปฐมฤกษ์ในเดือนม.ค. ซึ่งมาพร้อมกับความหวังที่จะเข้าชิงส่วนแบ่งตลาดการบิน ที่ถูกครอบครองโดยสายการบินเวียดนาม (Vietnam Airlines) ที่เป็นสายการบินแห่งชาติ และสายการบินเวียดเจ็ท (Vietjet) ที่เป็นสายการบินต้นทุนต่ำ
นอกเหนือไปจากสายการบินแบมบูที่กระโดดร่วมวงลงแข่งขันในตลาดการบินของประเทศแล้ว ยังพบว่าเวียดนามกำลังจะมีสายการบินใหม่อีก 3 สายการบิน ซึ่งกำลังเข้าแถวรอเปิดตัวร่วมน่านฟ้านี้
ในช่วงปี 2562 สายการบินแบมบู สายการบินน้องใหม่ของเวียดนามได้ให้บริการเที่ยวบินไปแล้วมากกว่า 14,000 เที่ยวบิน และเปิดเส้นทางบินระหว่างประเทศไปยังเกาหลีใต้ ทั้งยังได้รับมอบเครื่องบินโบอิ้ง 787-9 ดรีมไลเนอร์ลำแรกของสายการบินเข้าเป็นส่วนหนึ่งของฝูงบินที่สายการบินตั้งเป้าจะขยายเป็น 30 ลำ
สายการบินแบมบูยังมีเป้าหมายที่จะเปิดเที่ยวบินตรงแบบไม่แวะพักไปยังสหรัฐฯ เป้าหมายที่แม้แต่สายการบินแห่งชาติอย่างเวียดนามแอร์ไลน์ส ยังไม่สามารถบรรลุได้จนถึงตอนนี้ และฝูงบินของสายการบินก็ยังเต็มไปด้วยเครื่องบินลำตัวแคบเพื่อแข่งขันกับสายการบินต้นทุนต่ำอย่างเวียดเจ็ท
นอกจากสายการบินแบมบูที่เปิดตัวให้บริการแล้ว ยังมีกลุ่มบริษัทหลายรายแสดงความตั้งใจที่จะเปิดสายการบินเข้าร่วมในอุตสาหกรรมการบินของประเทศ เช่น บริษัทวินกรุ๊ป (Vingroup) ที่เปิดเผยในเดือนส.ค. ที่ผ่านมาว่าได้ยื่นขอใบอนุญาตดำเนินการสายการบินพาณิชย์ด้วยงบลงทุน 4.7 ล้านล้านด่ง (202 ล้านดอลลาร์) และมีความต้องการที่จะเริ่มให้บริการเที่ยวบินในเดือนก.ค. 2563 และในเดือนเดียวกันนั้น บริษัทเทียนมีงกรุ๊ป (Thien Minh Group) ยังยื่นขอใบอนุญาตเปิดสายการบินใหม่ในชื่อ สายการบินไคท์แอร์ (KiteAir) ในเดือนมิ.ย. 2563 ที่จะให้บริการด้วยเครื่องบิน ATR-72
เวียดทราเวล (Vietravel) บริษัทด้านการท่องเที่ยวยักษ์ใหญ่ของประเทศ วางแผนที่จะเปิดสายการบินเวียดทราเวล (Vietravel Airlines) เช่นกัน โดยในเดือนก.ย. บริษัทได้ระดมทุน 700,000 ล้านด่ง (30 ล้านดอลลาร์) เพื่อเปิดเที่ยวบินปฐมฤกษ์ในปี 2563 ด้วยเครื่องบินแอร์บัส A321neo หรือโบอิ้ง 737
ผู้ที่เข้าร่วมในตลาดการบินของเวียดนามกำลังหวังที่จะทำเงินจากความต้องการการเดินทางทางอากาศที่เพิ่มสูงขึ้นในประเทศที่เศรษฐกิจกำลังขยายตัวอย่างรวดเร็ว แต่ด้วยจำนวนสายการบินที่เพิ่มมากขึ้นนี้ ได้ก่อให้เกิดความวิตกกังวลว่าสนามบินที่มีอยู่จะสามารถจัดการกับเที่ยวบินที่เพิ่มขึ้นเหล่านี้ได้อย่างไร ด้วยในปัจจุบันสนามบินถูกใช้งานเกินขีดความสามารถแล้ว
“สายการบินใหม่หมายถึงจำนวนเครื่องบินที่มากขึ้นขณะที่โครงสร้างพื้นฐานใช้งานเกินพิกัด เจ้าหน้าที่จะเผชิญกับความยากลำบากในการจัดการเครื่องบินใหม่ ซึ่งต้องทำให้แน่ใจว่ามีความปลอดภัย” ผู้เชี่ยวชาญด้านการบิน กล่าว
สนามบินนานาชาติเติ่นเซินเญิตในนครโฮจิมินห์ ที่เป็นสนามบินที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ รองรับผู้โดยสาร 38 ล้านคนเมื่อปีก่อน มากเกินกว่าที่ออกแบบให้รองรับที่ 28 ล้านคน ส่วนสนามบินนานาชาติโนยบ่ายในกรุงฮานอย จำเป็นต้องปรับปรุงรันเวย์ 2 แห่งของสนามบินหลังถูกใช้งานหนักมากเกินไป
ด้วยโครงสร้างพื้นฐานสนามบินที่อายุมาก ส่งผลให้เจ้าหน้าที่ต้องจำกัดการออกใบอนุญาตเปิดสายการบินใหม่ แต่สายการบินแบมบูได้ไฟเขียวเนื่องจากเลือกสำนักงานใหญ่ของสายการบินที่สนามบินนานาชาติฟู้บ่ายในจ.เถื่อ เทียน-เหว ที่การจราจรคับคั่งน้อยกว่าสนามบินที่นครโฮจิมินห์และกรุงฮานอย
นอกเหนือจากปัจจัยเรื่องโครงสร้างพื้นฐาน ปัญหาการขาดแคลนทรัพยากรบุคคลดูจะเป็นอีกหนึ่งความท้าทายที่เวียดนามต้องเร่งแก้ไข ซึ่งในขณะที่สายการบินต่างๆ มุ่งกับการขยายฝูงบินของตัวเองทำให้ความต้องการนักบินเพิ่มสูงขึ้น ฝ่ายกรมการบินพลเรือนเวียดนามก็จำเป็นต้องจัดหาเจ้าหน้าที่ด้านความปลอดภัยการบินเพื่อรับมือกับเครื่องบินที่มีมากขึ้นเหล่านี้เช่นกัน
เวลานี้เวียดนามมีเครื่องบิน 256 ลำ แต่ตัวเลขดังกล่าวประเมินว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 450 ลำในปี 2568 เนื่องจากทั้งสายการบินเวียดนาม สายการบินเวียดเจ็ท และสายการบินแบมบู ต่างมีคำสั่งซื้อเครื่องบินลำใหม่ทั้งสิ้น
แม้จะเผชิญกับปัญหาต่างๆ แต่เจ้าหน้าที่ยังมองเห็นพื้นที่ว่างสำหรับสายการบิน โดยหัวหน้ากรมการบินพลเรือนเวียดนามกล่าวว่าเวียดนามยังสามารถเพิ่มจำนวนสายการบินพาณิชย์จาก 5 สายการบิน เป็น 8 สายการบินได้
สำหรับเป้าหมายการเปิดเที่ยวบินตรงสู่สหรัฐฯ ของเวียดนาม ที่เคยประกาศครั้งแรกเมื่อ 16 ปีก่อน เวลานี้เป้าหมายดังกล่าวยังคงห่างไกลเนื่องจากเหตุผลด้านเทคนิคและผลกำไรจากการประกอบการเที่ยวบิน
ในปี 2546 กระทรวงคมนาคมได้สั่งให้สายการบินเวียดนามเริ่มให้บริการเที่ยวบินตรงในปี 2548 ซึ่งไม่เพียงแค่สายการบินไม่สามารถดำเนินการตามคำสั่งได้ แต่ทุกวันนี้ สายการบินแห่งชาติยังคงวิตกเกี่ยวกับการทำกำไรในเส้นทางดังกล่าว แม้สายการบินจะได้รับอนุญาตจากกระทรวงคมนาคมสหรัฐฯ ในเดือนก.ย. ที่ผ่านมาก็ตาม
ซีอีโอของสายการบินเวียดนามกล่าวว่า สายการบินเผชิญกับความยากลำบากในการดึงดูดผู้โดยสารในการใช้บริการเที่ยวบินตรง โดยอ้างถึงข้อเท็จจริงที่ว่าค่าโดยสารจะสูงกว่าเที่ยวบินที่จอดพักระหว่างเส้นทาง และแม้เที่ยวบินตรงจะดึงดูดผู้โดยสารในชั้นธุรกิจเป็นส่วนใหญ่ แต่จำนวนก็ยังไม่มากพอที่จะทำให้เที่ยวบินมีกำไร
อีกหนึ่งความวิตกคือโลจิสติกส์ ซีอีโอสายการบินแห่งชาติระบุว่าเวลานี้สายการบินไม่มีเครื่องบินขนาดใหญ่ที่สามารถใช้ในเส้นทางนี้ได้ และเครื่องบินโบอิ้ง 777X และแอร์บัส A350-1000 ที่มีขนาดใหญ่จะมีให้บริการในปี 2565 ส่วนเครื่องบินโบอิ้ง 787 ที่มีในปัจจุบันนั้นจะไม่คุ้มค่าใช้จ่าย
สายการบินเวียดเจ็ท ที่เป็นสายการบินต้นทุนต่ำ ก็แสดงความสนใจกับการเปิดให้บริการเที่ยวบินตรง แต่สายการบินยังไม่เริ่มดำเนินการใดๆ เนื่องจากสายการบินมุ่งความสนใจที่เที่ยวบินที่ใช้ระยะเวลาบิน 5-6 ชั่วโมงซึ่งฝูงบินของสายการบินที่เป็นเครื่องบินลำตัวแคบให้บริการอยู่
รองผู้อำนวยการสายการบินเวียดเจ็ทกล่าวเพียงว่าเวียดเจ็ทจะบินไปสหรัฐฯ เมื่อถึงเวลาที่เหมาะสมและสภาพเงื่อนไขทั้งหมดพร้อม โดยไม่ได้ระบุรายละเอียดเพิ่มเติม
ด้านสายการบินแบมบู สายการบินเอกชนของประเทศก็แสดงความต้องการเปิดเที่ยวบินตรงสู่สหรัฐฯ เช่นเดียวกัน โดยประธานสายการบินได้ประเมินว่าค่าโดยสารไป-กลับ 1,300 ดอลลาร์ จะสามารถทำกำไรได้ราว 346,000 ดอลลาร์ต่อเดือน โดยตัวเลขเหล่านี้มีพื้นฐานจากการดำเนินการด้วยเครื่องบินเช่าโบอิ้ง 787-9 ขนาด 240 ที่นั่ง และเสริมว่าหากสายการบินสามารถเช่าแอร์บัส A350 ที่มีที่นั่งราว 253-300 ที่นั่ง ผลกำไรน่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 1.2 ล้านดอลลาร์
สายการบินได้รับมอบเครื่องบินโบอิ้ง 787-9 ดรีมไลเนอร์ในเดือนธ.ค. และวางแผนที่จะใช้เครื่องบินดังกล่าวสำหรับเที่ยวบินตรงไปยังสหรัฐฯ ในปลายปี 2563 หรือต้นปี 2564 ซึ่งสายการบินแบมบูอยู่ในกระบวนการยื่นขอใบอนุญาตจากสหรัฐฯ
อย่างไรก็ตาม กรมการบินพลเรือนเวียดนามระบุว่า แม้สายการบินจะได้รับอนุญาตให้เปิดบริการเที่ยวบินตรง แต่สายการบินของประเทศจะเผชิญกับความท้าทายอีกมาก ด้วยสหรัฐฯ เป็นตลาดที่ค่อนข้างมีการแข่งขันรุนแรง ซึ่งสายการบินของประเทศจะต้องแข่งกับสายการบินต่างชาติที่ให้บริการเที่ยวบินทั้งแบบหยุดพัก 1 จุด หรือ 2 จุด ระหว่างสองประเทศ จึงเป็นสิ่งจำเป็นที่สายการบินจะต้องคำนวณอย่างรอบคอบก่อนเปิดให้บริการบินตรง
ก่อนหน้านี้ สายการบินของสหรัฐฯ เคยให้บริการบินตรงระหว่างสหรัฐฯ และเวียดนาม แต่ได้ยุติการให้บริการไป เช่นยูไนเต็ดแอร์ไลน์เปิดให้บริการบินตรงในปี 2550 แต่ยุติบริการในปี 2555 แต่ผู้เชี่ยวชาญให้ความเห็นว่าความต้องการเที่ยวบินตรงในเวลานี้สูงกว่าในอดีต
ชาวเวียดนามพลัดถิ่นกว่า 2.1 ล้านคนในสหรัฐฯ คาดว่าจะเป็นอุปสงค์สำคัญ และจำนวนนักท่องเที่ยวที่เดินทางจากสหรัฐฯ มาเวียดนามโตขึ้น 11.9% จากปี 2560 เป็น 687,000 คนในปี 2561 ตามการระบุของกระทรวงวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว.