MGR ออนไลน์ -- คณะเจ้าหน้าที่กองทัพเรือไทยชุดหนึ่งที่นำโดย พล.ร.ท.ศังกร พงษ์ศิริ ผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการนาวิกโยธิน กำลังเยี่ยมชมงานแสดงอาวุธ ที่จัดขึ้นในกรุงเคียฟ สาธารณรัฐยูเครนสัปดาห์นี้ คณะของไทยได้พบหารือกับฝ่ายเจ้าภาพในวันพุธ 10 ต.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นวันที่สองของงาน สื่อของยูเครนกล่าวว่าฝ่ายไทย ได้แสดงความสนใจรถหุ้มเกราะ BRT-4 รุ่นใหม่ล่าสุด ที่เพิ่งบรรจุเข้าประจำการกองทัพเจ้าของประเทศเมื่อไม่นานมานี้
นี่คือ ยานลำเลียงพลหุ้มเกราะ 8x8 รุ่นแรกสุดของค่ายนี้ ที่ผลิตตามมาตรฐานขององค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ ตามนโยบายเปลี่ยนทิศทางการพัฒนาอาวุธกับกองทัพของสาธารณรัฐยูเครน ที่เคยเป็นสาธารณรัฐหนึ่งในเครือสหภาพโซเวียต ถึงแม้ว่าในขณะนี้จะยังไม่ได้เป็นสมาชิกของนาโต้ก็ตาม
การไปเยี่ยมชมดังกล่าวมีขึ้น 1 ปีพอดี นับตั้งแต่รัฐวิสาหกิจยูโครโบรอนพรอม ส่ง BTR-4E คันหนึ่ง พร้อมอาวุธยุทธโธปกรณ์ และ อุปกรณ์ด้านการป้องกันประเทศชนิดและรุ่นอื่นๆ เป็นจำนวนมาก มาร่วมวางแสดงในนิทรรศการอาวุธเพื่อการป้องกันประเทศ ที่ศูนย์อิมแพ็คท์ เมืองทองธานี อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี เมื่อปีที่แล้ว ทำให้พาหนะลำเลียงพลและจู่โจมรุ่นใหม่ของยูเครน ได้รับความสนใจจากฝ่ายไทยตั้งแต่นั้น
คณะของราชนาวีไทยได้เข้าพบหารือกับ นายโอเล็กซานเดอร์ ตูร์ชีนอฟ (Oleksadr Turchinov) เลขาธิการสภาความมั่นคงและการป้องกันประเทศยูเครน เกี่ยวกับการขยายความร่วมมือสองฝ่ายด้านการกลาโหมและความมั่นคงปลอดภัย กับความร่วมมือทางด้านเทคนิคการทหาร มีรายงานเรื่องนี้ในเว็บไซต์รัฐวิสาหกิจอุตสาหกรรมกลาโหมแห่งยูเครน
.
.
"คณะของไทยได้แสดงความสนใจต่อ BTR-4MB1 ซึ่งฝ่ายไทยกล่าวว่า อาจเป็นพาหนะสู้รบหลักของกองกำลังนาวิกโยธินของราชอาณาจักรไทยได้" ประโยคนี้ระบุอยู่ในเอกสารแถลงข่าวอย่างเป็นทางการ เกี่ยวกับผลการพบหารือกับคณะจากประเทศไทย ที่ออกโดยหน่วยงานของสภาความมั่นคงฯ แห่งชาติยูเครน เมื่อไม่กี่ชั่วโมงมานี้่
การเดินทางเยือนยูเครนของคณะผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการนาวิกโยธินของไทย ยังมีขึ้นเพียงไม่นานหลังจากกองทัพบกไทย ได้ทดสอบมาตรฐานและสมรรถนะของรถถังหลัก T-84 Oplot-M ล็อตสุดท้ายอีก 13 คัน ครบทั้ง 49 คันตามสัญญาการจัดซื้อจัดหา
ปัจจุบันกองทัพบกไทย เป็นลูกค้ารายใหญ่อีกรายหนึ่งของรถหุ้มเกราะ BTR-3E โดยจัดหาจากยูเครนรวม 3 ครั้ง ตั้งแต่ปี 2554 เป็นต้นตามแผนการใช้ยานหุ้มเกราะรุ่นนี้ เป็นยานลำเลียงพลหลัก ตัวเลขของสำนักข่าวกลาโหมหลายแห่งระบุว่า กองทัพบกไทยอาจต้องจัดหารถ BTR-3 กว่า 300 คัน เพื่้อทดแทนรถลำเลียงพล (Armored Personnel Carrier) แบบ V-100 กับ V-150 "คอมมานโด" 4 ล้อยาง ที่ผลิตในสหรัฐ และใช้มาหลายสิบปี
ตัวเลขของฝ่ายยูเครนระบุว่า ที่ผ่านมาฝ่ายไทยได้เซ็นสัญญาจัดหารถ BTR-3 รวมทั้งหมด 236 คัน รวมทั้งรถสนับสนุน-กู้ภัยอีกจำนวนหนึ่ง จึงทำให้ไทยเป็นลูกค้ารายใหญ่อันดับสอง ของรถ BTR-3 ถัดจากพม่าซึ่งจนถึงปัจจุบันได้รับมอบแล้วกว่า 300 คัน ตามแผนการจัดหากว่า 1,000 คัน ในโครงการพัฒนากองทัพให้ทันสมัย สื่อกลาโหมของยูเครนเองรายงานก่อนหน้านี้ว่า BTR-3 ของกองทัพพม่าส่วนใหญ่จะผลิต/ประกอบในพม่า ผ่านการถ่ายทอดเทคโนโลยี
.
สำหรับนาวิกโยธินของไทย เป็นอีกหนึ่งหน่วยงานที่มีภารกิจต้องใช้รถ APC จำนวนมาก ปัจจุบันมีรถหุ้มเกราะ BTR-3 ใช้อยู่เพียง 12 คัน จำนวนหนึ่งได้เข้าร่วม การฝึกคอบร้าโกลด์เมื่อปีที่แล้ว พร้อมกับ T-84 โอปล็อต-M ของกองทัพบก
สื่อยูเครนรายงานก่อนหน้านี้่ว่า ฝ่ายไทย ได้แสดงความสนใจอย่างมาก ต่อรถ BTR-4E ที่นำไปแสดงในนิทรรศการอาวุธป้องกันประเทศ ที่เมืองทองธานีเดือน ต.ค.ปีที่แล้ว ซึ่งเป็นงานแรกที่ยูเครนส่งผลิตภัณฑ์ไปร่วมวางแสดงมากที่สุด และ รัฐมนตรีกลาโหม พล.อ.สเตฟาน โปลโตราคา (Stepan Poltoraka) เดินทางมาร่วมงานด้วยตนเอง
ถ้าหากมีการจัดหา BTR-4 ติดตามมา ไทยก็จะเป็นลูกค้ารายที่สองสำหรับยานลำเลียงพลหุ้มเกราะ 8x8 รุ่นล่าสุด ถัดจากอินโดนีเซียที่จัดหามาก่อน และกำลังทดสอบอยู่ในขณะนี้
รถ BTR-3 และ 4 เป็นสายการผลิตของยูเครน เนื่องจากเคยเป็นแหล่งผลิตใหญ่ที่สุดสำหรับกองทัพสหภาพโซเวียต เป็นสายการผลิตเดียวกันกับรถลำเลียงพลหุ้มเกราะ BTR ของรัสเซีย ซึ่งพัฒนาต่อเนื่องมาภายใต้รหัส 50/60/70 จนถึง BTR-80 ซึ่งเป็นรุ่นใหม่ล่าสุดในปัจจุบัน -- ยังมีอีกหลายสายการผลิตในกลุ่มรัฐบริวารเมื่อก่อน รวมทั้งเชโกสโลวะเกีย โปแลนด์กับเยอรมนีตะวันออกด้วย
.
ตามข้อมูลในเว็บไซต์ยูโครโบรอนพรอมนั้น BTR-4 แตกต่างไปจาก BTR-3 อยู่หลายประการ ทั้งภายนอกและภายใน ซึ่งรวมทั้งระบบควบคุมต่างๆ ที่เป็นดิจิตอลทั้งหมด มีขนาดใหญ่ขึ้น บรรทุกได้มากขึ้น และ แล่นได้เร็วกว่า BTR-3 -- ระบบเกราะป้องกันประสิทธิภาพสูงขึ้น นอกจากนั้นยังเป็นครั้งแรกที่ใช้เครื่องยนต์ดีเซลมาตรฐานยูโร 3 จากเยอรมนี โดยมีแผนการจะพัฒนาไปติดตั้งเครื่องยนต์เจเนอรัลมอเตอร์สจากสหรัฐในอนาคต เช่นเดียวกับรถลำเลียงพลโจมตี BTR-70D ซึ่งเป็นอีกสายการผลิตหนึ่ง ที่นำออกแสดงเป็นครั้งแรกในงานนี้เช่นกัน
ระบบอาวุธหลักของ BTR-4 เป็นปืนใหญ่อัตโนมัติ 30 มม.รุ่นใหม่ กับปืนกล 7.62 มม. ที่ติดตั้งกับตัวรถ พร้อมติดอาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้รถถังแบบ 9P135M "คอนเคอร์ส" (Konkurs) ได้ถึง 4 ลูกที่ด้านข้างของป้อมปืนทั้งสองด้าน -- นอกจากนั้นยังดัดแปลงติดตั้งระบบอาวุธอื่นๆได้
BTR-4 ยังติดตั้งระบบป้องกันได้อีกหลายชั้น เช่นเดียวกับรถถังหลักทั่วไป รวมทั้ง "เกราะระเบิด" ERA (Explosive Reactive Armor) - รอบๆป้อมปืนยังสามารถตั้งตะแกรงเหล็ก (Slat Armor) ป้องกันการโจมตีด้วยระบบอาร์พีจีได้อย่างปลอดภัย และ รอบๆ ตัวด้านล่างติดตั้งเกราะเหล็กได้อีก
เพื่อผลิตออกมาตามมาตรฐานโลกตะวันตก ทำให้ยูเครนต้องพัฒนาระบบป้องกันของ BTR-4 ให้ได้ถึง 4-5 ชั้น -- ปืนกลที่ใช้เป็นอาวุธหลัก ก็เป็นกระบอกแรกที่เป็นคาลิเบอร์ของนาโต้ โดยเปลี่ยนจากปืนกล 7.76 มม.มาตรฐานโซเวียต-รัสเซีย ที่ติดตั้งบน BTR-3 ในปัจจุบัน.