xs
xsm
sm
md
lg

เวียดนามแซงมาเลเซียเป็นคู่ค้าใหญ่ที่สุดของจีนในอาเซียน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

<br><FONT color=#00003>ภาพวันที่ 27 ก.ค.2561 ท่าเรือไซ่ง่อนต้องขยายอาณาบริเวณมาหลายครั้ง สะท้อนให้เห็นปริมาณการสัญจรของสินค้า เรือหลายลำออกจากที่นี่ตรงไปยังปลายทางใกล้เคียงทางตอนใต้ของจีน อีกหลายลำส่งคอนเทนเนอร์ไปลงเรือเดินสมุทรที่ท่าน้ำลึกเติ่นก๋างก๋ายแหม็บที่อยู่ใตัลงไป -- 6 เดือนแรกของปีนี้่มูลค่าการค้าจีน-เวียดนามพุ่งพรวดเกินระดับปรกติทั่วไประหว่างจีนกับชาติอาเซียน. -- Reuters/Kham.</a>

MGR ออนไลน์ -- ถึงแม้จะเป็นคู่กรณีหลักในความขัดแย้งทะเลจีนใต้ก็ตาม แต่ในปีนี้มูลค่าการค้าสองฝ่ายระหว่างจีนกับเวียดนาม เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา เป็นครั้งแรกที่มูลค่าพุ่งขึ้นเป็นกว่า 10,000 ล้านดอลลาร์ และ ป็น 11,200 ล้านในเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา ทำให้เวียดนามแซงหน้ามาเลเซีย (9.3 พันล้านดอลลาร์) ขึ้นเป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดกับจีน ในบรรดาสมาชิกกลุ่มอาเซียนทั้งหมด

สถานทูตจีนออกแถลงตัวเลขดังกล่าวเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา แต่ปรากฏเป็นข่าวในวงจำกัดตามสื่อต่างๆ ของเวียดนามเอง เพราะไม่ว่าอะไรก็ตามที่เกี่ยวกับจีนจะส่งผลกระทบต่อความรู้สึกของชาวเวียดนามในทางลบได้ง่ายมาก

อัครรัฐทูตที่ปรึกษาฝ่ายการพาณิชย์ของสถานทูตจีน นายหู โส่วจิ้น (Hu Suojin) กล่าวว่า ความสัมพันธ์ทางการค้าจีน-เวียดนามในช่วงเร็วๆ นี้ ได้พุ่งขึ้นเกินเกณฑ์ทั่วไประหว่างจีนมีกับชาติอาเซียนอื่นๆ โดยในเดือน ก.พ.ปีนี้จีนได้กลายเป็นผู้นำเข้าสินค้าจากเวียดนามรายใหญ่ที่สุด แทนที่สหรัฐฯ

ช่วง 6 เดือนแรกของปี 2561 นี้ มูลค่าการค้าสองฝ่ายได้เพิ่มขึ้นเป็น 66,000 ล้านดอลลาร์ มูลค่าส่งออกสินค้าจีนไปยังเวียดนาม ขยายตัวในอัตรา 23.5% ทำให้เวียดนามติดอันดับ 1 ใน 10 ตลาดส่งออกใหญ่ที่สุดของจีน และในทางกลับกันมูลค่าส่งออกของเวียดนามไปยังตลาดใหญ่จีน ก็ขยายตัวสูงถึง 37.4% -- กลายเป็นผู้ส่งออกสินค้าไปยังจีนรายใหญ่ที่สุดในอาเซียน นายหู อ้างตัวเลขสถิติอย่างเป็นทางการของกระทรวงการค้าในกรุงปักกิ่ง

ฝ่ายจีนกล่าวอีกว่า การค้าระหว่างสองประเทศยังมีโอกาสขยายตัวได้ในระดับสูงขึ้นอีกตามนโยบายของรัฐบาลสองฝ่าย -- เพราะมองในภาพรวมแล้วยอดการค้าขายในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ขยายตัวเพียง 28.8% เท่านั้น -- การได้เปรียบดุลการค้าที่เพิ่มขึ้นมากมายของฝ่ายเวียดนาม ยังไปช่วยลดยอดขาดดุลการค้าที่เสียเปรียบคู่ค้าอื่นๆ อีกด้วย

เวียดนามไม่ต่างกับมาเลเซีย ซึ่งต่างก็เป็นคู่กรณีกับจีนที่ประกาศเป็นเจ้าของน่านน้ำทะเลจีนใต้เกือบทั้งหมดแต่เพียงผู้เดียว โดยอ้างเป็นมรดกตกทอดมาจากบรรพบุรุษ ทั้งเวียดนาม และมาเลเซียได้ทำบันทึกคัดค้านหรือประท้วงการสร้างเกาะเทียมของจีน รวมทั้งคัดค้านการเคลื่อนไหวของฝ่ายจีนในน่านน้ำสากลแห่งนี้ทุกกรณี

อย่างไรก็ตาม จีนได้พยายามอย่างอดทนในการพัฒนาความสัมพันธ์กับชาติสมาชิกอาเซียน ทั้งในระดับทวิภาคี และในระดับกลุ่ม เพื่อแยก 10 ประเทศในย่านนี้ให้ห่างออกไปจากอิทธิพลของสหรัฐฯ ทั้งทางเศรษฐกิจ การเมือง และการกลาโหม -- ปีนี้อาจจะเป็นครั้งแรกที่จะได้เห็นการร่วมฝึกซ้อมทางทหารระหว่างจีนกับอาเซียนทั้งกลุ่ม โดยสองฝ่ายได้ตกลงในหลักการจะจัดให้มีขึ้นในเดือน ต.ค.


กำลังโหลดความคิดเห็น