เอเอฟพี - รัฐบาลกัมพูชาได้แจ้งไปยังโรงเรียนต่างๆ ทั่วประเทศให้หยุดดัดแปลงอาวุธยุคสงครามมาทำเป็นระฆังในโรงเรียน เพื่อป้องกันเหตุระเบิดที่อาจเกิดขึ้นได้
สงครามกลางเมืองเกือบ 30 ปี และการทิ้งระเบิดของสหรัฐฯ ในช่วงทศวรรษ 1960 ทำให้กัมพูชาเป็นหนึ่งในประเทศที่ถูกทิ้งระเบิด และมีทุ่นระเบิดมากที่สุดในโลก
การเปลี่ยนระเบิด หรือกระสุนเป็นระฆัง เป็นการกระทำที่แพร่หลายหลังการล่มสลายของการปกครองของเขมรแดงในปี 2522 ที่ระบบการศึกษาของประเทศถูกทำลาย ทำให้ครูต้องใช้วัสดุอุปกรณ์เท่าที่มีอยู่
รัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการกัมพูชา กล่าวว่า เจ้าหน้าที่ด้านการทำลายวัตถุระเบิดได้แนะนำว่าแม้ลูกปืน และระเบิดจะไม่ทำงาน แต่ก็ยังมีความเสี่ยงเมื่อระฆังถูกตี หรือกระแทก หรือระหว่างแก้ไขดัดแปลง เป็นผลให้เจ้าหน้าที่ด้านการศึกษาต้องแจ้งต่อทุกโรงเรียนให้ยุติการนำวัตถุระเบิดที่ยังไม่ระเบิดเหล่านี้มาดัดแปลงเป็นระฆัง
อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีรายงานว่าเกิดเหตุระฆังระเบิด แต่เด็กนักเรียนมักเสียชีวิตจากระเบิดที่เกิดขึ้นตามพื้นสนามของโรงเรียน หลังเล่นกับวัตถุระเบิดอื่นๆ ที่ขุดพบ เช่น ลูกระเบิด และกับระเบิด
ในเดือน ม.ค.2560 ชาวบ้านเขมรหลายพันคนต้องอพยพออกจากพื้นที่ หลังพบระเบิดแก๊สน้ำตา 2 ลูก จากสมัยสงครามเวียดนาม ใกล้กับโรงเรียนประถมศึกษา ใน จ.สวายเรียง
เฮง รัตนา ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการทุ่นระเบิดกัมพูชา กล่าวว่า ความเคลื่อนไหวของกระทรวงเป็นอีกขั้นตอนหนึ่งของการระมัดระวัง
“เราไม่อนุญาตให้พวกเขาใช้ระเบิดเหล่านั้น เพราะระเบิดที่ยังไม่ระเบิดอาจมีฟิวส์อยู่ภายใน และเมื่อพวกเขาตีมัน ก็อาจเกิดระเบิดขึ้นได้” เฮง รัตนา กล่าว
นอกจากนั้น การหยุดใช้ระเบิดเป็นระฆังยังช่วย “ยุติความสับสน” ในหมู่เด็กๆ ที่อาจพยายามทุบตีวัตถุระเบิดที่ยังไม่ระเบิดเหล่านี้เมื่อพวกเขาพบมันในชีวิตประจำวัน เพราะเด็กๆ เห็นครูตีระฆังที่โรงเรียน
วัตถุระเบิดที่ตกค้าง และยังไม่ระเบิดได้สังหารประชาชนไปราว 20,000 คน และทำให้อีกหลายหมื่นคนกลายเป็นผู้พิการ นับตั้งแต่ปี 2522 เป็นต้นมา.