xs
xsm
sm
md
lg

เกาหลีระดม FA-50 "อินทรีทอง" คุมน่านฟ้าคุ้มครองโอลิมปิกฤดูหนาวเดือนหน้า

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online



MGRออนไลน์ -- กองทัพอากาศเกาหลีใต้ ระดม FA-50 Golden Eagle ร่วมเครื่องบินตรวจการณ์ พร้อมระบบจรวดป้องกันทางอากาศ ปฏิบัติการ 24 ชั่วโมง เพื่อคุ้มครองนักกีฬานับหมื่นคนจากทั่วโลก ระหว่างการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาว ที่จะจัดขึ้นในเดือนหน้านี้ เป็นการตอกย้ำให้เห็น การใช้ประโยชน์อันสำคัญ ในด้านการรักษาความมั่นคง ของเครื่องบินโจมตีเบา ที่มีขนาดเล็ก แต่มีความเร็วเหนือเสียงเพียงรุ่นเดียวในโลก -- แบบเดียวกันกับที่บริษัทผู้ผลิตในเกาหลี จะส่งมอบให้กองทัพอากาศไทยล็อตแรกเดือน มี.ค.ที่จะถึง

นอกจากภารกิจประจำในกองทัพอากาศในยามปรกติ ครั้งนี้จะเป็นครั้งแรกที่ FA-50 ออกงานใหญ่ -- เป็นการรับภารกิจแทน F-16K เครื่องบินรบรุ่นใหญ่ ที่เคยทำหน้าที่คุ้มครอง การแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อน ในกรุงโซล เมื่อปี 2531

วิดีโอที่เผยแพร่โดยกองทัพอากาศ ผ่านสื่อต่างๆ เมื่อไม่กี่วันมานี้ แสดงให้เห็น FA-50 จำนวน 3 ลำ ขึ้นบินลาดตระเวนเหนือดินแดนเกาหลี ใกล้กับเส้นแบ่งเขตแดนเหนือกับใต้ ในตอนเช้าตรู่ ก่อนรุ่งอรุณวันที่ 1 ม.ค. อันเป็นส่วนหนึ่งในการเฉลิมฉลองขึ้นปีใหม่ 2561 และ ตอกย้ำความปรารถนาอันแรงกล้า ในการเป็นเจ้าภาพที่ดี สำหรับการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก ที่เมืองพย็องชัง (PyeongChang)

อีกหลายฉากในวิดีโอ แสดงให้เห็น FA-50 อีก 4 ลำ ขณะบินลาดตระเวณในภารกิจเดียวกัน กับอีกหลายลำแสดงการบินผาดแผลง และ อีก 5 ลำบินเป็นวงกลม ปล่อยควัน ทำเครื่องหมาย "ห้าห่วง" อันเป็นสัญลักษณ์ของโอลิมปิก บนท้องฟ้าเหนือสนามสำหรับการแข่งขันหลัก เมืองพย็องชัง ใน จ.กังวอน (Gangwon) ทางทิศตะวันออกของกรุงโซลเมืองหลวง และ มีชายแดนทางทิศเหนือ ติดเกาหลีเหนือ

เครื่องบินรบ FA-50 ฝูงนี้ สังกัดกองบินโจมตี 8 ที่ฐานทัพอากาศวอนจู (Wonju) ไม่ไกลจากพย็องชัง ที่อยู่ในจังหวัดเดียวกัน กองทัพอากาศเผยแพร่วิดีโอคลิปชิ้นนี้ เพื่อแสดงความพร้อมในการป้องกันประเทศ ในช่วงที่เป็นเจ้าภาพจัดแข่งขันกีฬา ที่จะมีนักกีฬา รวมทั้งบุคคลากรฝ่ายต่างๆ จากทั่วโลก นับหมื่นๆ คนไปร่วม สำนักข่าวหยนฮับ (Yonhap) ของทางการรายงาน
.

.
ในวิดีโอยังแสดงให้เห็น เครื่องบินลาดตระเวณแจ้งเตือนล่วงหน้าและควบคุมทางอากาศ E-737 ของกองทัพอากาศ ขณะบินปฏิบัติการ รวมทั้งแสดงให้เห็น การจัดเตรียมระบบอาวุธปล่อยนำวิถี ป้องกันทางอากาศแบบชุนกูง (Chungoong) ที่ผลิตเองในประเทศอีกด้วย

และ ถึงแม้ว่าจะไม่มีการพูดถึงในวิดีโอชิ้นนี้ แต่ก็เป็นที่ทราบกันทั่วไปว่า เมื่อปีที่แล้วรัฐบาลสาธารณรัฐเกาหลี ได้ตัดสินใจจัดหา และ ติดตั้งระบบอาวุธปล่อยนำวิถี "ทาอัด" (Terminal High Altitude Area Defence) ในประเทศอย่างน้อย 2 หน่วย ซึ่งแต่ละหน่วยสามารถ "ปล่อย" อาวุธต่อต้านขีปนาวุธของฝ่ายอริได้กว่า 70 ลูก

โดยความหมายตามตัวอักษรนั้น ระบบ THAAD เป็นอาวุธสำหรับป้องกันตนเอง ที่ยิงอาวุธปล่อย ออกโจมตีขีปนาวุธโจมตี (Ballistic Missile) ทั้งพิสัยกลางและไกล ของอีกฝ่ายหนึ่ง ในระยะสุดท้าย (Terminal) ซึ่งหมายถึง ระยะที่พุ่งเข้าใส่เป้าหมาย และ เป็นการยิงโจมตีทำลายขณะอยู่บนความสูง -- ในระยะที่อยู่ห่างออกไปกว่า 100 กิโลเมตร

อย่างที่ทราบกันดี -- T-50 "อินทรีทอง" ผลิตโดยความร่วมมือกัน ระหว่างกลุ่มอุตสาหกรรมอากาศยานและอวกาศแห่งเกาหลี หรือ Korea Aerospace Industries กับบริษัทล็อกฮีดมาร์ติน (Lockheed Martin) ซึ่งเป็นหนึ่งในห้ากลุ่มบริษัทเทคโนโลยีกลาโหมชั้นนำในสหรัฐ โดยก่อเกิดขึ้นมา เพื่อเป็นเครื่องบินฝึกขั้นต้นความเร็วเหนือเสียง และ เริ่มบรรจุเข้าประจำการ ในกองทัพอากาศในปี 2548

ตั้งแต่นั้นมา มีการพัฒนาต่อยอด และผลิตออกมาในหลายเวอร์ชั่น รวมทั้งเป็น FA-50 เครื่องบินโจมตีเบาที่นั่งคู่ ซึ่งเริ่มได้รับความนิยมในตลาดโลก มากขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากใช้งานได้อเนกประสงค์ และ ยังเป็น บฝ.เพียงรุ่นเดียว ที่ความเร็วระดับซูเปอร์โซนิกในปัจจุบัน จึงไร้คู่แข่ง
.
<br><FONT color=#00003>ปัจจุบันมี FA-50 ประจำการอยู่เพียง 20 ลำ และ ทั้งหมดถูกนำออกใช้ ในภารกิจสำคัญเป็นครั้งแรก เป็นภารกิจเดียวกัน กับที่ฝูงบิน F-16K เคยปฏิบัติ ระหว่างกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อนในกรุงโซล เมื่อปี 2531. </b>
ตามตัวเลขในเว็บไซต์กองทัพอากาศสาธารณรัฐเกาหลี ปัจจุบันมี FA-50 ประจำการเพียง 20 ลำเท่านั้น แต่มี บฝ. T-50 รวมกันกว่า 60 ลำ โดยทยอยบรรจุใช้แทน F-5 ที่ถูกดัดแปลง ไปใช้เป็นเครื่องบินฝึก ในช่วงกว่า 20 ปีที่ผ่านมา

สำหรับ FA-50 แม้ว่าจะมีขนาดเล็ก และ ได้ชื่อเป็นเครื่องบินโจมตีเบา แต่ก็เป็นเครื่องบินไอพ่นที่ก้าวหน้า (Advanced Jet) มากที่สุดรุ่นหนึ่ง สามารถบรรทุกสรรพาวุธต่างๆ รวมน้ำหนักกว่า 3,700 กิโลกรัม ทั้งอาวุธปล่อยนำวิถีอากาศสู่อากาศ อากาศสู่พื้น กับระเบิดหลายขนาด หลายชนิด

อาวุธหลักประกอบด้วยปืนใหญ่อากาศ 20 มม. 3 ลำกล้อง โดยบริษัทเจเนอรัลไดนามิกส์ (General Dynamics) อาวุธปล่อยนำวิถีอากาศสู่อากาศแบบ AIM-9 "ไซด์ไวเดอร์" (Side Winder) รวมทั้ง AIM-120 "อาม-ราม" (AMRAAM) หรือ Advanced Medium-Range Air-to-Air Missile ที่ก้าวหน้ากว่า

นอกจากนั้นยังติดอาวุธปล่อยฯ อากาศสู่พื้น แบบ AGM-65 "เมเวอริค" ( Maverick) รวมทั้งอาวุธปล่อยฯ ชนิดร่อน (Cruise Missile) แบบ KEPD 350 ที่ทันสมัยและก้าวหน้ามากที่สุด อีกรุ่นหนึ่ง เช่นเดียวกันกับขีดความสามารถ ในการโจมตีด้วยระเบิดหลายชนิด หลายขนาด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สามารถใช้ "สมาร์ทบอมบ์" หรือ ระเบิดชนิดนำวิถี ที่ทิ้งจากระยะไกล และ มีความแม่นยำสูง ได้อีกด้วย

ผลิตโดยกลุ่มอุตสาหกรรมอากาศยานและอวกาศของรัฐบาล T-50 ยาว 13.14 เมตร สูง 4.94 เมตร ระยะปีกสองข้าง 9.45 เมตร น้ำหนักลำตัวเปล่า 6.47 ตัน ติดเครื่องยนต์ของเจเนอรัลอิเล็กทริก (General Electric) ที่ผลิตภายใต้สิทธิบัตรในเกาหลี โดยบริษัทซัมซุงเทควิน (Samsung Techwin)

เครื่องยนต์ไอพ่นเทอร์โบแฟน ที่มีระบบสันดาปท้ายเครื่อง (After Burner) ช่วยเพิ่มแรงบิด เพิ่มอัตราเร่ง เช่นเดียวกับที่ใช้ ในเครื่องบินขับไล่/โจมตีขนาดใหญ่ทั่วไป ทำให้ T-50 สามารถทำความเร็วในระดับซูเปอร์โซนิคได้ คือ มีความเร็วสูงสุดถึง 1,640 กิโลเมตรต่อชั่วโมง (ราวมัค 1.5) บนความสูงจากพื้นโลก 9 กม.เศษ อัน เป็นความสามารถที่หาได้ยาก ในบรรดาเครื่องบินเจ็ตสำหรับฝึก

ตามรายงานในเว็บไซต์ข่าวกลาโหม สำหรับ FA-50/T-50 รุ่นใหม่ KAI สามารถให้ลูกค้า เลือกชนิดของเครื่องยนต์ เพื่อติดตั้งตามวัตถุประสงค์ ได้หลายขนาดและยี่ห้อ
.
<br><FONT color=#00003>สองลำนี้ทำหน้าที่คุ้มกัน เครื่องบินพาหนะอดีตประธานาธิบดีเบนีกโน อะคีโน (Benigno Aquino) หลายปีก่อน ฟิลิปปินส์เป็นเพียงประเทศที่ 2 ที่มี FA-50 ส่วนไทย-อินโดนีเซียเป็น บฝ. T-50 ทั้งหมด แต่สามารถใช้เป็น บ.โจมตีได้ ทัพฟ้าไทยมีทั้งจรวด AIM-9  และ AIM-120 แต่ต้องติดตั้งระบบเรดาร์ควบคุมการยิง. </b>
กองทัพอากาศอินโดนีเซียเป็นลูกค้ารายแรก ของ T-50 ในย่านนี้ โดยจัดหารวม 16 ลำ เป็น T-50I ทั้งหมด และ ได้รับมอบครบทั้งหมดแล้ว ส่วนฟิลิปปินส์จัดหา 12 ลำ เป็น FA-50PH ทั้งหมด

สำนักข่าวทางการเกาหลี รายงานในเดือน ก.ย.2558 ระบุว่า KAI ได้เซ็นสัญญากับฝ่ายไทย เพื่อ จำหน่าย T-50 ให้ไทยจำนวน 4 ลำ รวมมูลค่าราว 110 ล้านดอลลาร์ (3,700 ล้านบาท) กำหนดส่งมอบภายใน 30 เดือน -- นั่นคือครบกำหนดเดือน มี.ค.ปีนี้

กองทัพอากาศไทย จะบรรจุ "T-50TH" แทนเครื่องบินฝึกแบบ Aero L-39 “Albatros” จากประเทศเชโกสโลวะเกียเมื่อก่อน ที่มีอยู่กว่า 30 ลำ ใช้มานาน 23 ปี บัดนี้ครบอายุการใช้งาน มีสภาพทรุดโทรมตามอายุขัย ไม่ปลอดภัย ไม่ประหยัด เนื่องจากมีค่าใช้จ่ายต่อเที่ยวบินสูงขึ้น -- นอกจากนั้น ที่ผ่านมายังเคยเกิดขัดข้องและตกไปจำนวนหนึ่งด้วย

เดือน ก.ค.ปีที่แล้ว คณะรัฐมนตรีอนุมัติงบประมาณ สำหรับการจัดหาอีก 8 ลำ ในลอตที่ 2 มูลค่า 8,800 ล้านบาท กับอีก 4 ลำล่าสุด เป็นลอตที่สาม เพื่อส่งมอบในปี 2563 รวม 3,700 ล้าน รวมเป็นการจัดหาทั้งหมด 3 ลอต จำนวน 16 ลำ

ในเดือน ต.ค.2560 สำนักข่าวกลาโหมเจนส์ 360 องศา รายงานว่า ฝ่ายเกาหลีได้เจรจากับฝ่ายไทย เสนอขาย T-50TH ให้อีก 4 ลำ โดยผนวกเข้าในลอตที่ 3 ซึ่งจะทำให้กองทัพอากาศไทย มี บฝ. "T-50TH" รวมเป็นทั้งหมด 20 ลำ หรือ "สองฝูง+4" ครบตามสูตร

หนังสือพิมพ์โคเรียเฮราลด์ (Korea Herald) รายงานก่อนหน้านี้ว่า KAI กำลังพยายามขาย T-50 ให้ลูกค้าที่มีศักยภาพ หลายประเทศ ซึ่งรวมทั้ง สหรัฐ บอสวานา อาร์เจนตินา และ ประเทศโครเอเทีย ด้วย.


กำลังโหลดความคิดเห็น