MGRออนไลน์ -- เจ้าหน้าที่ตำรวจ กระทรวงความมั่นคงเวียดนาม ได้จับกุม นายดีง ลา ทัง (Đinh La Thăng) อดีตเลขาธิการพรรคสาขานครโฮจิมินห์ ซึ่งในปัจจุบันยังเป็นเจ้าหน้าที่ระดับสูงผู้หนึ่งของพรรคคอมมิวนิสต์ ฐานละเมิดอำนาจหน้าที่ บกพร่องต่อหน้าที่ และ ยักยอกทรัพย์สินของรัฐ อันเป็นการกระทำความผิดในอดีตเมื่อหลายปีก่อน ครั้งดำรงตำแหน่งเป็นประธานคณะกรรมการบริหาร กลุ่มปิโตรเวียดนาม (PetroVietnam) รัฐวิสาหกิจยักษ์ใหญ่แก๊สและน้ำมันแห่งชาติ -- เป็นการจับกุมที่เกี่ยวพันกับคดีอื้อฉาว ซึ่ง PVN เข้าซื้อหุ้นในธนาคารพาณิชย์แห่งหนึ่ง ที่ล้มละลายในภายหลัง และ กลายเป็นหนี้สูญ ทำให้ชาติเสียหาย เป็นเงินราว 35 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 1,100 ล้านบาทเศษ
นับเป็นกรณีตัวอย่างหนึ่ง ที่แสดงให้เห็นว่า พรรคคอมมิวนิสน์เวียดนาม เอาใจใส่ต่อเสียงเรียกร้องจากทั่วทั้งสังคม ที่ให้ทางการปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ ในหมู่เจ้าหน้าที่ระดับสูงของพรรคและรัฐ ไม่ว่าจะเป็นใคร อยู่ในตำแหน่งไหน และ เป็นความผิดตั้งแต่เมื่อไร
ในวันศุกร์ 8 ธ.ค. คณะเลขาธิการกลางพรรค หน่วยงานที่กำกับดูแลงานประจำวันของพรรคคอมมิวนิสต์ ที่นำโดยนายเหวียนฟู้จ่อม (Nguyễn Phú Trọng ) เลขาธิการใหญ่พรรค ได้มีคำสั่งให้นายทังหยุดปฏิบัติงานหน้าที่ชั่วคราว ในตำแหน่งรองประธานคณะกรรมการเศรษฐกิจกลาง และ ในวันเดียวกัน คณะกรรมการประจำ รัฐสภาเวียดนาม ที่นำโดยนางเหวียน ถิ กิม เงิน (Nguyễn Thị Kim Ngân) ประธานรัฐสภา ก็ได้มีมติให้นายทัง พ้นจากการทำหน้าที่ ในฐานะผู้แทนราษฎรเป็นการชั่วคราวอีกด้วย
ยังไม่มีฝ่ายใดเปิดเผยรายละเอียดใดๆ เกี่ยวกับการดำเนินคดีนายทัง ซึ่งได้กลายเป็นผู้นำสูงสุดคนหนึ่งของพรรคคอมมินิสต์ ที่ถูกจับกุมด้วยความผิดร้ายแรง ถึงแม้ว่าการกระทำความผิด ไม่ได้เกิดขึ้น ขณะอยู่ในตำแหน่งสมาชิกคณะกรรมการกรมการเมือง องค์กรที่มีอำนาจสูงสุดของพรรคก็ตาม
การล้มละลายของธนาคารโอเชี่ยน (Ocean Bank) ที่ผ่านมา ได้นำไปสู่การจับกุม อดีตผู้บริหารระดับสูง นักธุรกิจในวงการ กับ อดีตผู้บริหารปิโตรเวียดนาม ที่มีส่วนเกี่ยวข้องอีกหลายคน รวมมีผู้ตกเป็นจำเลยกว่า 50 คน -- กลายเป็นกรณีอื้อฉาวที่เกี่ยวกับธนาคารพาณิชย์ครั้งใหญ่ที่สุด ในประวัติศาสตร์ของประเทศคอมมิวนิสต์ -- เป็นคดีที่ใช้ทนายจำเลยกว่า 50 คน มีการสอบพยานกว่า 700 ปาก และ ใช้เวลาพิจารณาความต่อเนื่องกันเป็นเวลา 20 วัน
นายเหวียน ซวน เซิน (Nguyễn Xuân Sơn) อดีตผู้อำนวยใหญ่แบงก์ วัย 55 ปี ซึ่งในเวลาต่อมา ได้รับเลือกขึ้นเป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหารของรัฐวิสาหกิจปิโตรเวียดนาม ถูกจับกุมฐานกระทำการทุจริต ละเมิดอำนาจในตำแหน่งหน้าที่ และ บริหารธุรกิจผิดพลาด -- เช่นเดียวกันกับ นายห่า วัน ทั้ม ( Hà Văn Thắm) อดีตประธานบริหารและผู้ก่อตั้ง ซึ่งถูกจับกุมฐานความผิดเดียวกัน -- ยังมีการจับกุมผู้บริหารระดับต่างๆ อีกหลายคน ลงไปจนถึงระดับเสมียนของแบงก์ ที่เกี่ยวข้อง
.
คดีถึงที่สุดเมื่อวันที่ 29 ก.ย.2560 ศาลประชาชนในกรุงฮานอยได้อ่านคำพิพากษา ให้ลงโทษประหารชีวิตนายเซิน และ ให้จำคุกตลอดชีวิตนายทั้ม -- นอกจากนั้นยังพิพากษา ให้จำคุกตลอดชีวิต นายนีง วัน กวี๋ง (Ninh Văn Quỳnh) รองประธานบริหารปิโตรเวียดนามวัย 59 ปี -- มีเจ้าหน้าที่ระดับต่างๆ ของแบงก์และปิโตรเวียดนาม ตลอดจนนักธุรกิจ ที่เป็นบุคคลภายนอก อีกเป็นจำนวนมาก ถูกตัดสินจำคุก 10-22 ปี อีกหลายคนต้องโทษจำคุก ตั้งแต่ 12-18 เดือน แต่ศาลให้รอลงอาญา
นายกวี๋ง ซึ่งเป็นผู้นำเบอร์ 2 ของปิโตรเวียดนาม ในขณะนั้น เป็นผู้รับผิดชอบโดยตรง ในโครงการอนุมัติเงิน 34 ล้านดอลลาร์เศษ (1,100 ล้านบาทเศษ) เข้าซื้อหุ้นลงทุนในธนาคารโอเชี่ยนเมื่อปี 2552 -- ปัจจุบันเงินจำนวนดังกล่าว ถูกจำหน่ายเป็นหนี้สูญ -- และ โครงการลงทุนดังกล่าว ผ่านการลงนามอนุมัติโดยนายทัง ในฐานะประธานคณะกรรมการบริหาร
เพราะฉะนั้นการดำเนินคดีนายทัง จึงเป็นสิ่งที่มีหลายฝ่ายคาดการณ์กันมาล่วงหน้า -- แต่กระทรวงความมั่นคง ไม่ได้ให้รายละเอียดเกี่ยวกับการจับกุมเมื่อวานนี้ เพียงแต่ออกยืนยันข่าว ที่เล่าลือกันตลอดทั้งวัน และ บอกต่อสื่อต่างๆ ว่า -- รองหัวหน้าคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจ คณะกรรมการกลางพรรค และ อดีตเลขาธิการพรรคสาขานครโฮจิมินห์ อยู่ระหว่างถูกควบคุมตัว และ ถูกคุมขัง ตามคำสั่งศาล
ดีง ลา ทัง เป็นชื่อที่ครั้งหนึ่ง เป็นสัญลักษณ์แห่งความหวัง เป็นผู้นำรุ่นใหม่ของพรรคคอมมิวนิสต์ เป็นอดีตรัฐมตรีว่าการกระทรวงขนส่ง ในรัฐบาลชุดที่แล้ว โดยมีผลงานมากมาย ในการปราบปรามทุจริตคอร์รัปชั่น โครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ของกระทรวงสำคัญนี้ และ ยังเป็นรัฐมนตรีเพียงคนเดียว ในสมัยรัฐบาลของนายกรัฐมนตรี เหวียน เติ๋น ยวุ๋ง ( Nguyễn Tấn Dũng) ที่ได้รับคะแนนนิยมจากสาธารณชน ในระดับสูงมากติดต่อกันเป็นเวลาหลายปี -- ในยุคที่ผู้คนทั่วไป ต่างเอือมระอากับการฉ้อราษฎร์บังหลวง ในหมู่เจ้าหน้าที่ของรัฐ
นายทังมีเส้นทางการเมือง ที่มีความรุ่งโรจน์มากที่สุดคนหนึ่ง -- ในการประชุมใหญ่ผู้แทนทั่วประเทศครั้งที่ 11 ของพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนาม ต้นปีที่แล้ว ได้รับเลือกขึ้นเป็นสมาชิกคณะกรรมการกรมการเมืองของพรรค ด้วยคะแนนโหวตท่วมท้น จากที่ประชุมคณะกรรมการกลางพรรคชุดปัจจุบัน และ อยู่ในอันดับต้นๆ ซึ่งพรรคสงวนไว้สำหรับ ผู้นำสาขากรุงฮานอยเมืองหลวง กับ นครใหญ่ที่สุดทางภาคใต้ของประเทศเท่านั้น
.
ต่อมาอีกไม่นาน นายทังก็ได้รับแต่งตั้งไปเป็นผู้นำสูงสุด ของนครโฮจิมินห์ ด้วยความหวังจากทั่วทั้งสังคมว่า จะช่วยแก้ไขปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่นในนครใหญ่ ที่กำลังมีการก่อสร้างระบบขนส่งมวลชนขนาดใหญ่ "เมกะโปรเจ็กท์" หลายโครงการ รวมทั้งการก่อสร้างระบบทางหลวงอันทันสมัย และ การพัฒนาระบบสาธารณูปโภคต่างๆ ที่มีมูลค่ารวมกันนับหมื่นล้านดอลลาร์
อย่างไรก็ตาม เมื่อต้นปีนี้คณะกรรมการตรวจตรา ซึ่งเป็นหน่วยงานตรวจสอบที่มีอำนาจล้นพ้น ในสังกัดคณะกรรมการกลางพรรค ได้ตรวจพบความเสียหาย ที่เกิดขึ้นต่อรัฐวิสาหกิจปิโตรเวียดนาม เมื่อครั้งอดีต และ รายงานเรื่องนี้ต่อคณะกรรมการกรมการเมือง
วันที่ 7 พ.ค.2560 ในระหว่างการประชุมเต็มคณะ (Plenum) ของคณะกรรมการกลางพรรค นายทังได้กล่าวแสดงความเสียใจ ต่อความเสียหายที่ก่อให้เกิดขึ้นในอดีต และ ที่ประชุมได้โหวตลงมติด้วยคะแนน 90% ให้นายทังพ้นจากคณะกรรมการกรมการเมือง อันเป็นการลงโทษทางวินัย ที่เสนอโดยเลขาธิการใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์ ที่ได้ระบุคุณความดีของนายทัง ตลอดจนคะแนนโหวตอันท่วมท้น ที่นำเขาขึ้นสู่องค์กรอำนาจสูงสุดของพรรค เมื่อต้นปีที่แล้ว
ในคราวเดียวกัน คณะกรรมการกรมการเมือง ได้มีมติแต่งตั้งให้นายทัง ไปดำรงตำแหน่งรองประธานคณะกรรมการเศรษฐกิจกลาง และ อยู่ที่นั่นมาจนถึงวันศุกร์นี้
สำหรับโอเชียนแบงก์ เป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มโอเชียน (Ocean Group) ซึ่งเป็นกลุ่มธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในเวียดนาม เป็นเจ้าของ โรงแรม เซอร์วิสอพาร์ตเม้นต์ รวมทั้งบริการอื่นๆ กับที่ดินขนาดใหญ่หลายผืน กลุ่มนี้ก่อตั้งในปี 2550 และ เติบโตอย่างรวดเร็วมาก เมื่อปี 2556 ขณะอยู่ใต้การนำของนายทั้ม กลุ่มโอเชียนมีทรัพย์สินอยู่กว่า 500 ล้านดอลลาร์ แต่เมื่อสิ้นปีที่แล้ว เหลืออยู่เพียงประมาณ 3.5 ล้านดอลลาร์.