รอยเตอร์ - ชาวพม่าที่นับถือศาสนาคริสต์ นิกายโรมันคาทอลิกนับพันนับหมื่นคน ต่างเดินทางมุ่งหน้ามารวมตัวกันที่นครย่างกุ้งในวันนี้ (27) พร้อมกับความตื่นเต้นที่จะได้เฝ้ารับเสด็จสมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส พระประมุขแห่งคริสต์จักร ที่เริ่มต้นการเสด็จเยือนพม่า พร้อมกับความเสี่ยงทางการทูต เกี่ยวกับการปฎิบัติของพม่าต่อชนกลุ่มน้อยมุสลิมโรฮิงญา
“เรามาที่นี่เพื่อรอรับเสด็จสมเด็จพระสันตะปาปา นี่เป็นเหตุการณ์ครั้งแรกในรอบหลายร้อยปี” วิน มิน เซ็ต แกนนำชุมชนที่นำกลุ่มชาวคาทอลิกราว 1,800 คน เดินทางมาจากรัฐทางภาคใต้ และตะวันตกของประเทศ กล่าว
“พระองค์ทรงเป็นผู้รอบรู้ พระองค์จะสามารถรับมือต่อปัญหาได้อย่างดี” วิน มิน เซ็ต กล่าวถึงความละเอียดอ่อนของการหารือเกี่ยวกับประเด็นโรฮิงญา
การเดินทางครั้งนี้มีความละเอียดอ่อน เนื่องด้วยที่ปรึกษาของสมเด็จพระสันตะปาปา บางคนได้ถวายคำแนะนำต่อพระองค์ถึงการใช้คำว่า “โรฮิงญา” ด้วยเกรงว่า อาจก่อให้เกิดเหตุทางการทูต ที่อาจทำให้ทหาร และรัฐบาลรู้สึกต่อต้านผู้นับถือศาสนาคริสต์ที่เป็นชนกลุ่มน้อยในประเทศ
ชาวโรฮิงญามากกว่า 600,000 คน หลบหนีจากรัฐยะไข่ไปบังกลาเทศ ตั้งแต่ปลายเดือน ส.ค. เมื่อกลุ่มติดอาวุธโรฮิงญาโจมตีด่านตำรวจ และทหารพม่า เริ่มดำเนินการปราบปรามตอบโต้การโจมตีดังกล่าว
เร็กซ์ ทิลเลอร์สัน รัฐมนตรีต่างประเทศของสหรัฐฯ ได้เรียกปฏิบัติการทางทหารของพม่าว่า เป็นการกวาดล้างชาติพันธุ์ และข่มขู่ว่า จะกำหนดมาตรการลงโทษเพิ่มเติมจากการกระทำทารุณดังกล่าว
ด้านองค์การนิรโทษกรรมสากล กล่าวว่า โรฮิงญา และชาวมุสลิมโดยทั่วไปในรัฐยะไข่ ถูกยกเว้นทางการเมือง และสังคมอย่างเป็นระบบ เป็นเวลาหลายสิบปี และกล่าวหาว่า ทหารก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติ ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา รวมทั้งการสังหาร การข่มขืนทรมาน และการบังคับย้ายถิ่น
รัฐบาลพม่าปฏิเสธข้อกล่าวหาส่วนใหญ่ และกองทัพ กล่าวว่า การสอบสวนของกองทัพไม่พบหลักฐานการกระทำความผิดของทหาร
พม่าไม่ยอมรับชาวโรฮิงญาเป็นพลเมือง หรือสมาชิกของกลุ่มชาติพันธุ์อย่างเป็นทางการของประเทศ และยังปฏิเสธที่จะใช้คำว่าโรฮิงญา เรียกคนกลุ่มนี้ และชาวพม่าจำนวนมากเรียกสมาชิกชนกลุ่มน้อยมุสลิมในรัฐยะไข่ ว่า เบงกาลี ซึ่งหมายถึงผู้อพยพผิดกฎหมายจากบังกลาเทศ
ประเด็นดังกล่าวกลายเป็นสถานการณ์ที่ยากลำบากสำหรับสมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส ขณะเสด็จเยือนพม่า ที่ประชากรในประเทศราว 700,000 คน จากทั้งหมด 51 ล้านคน เป็นชาวโรมันคาทอลิก
ช่วงเวลาที่ตึงเครียดที่สุดของการเสด็จเยือนน่าจะเป็นการพบหารือส่วนตัวกับ พล.อ.อาวุโส มิน ออง หล่าย ผู้บัญชาการกองทัพพม่า และนางอองซานซูจี ผู้นำรัฐบาลพลเรือน
หลังจากนี้ สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส จะเสด็จไปเยือนบังกลาเทศ และคาดว่าพระองค์จะทรงพบกับผู้ลี้ภัยโรฮิงญา
ตำรวจปราบจลาจลจำนวนมากถูกระดมกำลังเข้ารักษาความปลอดภัยในนครย่างกุ้ง ก่อนที่สมเด็จพระสันตะปาปา จะเสด็จถึงในบ่ายวันนี้ แต่ยังไม่มีสัญญาณของการชุมนุมประท้วงใดๆ เกิดขึ้นตามเส้นทางที่สมเด็จพระสันตะปาปา จะเสด็จจากสนามบิน ไปยังสถานที่พำนักของอาร์ชบิชอปย่านกลางนครย่างกุ้ง
ประชาชนมากกว่า 150,000 คน ได้ลงทะเบียนเพื่อเข้าร่วมพิธีมิสซา ในวันพุธ (29) ตามการเปิดเผยของโฆษกโบสถ์คาทอลิกพม่า.