รอยเตอร์ - เจ้าหน้าที่บังกลาเทศ ได้ทำลายเรือราว 20 ลำ ที่ใช้ขนชาวโรฮิงญาที่หลบหนีความรุนแรงในพม่า พร้อมทั้งกล่าวหาผู้ที่จัดการพาคนข้ามฟากว่า ใช้การอพยพของผู้ลี้ภัยเป็นจำนวนมากลักลอบขนยาบ้าเข้ามาในประเทศ
ผู้ลี้ภัยเปิดเผยต่อรอยเตอร์ว่า เจ้าหน้าที่รักษาชายแดนทำร้ายร่างกาย และจับกุมตัวผู้โดยสารและลูกเรือ เมื่อถึงฝั่งที่เมืองชาห์ปอรีร์วิป ที่อยู่ทางตอนใต้ของบังกลาเทศเมื่อคืนวันอังคาร (3) ก่อนคนท้องถิ่นจะเข้าทำลายเรือ
ผู้บัญชาการหน่วยรักษาชายแดนบังกลาเทศในพื้นที่ปฏิเสธว่า มีการทำร้ายร่างกาย และกล่าวว่าการกระทำดังกล่าวเป็นการปราบปรามการค้ามนุษย์ และการลักลอบขนยาบ้า
“เรือพวกนั้นพยายามที่จะพาคนข้ามฟากทั้งที่ไม่ควรทำ” เจ้าหน้าที่ กล่าว
เจ้าหน้าที่คนเดิมยังระบุว่า ผู้จัดการการเดินทางว่าแสวงหาประโยชน์จากชาวโรฮิงญาด้วยการคิดค่าบริการไปบังกลาเทศ ซึ่งผู้โดยสารบางคนได้เปิดเผยต่อรอยเตอร์ว่า พวกเขาต้องจ่ายเงิน 10,000 ตากาต่อคน (123 ดอลลาร์) เพื่อเดินทาง แม้จะมีคนอื่นๆ บอกว่าพวกเขาเดินทางโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย
ชาวโรฮิงญามากกว่า 500,000 คน เดินทางจากพม่ามาที่บังกลาเทศตั้งแต่ทหารเริ่มปราบปรามตอบโต้เหตุโจมตีของกลุ่มก่อการร้ายเมื่อวันที่ 25 ส.ค.
ในขณะที่ผู้โดยสารเรือข้ามฟาก 4 คน กล่าวต่อรอยเตอร์ว่า ไม่เห็นยาเสพติดบนเรือ แต่ผู้บัญชาการหน่วยรักษาชายแดนบังกลาเทศกล่าวว่า เจ้าหน้าที่ตรวจพบยาเสพติดจำนวนมากในน้ำ
“บางทีคนเดินเรืออาจทิ้งยาเสพติดลงไปก่อนจะถึงฝั่ง” ผู้บัญชาการหน่วยรักษาชายแดนบังกลาเทศ กล่าว
ผู้สื่อข่าวของรอยเตอร์พบซากเรือที่ถูกทำลายหลายลำ และใกล้กันเป็นกองค้อน และมีดดาบ โดยชาวประมงท้องถิ่นกล่าวว่า เจ้าหน้าที่ให้เงินชาวบ้านให้มาทำลายเรือ
เมื่อเดือนก่อน เจ้าหน้าที่บังกลาเทศระบุว่า จะปราบปรามชาวประมงที่คิดเงินชาวโรฮิงญาสำหรับการพาข้ามฟากไปยังที่ปลอดภัย ซึ่งเจ้าหน้าที่ระบุว่า เป็นการค้ามนุษย์
ในแต่ละวันมีผู้ลี้ภัยหลายพันคนข้ามเขตแดนทั้งทางบก และทางทะเลเพื่อไปให้ถึงบังกลาเทศ มีผู้ลี้ภัยรายหนึ่งที่ไม่ขอเปิดเผยชื่อ ระบุว่า ญาติของเขาเป็นหนึ่งใน 6,000 คน ที่กำลังรออยู่ในฝั่งพม่าเพื่อข้ามฟากมาบังกลาเทศ แต่นับตั้งแต่ข่าวการทำลายเรือ และการจับกุมแพร่สะพัด ทำให้รู้สึกวิตกว่า เจ้าของเรืออาจถูกขัดขวางไม่ให้เดินเรือ
ความไม่พอใจต่อกลุ่มคนไร้สัญชาติกลุ่มนี้เกิดขึ้นมาเป็นเวลานานหลายปีในบังกลาเทศ ที่เจ้าหน้าที่เชื่อมโยงชาวโรฮิงญากับอัตราการเสพยาบ้าที่ขยายตัวขึ้น
ระหว่างปี 2554-2559 ทางการสามารถจับยึดยาเสพติดเพิ่มขึ้นกว่า 2,500% ที่ 29.4 ล้านเม็ด ทั้งตำรวจ และเจ้าหน้าที่รัฐกล่าวว่า ผู้ลี้ภัยโรฮิงญาที่ไม่สามารถตามรอยได้ง่ายนั้นมักเป็นเหยื่อของผู้ลักลอบค้าสิ่งผิดกฎหมาย
เจ้าหน้าที่อ้างถึงการเติบโตของปัญหายาเสพติดว่าเป็นหนึ่งในเหตุผลสำหรับการผลักดันเดินหน้าโครงการย้ายผู้ลี้ภัยออกจากค่ายชายแดนไปยังเกาะด้อยพัฒนาในอ่าวเบงกอล.