xs
xsm
sm
md
lg

อิเหนาต้อนรับเอิกเกริกเรือดำน้ำลำแรก "ชังโบโก" เรือดีมีสกุลสัญชาติเยอรมัน เมดอินเกาหลี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


.
หากสังเกตให้ดีก็จะพบว่า เรือนากาปาซา (KRI Nagapasa 403) เข้าจอดในอู่ ที่ฐานทัพเรือสุราบายา ในวันจันทร์ 28 ส.ค. 2560 เคียงข้างเรือ KRI Chakra 401 เรือดำน้ำหนึ่งในสองลำแรกของกองทัพเรือ ซึ่งเป็นเรือชั้นจักรา (Cakra-class) และ ก็ไม่ใช่ใครที่ไหน หากเป็นเรือ Type-209 รุ่นเก่า - รุ่นพี่ของเรือชังโบโกนั่นเอง เรือรุ่นใหม่จากเกาหลี จึงใช้รหัสต่อเนื่องเป็น 403, 404 และ 405 ได้อย่างไม่ขัดเขิน. -- Video Courtesy of YouTube/CNN Indonesia.


MGRออนไลน์ -- เรือดำน้ำของกองทัพเรือเรืออินโดนีเซีย ที่ต่อจากเกาหลี เข้าจอดเทียบท่าที่ฐานทัพเมืองสุราบายา (Surabaya) ทางตะวันออกของเกาะชวา วันจันทร์ 28 ส.ค.ที่ผ่านมา หลังเดินทางด้วยตัวเองเป็นเวลา 15 วัน จากอู่ต่อเรือของกลุ่มแดวู ทางตอนใต้ของคาบสมุทรเกาหลี เป็นลำแรกจากทั้งหมด 3 ลำ ที่ต่อภายใต้โครงการถ่ายทอดเทคโนโลยีระหว่างสองฝ่าย โดยลำสุดท้ายกำลังต่ออยู่ในอินโดนีเซีย

"เรือแล่นในทะเลเป็นเวลา 15 วัน จากเกาหลีใต้ ตรงมายังสุราบายา" พล.ร.อ.อะเด สุปันดิ (Ade Supundi) ผู้บัญชาการทหารเรือ ให้สัมภาษณ์ ระหว่างพิธีต้อนรับเรือนากาปาซา 403 (KRI Nagapasa 403) ซึ่งตัวย่อนำหน้านั้น ไปจากชื่อ Kapal Republik Indonesia หรือ "เรือแห่งสาธารณรัฐอินโดนีเซีย" นั่นเอง

พิธีจัดขึ้นที่ท่าเทียบเรือดำน้ำ ฐานทัพเรือกออาร์มาติม (Koarmatim) โดยผู้บัญชาการทหารเรือเป็นประธาน วิดีโอคลิปที่เผยแพร่โดยสื่อในอินโดนีเซีย แสดงให้เห็นแถวทหารกองเกียรติยศ กับกองดุริยางค์บรรเลงเพลงชาติ และ มาร์ชกองทัพเรือ ต้อนรับ ขณะเรือหมายเลข 403 แล่นเข้าสู่อ่าวสุราบายาในวันเดียวกัน วิดีโออีกหลายชิ้นแสดงให้เห็นเรือ ขณะแล่นลอยลำบนผิวน้ำ เมื่อเข้าสู่เขตทะเลชวา น่านน้ำอินโดนีเซีย

สองลำแรกต่อโดยอู่ Daewoo Ship Build Marine Engineering หรือ DMSE ลำที่ 2 คือ เรืออาร์ดาเดดาลิ 404 (KRI Ardadedali) มีกำหนดส่งมอบและบรรจุในปลายปี 2561 ส่วนลำที่ 3 ซึ่งได้แก่เรือ อาลูกอรอ 405 (KRI Alugoro 405) ที่ต่อในอินโดนีเซีย มีกำหนดแล้วเสร็จ และบรรจุในปลายปี 2561 เช่นเดียวกัน

ผบ.ทร.อินโดนีเซียกล่าวว่า ตามแผนยุทธศาสตร์การพัฒนา ความสามารถในการป้องกันใต้น้ำนั้น กองทัพเรือจะจัดหาเรือดำนน้ำทั้งหมด 12 ลำ ซึ่งจะใช้เวลาดำเนินการตลอดหลายปีข้างหน้า อย่างเป็นขั้นเป็นตอนตามลำดับ
.

.
อินโดนีเซียกับกลุ่มแดวู เซ็นความร่วมมือเกี่ยวกับเรื่องนี้เมื่อปี 2554 และ เริ่มดำเนินการในปี 2556 ซึ่ง พล.ร.อ. อะเด กล่าวว่า การต่อเรือดำนน้ำ 1 ลำ ใช้เวลาถึง 4 ปี นับเป็นระยะเวลาที่ยาวนานมาก สำหรับการพัฒนาขีดความสามารถของกองทัพเรืออินโดนีเซีย ที่มีหมู่เกาะ กับ เขตน่านน้ำภายใต้การดูแลกว้างใหญ่ไพศาลมาก เพื่อเป็นการกระชับเวลา อู่ต่อเรือ PT PAL ซึ่งเป็นรัฐวิสาหากิจในสังกัดกระทรวงกลาโหม ในสุราบายา จึงเริ่มต่อเรือลำที่ 3 ด้วยความร่วมมือกับ DMSE

เรือทั้งสามลำ เป็นการพัฒนาต่อยอดเรือชังโบโก (Chang Bogo) ซึ่งเป็นเรือดำน้ำโจมตีเร็ว ขนาด 1,200 ตัน ของกองทัพเรือเกาหลี ของอินโดนีเซียมีขนาดใหญ่กว่าคือ 1,440 ตัน ติดระบบนำร่อง ระบบเรดาร์ค้นหารุ่นใหม่ ระบบอิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ ทั้งที่พัฒนาโดยเกาหลีเอง และ จากแหล่งอื่นๆ ติดอาวุธปล่อยนำวิถียิงเรือแบบฮาร์พูน (UGM-84 Harpoon) ที่ผลิตในสหรัฐ กับตอร์ปิโดขนาดใหญ่ "ฉลามดำ" (Black Shark Torpedo) ที่ผลิตในอิตาลี แบบเดียวกับที่ใช้ในกองทัพเรือสิงคโปร์ กับ ราชนาวีมาเลเซีย ที่ต่างก็มีกองเรือดำน้ำของตนเองเช่นกัน
.

1

2

3

4

5
นอกจากนั้นเรือยังใช้แบตเตอรีลิเธียมรุ่นใหม่ ผลิตในเกาหลี ที่ให้กระแสไฟฟ้ายาวนานกว่าเดิมถึง 5 เท่าตัว จึงได้ชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า "เรือชังโบโกรุ่นปรับปรุง" หรือ Improved Chang Bogo

เรือชังโบโก ก็คือ เรือ Type-209 ที่กลุ่มแดวูนำไปผลิตภายใต้สิทธิบัตร จากเยอรมนี สำหรับประจำการในกองทัพเรือเกาหลีใต้ มีการต่อออกมาทั้งหมด 9 ลำ จากจำนวนเกือบ 30 ลำตามแผนการเดิม แต่เนื่องจากสภาวะเศรษฐกิจถดทอยในช่วงทศวรรษที่ 1990 ทำให้กองทัพเรือเกาหลี ล้มเลิกแผนการจัดหา และ บรรจุได้เพียง 9 ลำเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม ความตกลงระหว่างแดวูกับกลุ่ม Howaldtswerke-Deutsche Werft/ThyssenKrupp เยอรมนี ที่เป็นเจ้าของแบบกับเทคโนโลยีของเรือ Type-209 ให้ DSME สามารถส่งออกเรือที่ต่อในเกาหลีได้ โดยไม่ต้องได้รับอนุญาต จากคู่สัญญาเยอรมัน และ ได้กองทัพเรืออินโดนีเซีย เป็นลูกค้าต่างประเทศรายแรก

ในปี 2554 อินโดนีเซีย ได้จัดการประกวดราคา ในแผนการจัดหาเรือดำน้ำรุ่นใหม่ เป็นมูลค่ากว่า 1,000 ล้านดอลลาร์ ผลิตภัณฑ์ที่เสนอตัว มีทั้งเรือคิโลจากรัสเซีย เรือสกอร์ปีน (Scorpene) จากฝรั่งเศส เรือ Type-209 ต้นฉบับจากเยอรมนี กับเรือ Type-209 จากตุรกี ที่ผลิตภายใต้สิทธิบัตรเช่นเดียวกัน กับเรือชังโบโก ของแดวู นอกจากนั้นตุรกียังเสนอให้เช่าเรือ Type-209 จำนวน 2 ลำ ในราคามิตรภาพ ให้อินโดนีเซียมีใช้ ในช่วงที่การต่อเรือทั้ง 3 ลำ ยังไม่แล้วเสร็จ

แต่ในที่สุดกองทัพเรือฯ ได้ตกลง เลือกเรือชังโบโกของกลุ่มแดวู และ ตกลงเซ็นสัญญามูลค่า 1,070 ล้านดอลลาร์ ที่รวมทั้งการถ่ายทอดเทคโนโลยีด้วย ในแผนการดั้งเดิมนั้น DSME จะเริ่มต่อเรือ ตั้งแต่ต้นปี 2555 ส่งมอบและบรรจุในครึ่งแรกของปี 2558 กับอีกลำในปี 2559 แต่ต้องล่าช้าออกไป เนื่องจากมีการแก้ไขแบบ กับรายละเอียดปลีกย่อยต่างๆ อีกจำนวนหนึ่ง
.

<br><FONT color=#00003>สุราบายา เป็นที่ตั้งฐานทัพเรือใหญ่แห่งหนึ่งในชวาตะวันออก แต่บ้านถาวรของเรือดำน้ำใหม่ทั้ง 3 ลำ อยู่ที่ฐานทัพเรือแห่งใหม่ในอ่าวปาลู (Palu) ทางตอนกลางของเกาะสุลาเวสี (Sulawesi) ที่ยังสร้างไม่เสร็จ.  </b>
6
ตามแผนการนั้น เรือดำน้ำทั้ง 3 ลำ จะจอดประจำที่ฐานทัพเรือแห่งใหม่ ในปาลู (Palu) จ.สุลาเวสี (Sulawesi) ที่กำลังก่อสร้างอยู่ในขณะนี้

อินโดนีเซียเคยแสดงความสนใจ ที่จะซื้อเรือดำน้ำคิโล (Kilo-class) แบบเดียวกับของกองทัพเรือเวียดนาม เป็นจำนวนถึง 8 ลำ เป็นเรือที่ใช้แล้ว แต่ยังคงประจำกองทัพเรือรัสเซีย ในปี 2547 คณะผู้เชี่ยวชาญกับนายทหารระดับสูง กองทัพเรืออินโดนีเซีย เคยเดินทางไปศึกษาเกี่ยวกับเรื่องนี้ในรัสเซียหลายคณะ แต่ยังไม่มีการตัดสินใจใดๆ จนกระทั่งบัดนี้

ถึงกระนั้นอินโดนีเซียก็ยังเป็นลูกค้าสำคัญของอาวุธยุทโธปกรณ์ที่ผลิตจากรัสเซีย รวมทั้งเครื่องบินรบ ยานเกราะสำหรับกองทัพบก ขณะเดียวกันก็หันไปหาระบบอาวุธรุ่นใหม่ๆ บางรายการจากจีน รวมทั้งอาวุธปล่อยนำวิถียิงเรือ C-705 ด้วย -- รัฐมนตรีเกษตรของอินโดนีเซีย ซึ่งเจรจาเกี่ยวกับการบาเตอร์เทรดสินค้าการเกษตร กับอาวุธรัสเซีย ให้สัมภาษณ์เมื่อ 2 สัปดาห์ที่แล้วยืนยันว่า อินโดนีเซียตกลงซื้อ Su-35 ซึ่งเป็นเครื่องบินรบยุคที่ 4++ ของรัสเซียจำนวน 11 ลำ

กองทัพเรืออินโดนีเซียเคยได้ชื่อว่าทันสมัย ใหญ่โตที่สุดและน่าเกรงขามที่สุด ในยุคใหม่มีเรือดำน้ำใช้ก่อนเพื่อนบ้านชาติใดในย่านนี้ ในช่วงครามเย็นอินโดนีเซียมีเรือดำน้ำที่ผลิตในสหภาพโซเวียตรุ่นหนึ่ง ก่อนนำมาสู่การจัดหา เรือดำน้ำชั้นจักรา (Cakra-classs) ขนาด 1,300 ตัน ทั้งสองลำ ต่อจากนั้น ซึ่งได้แก่ เรือจักรา (KRI Cakra 401) กับ เรือนังกาลา (KRI Nanggala 402) ซึ่งทั้งสองลำได้ผ่านการอัปเกรทโดยกลุ่มแดวูเกาหลี ระหว่างปี 2547-2549 ปัจจุบันก็ยังใช้การได้ และ ก็ไม่ใช่อื่นไกล หากเป็นเรือ Typed-209 รุ่นเก่า หรือ รุ่นพี่ของเรือชังโบโกนั่นเอง

หลายปีมานี้ อินโดนีเซียทุ่มเทงบประมาณอย่างมหาศาล พัฒาขีดความสามารถการป้องกันตนเอง ทั้งทางบก ทางเรือและอากาศ หลังจากไม่ได้ดำเนินการด้านนี้มานาน จนกระทั่งพบว่าตนเองล้าหลังเพื่อนบ้าน ห่างกันแบบสุดกู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสิงคโปร์กับมาเลเซีย ที่มีผืนทะเลติดกัน.
กำลังโหลดความคิดเห็น