รอยเตอร์ - ตำรวจพม่า ระบุว่า พวกเขาได้จับกุมนักข่าวที่เป็นที่รู้จักมากที่สุดคนหนึ่งของประเทศ หลังปะทะกันกับพระวิระธู พระสงฆ์หัวรุนแรง บนสื่อสังคมออนไลน์เมื่อหลายเดือนก่อน ความเคลื่อนไหวที่สร้างความวิตกกังวลมากยิ่งขึ้นต่อเสรีภาพสื่อในพม่า
ส่วย วิน หัวหน้าบรรณาธิการข่าว ของสำนักข่าวเมียนมาร์นาว (Myanmar Now) ถูกควบคุมตัวที่สนามบินนครย่างกุ้ง ในเย็นวันอาทิตย์ (30) ตามคำขอของตำรวจเมืองมัณฑะเลย์ ตามการเปิดเผยของเจ้าหน้าที่ตำรวจนครย่างกุ้ง
“ตำรวจมัณฑะเลย์แจ้งเราว่า ส่วย วิน กำลังพยายามที่จะหลบหนี และขอให้เข้าควบคุมตัวที่สนามบิน” ตำรวจนครย่างกุ้ง กล่าว
ส่วย วิน นักข่าวสายสืบสวนชื่อดังที่เขียนเรื่องราวเกี่ยวกับลัทธิชาตินิยมชาวพุทธในพม่า ถูกส่งตัวไปยังเมืองมัณฑะเลย์ ในวันนี้ (31)
นักข่าวรายนี้คาดว่าจะถูกนำตัวขึ้นศาลเมืองมัณฑะเลย์ ในวันพุธ (2) จากการโพสต์เฟซบุ๊กที่อ้างถึงการวิพากษ์วิจารณ์พระวิระธู พระสงฆ์ชื่อดังของเมืองมัณฑะเลย์จากการแสดงความเห็นต่อต้านมุสลิมอย่างรุนแรง ทนายความของส่วย วิน กล่าว
การจับกุมนักข่าวครั้งล่าสุดนี้ ทำให้จำนวนนักข่าวที่ถูกคุมขังในพม่ารวมเป็น 5 คน แม้นางอองซานซูจี เข้าครองอำนาจเมื่อปีก่อน ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากรัฐบาลเผด็จการทหาร แต่อย่างไรก็ตาม ทหารยังคงควบคุมตำรวจ และกระทรวงสำคัญ รวมทั้งที่นั่ง 1 ใน 4 ของรัฐสภา ที่ผู้สังเกตการณ์ระบุว่า ศาลยังคงขาดความเป็นอิสระ
ขิ่น หม่อง มี้น ที่ปรึกษาด้านกฎหมาย กล่าวว่า เจ้าหน้าที่ไม่ได้บอกส่วย วิน ว่า เขาถูกห้ามเดินทางออกนอกประเทศ
“เขาวางแผนที่จะเดินทางกลับในวันรุ่งขึ้น หลังจัดการกับงานในกรุงเทพฯ” ขิ่น หม่อง มี้น กล่าว
คดีความเกิดขึ้นตั้งแต่เดือน มี.ค. เมื่อบรรดาผู้ติดตามของพระวิระธู ยื่นฟ้องร้องเรียนส่วย วิน ตามมาตรา 66(d) ของกฎหมายโทรคมนาคม หลังส่วย วิน โพสต์เฟซบุ๊กอ้างคำกล่าวเจ้าอาวาสรูปหนึ่งที่กล่าวหาพระวิระธู ละเมิดกฎของสงฆ์
บนหน้าเพจเฟซบุ๊กของพระวิระธู แสดงความเห็นยกย่องมือสังหารโก นี ผู้เชี่ยวชาญกฎหมายรัฐธรรมนูญชาวมุสลิมที่ถูกลอบสังหารเมื่อวันที่ 29 ม.ค.
มาตรา 66(d) ของกฎหมายโทรคมนาคม ระบุว่า ผู้ใดที่กระทำการขู่กรรโชก ข่มขู่บังคับ กักขังหน่วงเหนี่ยวอย่างผิดๆ หมิ่นประมาท ทำให้เสียชื่อเสียง ก่อกวน ส่งอิทธิพลอย่างไม่เหมาะสม หรือคุกคามบุคคล โดยอาศัยเครือข่ายโทรคมนาคม จะถูกลงโทษจำคุกสูงสุดเป็นเวลา 3 ปี
หลังมีกระแสคัดค้านมาตราดังกล่าว รัฐบาลของนางอองซานซูจี ได้เสนอแก้ไขที่จะจำกัดขอบเขตให้แคบลง และอนุญาตให้ผู้พิพากษาให้การประกันตัวได้ แต่ผู้สนับสนุนเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นระบุว่า มาตรานี้ควรถูกยกเลิกไปทั้งหมด
“ส่วย วิน ควรอยู่ในห้องข่าว ไม่ใช่ห้องขัง” แมทธิว สมิธ ผู้ร่วมก่อตั้งองค์กร Fortify Rights กล่าว และระบุว่า สถานการณ์สำหรับนักข่าวในพม่าแย่ลงอย่างมาก
ก่อนหน้านี้ กอ มิน ส่วย บรรณาธิการนิตยสารวอยซ์ (Voice) ถูกดำเนินคดีตามมาตรา 66(d) จากบทความเสียดสีล้อเลียนทหาร และมีนักข่าวอีก 3 คน อยู่ระหว่างการพิจารณาคดีเช่นกันจากข้อกล่าวหาว่าละเมิดกฎหมายจากการเข้าร่วมงานที่จัดขึ้นโดยกลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์.