MGRออนไลน์ -- ศูนย์อุตุนิยมวิทยาและอุทกศาสตร์กลางเวียดนาม กล่าวว่าปีนี้ฝนฟ้าไม่ปรกติ และ เป็นปรากฎการณ์ที่ไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยๆ เพราะว่า ยังไม่ข้ามเดือนดี ได้เกิดพายุรุนแรง ทั้งไต้ฝุ่น และ พายุโซนร้อนถึง 4 ลูก ในขณะลูกที่้ 5 ก่อตัววันพฤหัสบดีที่ผ่านมา และ วนอยู่บริเวณจุดก่อเกิด 24 ชั่วโมงเต็ม ก่อนกลับทิศทาง บ่ายหน้าขึ้นเหนือมุ่งไปยังเกาะไต้หวัน ในเวลาเช้าตรู่วันเสาร์ 29 ก.ค.นี้ กับ ลูกที่ 6 ซึ่งเป็นไต้ฝุ่น กำลังมุ่งหน้าขึ้นฝั่งทางภาคตะวันออกเฉียงใต้ของจีน
แม้ว่าทั้งหมดนี้ จะพัดเข้าฝั่งเวียดนามเพียง 2 ลูก และ เป็นเพียงพายุโซนร้อน (ไม่ถึงระดับไต้ฝุ่น ซึ่งเป็นพายุรุนแรงที่สุด) แต่ก็ได้สร้างความเสียหาย ให้แก่เวียดนามอย่างสุดคณานัป พายุทาลาส (Talas) เมื่อวันที่ 17 ก.ค. ทำให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 13 คน อีกจำนวนหนึ่งยังสููญหาย
พายุเซินกา (Sonca) เมื่อวันที่ 25 ก.ค. หรือ เมื่อ 4 วันที่แล้ว ทำให้สวนยางพาราใน จ.กว๋างบี่ง และ กว๋างจิ นับหมื่นๆ ไร่เสียหาย ต้นยางล้มระเนระนาด ด้วยแรงลม นอกจากนั้่นยังทำให้แขวงภาคกลางกับภาคใต้ของลาว ที่อยู่ถัดกันไป ในหลายตัวเมือง รวมทั้งเขตเทศบาลแขวง ยังคงจมน้ำ มาจนถึงขณะนี้
ภาพที่เผยแพร่ผ่านโลกออนไลน์ของชาวลาวเมื่อวันศุกร์ แสดงให้เห็นน้ำยังคงท่วมสูงในหลายท้องถิ่นของเมืองปากเซ เมืองซะนะสมบูน กับเมืองสุขุมา แขวงจำปาสัก ในแขวงอัตตะปือที่อยู่ใต้ลงไป เกิดน้ำท่วมในเขตเทศบาลแขวง ระดับน้ำในลำน้ำเซเซด ขึ้นสูงเกือบถึงจุดแจ้งเตือน เคราะห์ที่ที่มีอ่างเก็บน้ำของเขื่อนผลิตไฟฟ้าหลายแห่ง ช่วยเก็บกักน้ำเอาไว้จำนวนมาก
ไกลออกไปถึงแขวงไซยะบูลี ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของนครเวียงจันทน์ สื่อของทางการรายงานในวันศุกร์ว่า ในเมืองแก่นท้าว มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 2 คน เงินอีก 60,000 บาท ถูกน้ำพัดหายไป ในเหตุการณ์น้ำท่วม อันเกิดจากอิทธิพลของพายุเซินกา ซึ่งแม้จะอ่อนกำลังลงเป็นหย่อมความกดอากาศต่ำ และ ถึงแม้ว่าจะมลายไปเมื่อ 72 ชั่วโมงก่อนหน้านั้นก็ตาม แต่หากคงสร้างความเสียแก่ชีวิตและทรัพย์สินในลาวอย่างต่อเนื่อง ไม่ต่างกับในเวียดนาม
ผู้เชี่ยวชาญของศูนย์อุตุนิยมวิทยาฯ ในกรุงฮานอยกล่าวถึงเรื่องนี้ ขณะที่ในขณะที่พายุโซนร้อนเนสาต (Nesat) ได้ปั่นตัวเองขึ้น จนกระทั่งความเร็วลมใกล้ศูนยน์กลาง เร็วถึงระดับไต้ฝุ่น และ บ่ายหน้าเคลื่อนผ่าใจกลางเกาะไต้หวัน เพื่อไปขึ้นฝั่งทางภาคตะวันออกเฉียงใต้ของจีน ในขณะนี้
ดีเปรสชั้นอีกลูกหนึ่ง ที่ก่อตัวขึ้นทางตะวันออกเฉียงใต้ของหมู่เกาะพาราเซล ห่างจากชายฝั่งเวียดนามเพียง 300 กม.เศษ กำลังมุ่งหน้าสู่ตอนใต้เกาะไต้หวัน และ พร้อมจะพัฒนาขึ้นเป็นพายุโซนร้อนลูกใหม่ได้ทุกเมื่อ ซึ่งถ้าหากเป็นเช่นนั้น ก็อาจจะทะลุไปถึงชายฝังของจีนแผ่นดินใหญ่ ในวันเดียวกัน และ ในอาณาบริเวณเดียวกันกับที่ไต้ฝุ่นเนสาต กำลังมุ่งหน้าไปขึ้นบก
.
2
3
4
"ไม่ถึงเดือนดี เกิดมีไต้ฝุ่น พายุโซนร้อน ดีเปรสชั่นถึง 4 ลูก (ขณะนี้มี 5 ลูกรวมทั้งไต้ฝุ่นเนสาต- บก.) เกิดดีเปรสชั่นอีกมากมาย และ ภายใน 1 สัปดาห์ก็มีพายุถึง 2 ลูก พัดเข้า จ.เหงะอาน-กว๋างจิ ภาคกลางตอนบนเวียดนาม ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ได้เห็นบ่อยๆ" นายเลแทงหาย (Le Thanh Hai) ผู้อำนวยการศูนย์อุตุนิยมวิทยาและอุทกศาสตร์ กล่าวในวันศุกร์นี้
นายหายยกสถิติชี้ให้เห็นว่า โดยปรกติพายุโซนร้อนหรือไต้ฝุ่น ที่พัดเข้าภาคกลางตอนบน จะทิ้งระยะห่างกันประมาณ 10 ปี เช่น เดือน ก.ค.2516 พายุลูกหนึ่ง พัดผ่ากลางเมืองวีง (Vinh-จ.เงหะอาน) มี.ค.2528 ลูกหนึ่งขึ้นฝั่ง จ.กว๋างบี่ง ส.ค.2536 ลูกหนึ่งพัดเข้า จ.เหงะอาน และ จังหวัดนี้โดนอีกครั้งเดือน ก.ค.2554 แต่ปีนี้มาเร็วขึ้น ก.ค.เดือนนี้ โดนพร้อมกันทั้ง 3 จังหวัด จำนวน 2 ลูกติดๆ กัน และทิ้งห่างกัน เพียงข้ามสัปดาห์เท่านั้น
"แพทเทิร์นแบบนี้แสดงให้เห็นการเริ่มเกิดถี่ขึ้น ซึ่งดูเหมือนจะเป็นอิทธิพลจากการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศของโลก ซึ่งทำให้เกิดพายุขึ้นซ้ำๆ ในบริเวณใดบริเวณหนึ่งบ่อยครั้งขึ้น" นายหายกล่าว
นอกจากนั้นดีเปรสชั่น ลูกที่กำลังเป็นปัญหาอยู่ในขณะนี้ ก็มีแพทเทิร์นที่ประหลาด กล่าวคือ "ในวันแรก (27 ก.ค.) ทำท่าจะมุ่งหน้าเข้าฝั่งเวียดนาม แต่หันรีหันขวางอยู่ในบริเวณเดิม และ ในที่สุดก็หันหลังกลับทะเล.." นายหายกล่าว (แต่หลังเที่ยงคืนวันศุกร์/เช้าตรู่วันเสาร์ คือ เมื่อไม่กี่ชั่วโมงมานี้ดีเปรสชั่นหมายเลข ATND05 ได้เปลี่ยนทิศทางอีกครั้ง และ มุ่งหน้าขึ้นเหนืออย่างชัดเจน - โปรดชมแผนภูมิประกอบ)
ผอ.ศูนย์อุตุนิยมวิทยาฯ เวียดนาม กล่าวว่าปรากฏการณ์เช่นนี้ เกิดจากปัจจัยหลายอย่าง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คือ (พายุโซนร้อน) เนสาต ที่เกิดในอาณาบริเวณใกล้เคียงกัน และ ทรงพลังมากยิ่งกว่า ได้ส่งอิทธิพลต่อดีเปรสชั่น ทำให้เหวี่ยงทิศทางการเคลื่อนตัว โดยหันหลังกลับไป แต่ก็เคยเกิดขึ้นเช่นกัน ที่มีพายุ 2 ลูกพร้อมๆ กัน ขนาดความแรงเท่าๆ กัน เกิดในบริเวณใกล้เคียงกัน แต่ต่างฝ่ายต่างไปคนละทาง แบบหันหลังให้กัน
นายหายยังตั้งข้อสังเกตุอีกว่า ฤดูฝนปีนี้อาจเป็นจุดเริ่มต้น ของการเปลี่ยนแปลงกฎเกณฑ์เดิมๆ กล่าวคือ ในช่วงเดือน ม.ค.-เม.ย. พายุจากทะเลจีนใต้ จะพัดเข้าชายฝั่งภาคเหนือของเวียดนาม (ซึ่งปีนี้ไม่เกิดขึ้น) เดือน พ.ค.- ก.ค. พัดเข้าภาคกลาง ค่อยๆ ขยับลงไปยังภาคกลางตอนล่าง และ ภาคใต้ในที่สุด ซึ่งจะต้องเฝ้าติดตามกันต่อไป.