xs
xsm
sm
md
lg

สหรัฐฯ กดดันพม่ายุติสัมพันธ์ทางทหารกับเกาหลีเหนืออย่างสิ้นเชิง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

<br><FONT color=#000033>พล.อ.อาวุโส มิน ออง หล่าย พบหารือกับโจเซฟ ยุน ผู้แทนพิเศษสหรัฐฯ กิจการเกาหลีเหนือ ที่กรุงเนปีดอ วันที่ 17 ก.ค. -- ภาพ : Facebook/Senior General Min Aung Hlaing.</font></b>

รอยเตอร์ - ทหารพม่า ยังคงรักษาความสัมพันธ์กับเกาหลีเหนือ แม้ว่ารัฐบาลพลเรือนของประเทศจะปฏิเสธความร่วมมือใดๆ ก็ตาม และฝ่ายบริหารของสหรัฐฯ กำลังกดดันให้พม่ายุติความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงใดๆ ที่ยังเหลืออยู่ทั้งหมด ตามการเปิดเผยของเจ้าหน้าที่สหรัฐฯ

วอชิงตัน ได้ยกเรื่องดังกล่าวขึ้นหารือกับนางอองซานซูจี และ พล.อ.อาวุโสมิน ออง หล่าย ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ระหว่างเยือนพม่าในสัปดาห์นี้ โดยโจเซฟ ยุน ทูตพิเศษสหรัฐฯ ด้านนโยบายเกาหลีเหนือ

การเยือนพม่าของ โจเซฟ ยุน ตอกย้ำให้เห็นถึงความวิตกของสหรัฐฯ เกี่ยวกับความเชื่อมโยงกับเกาหลีเหนือ ที่ย้อนหลังไปเมื่อครั้งสมัยรัฐบาลเผด็จการทหาร ตามการระบุของเจ้าหน้าที่อาวุโสกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ

“มันเป็นโอกาสที่จะส่งสารว่า ความเกี่ยวข้องสัมพันธ์ใดๆ กับเกาหลีเหนือ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความสัมพันธ์ทางด้านทหาร เป็นสิ่งที่ไม่สร้างสรรค์ ในความพยายามที่จะยุติภัยคุกคามที่เกาหลีก่อขึ้นต่อภูมิภาคและต่อโลก” เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ ที่ไม่ต้องการเปิดเผยชื่อ กล่าว

เจ้าหน้าทีี่รายนี้ปฏิเสธที่จะระบุถึงลักษณะของความร่วมมือทางทหารมียังคงเกิดขึ้นระหว่างเกาหลีเหนือและพม่า ขณะเดียวกัน ยังไม่มีการตอบสนองต่อคำร้องขอความเห็นจากสถานทูตพม่าในวอชิงตัน

เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ กล่าวว่า มาตรการคว่ำบาตรของสหรัฐฯ ในปีนี้ที่มีต่อฝ่ายจัดซื้อของกองทัพพม่า สะท้อนถึงความวิตกกังวลเกี่ยวกับข้อตกลงทางทหารของพม่ากับเปียงยาง

แต่พม่ายืนยันว่า ข้อตกลงด้านอาวุธ และความสัมพันธ์ทางทหารอื่นๆ กับเกาหลีเหนือ ยุติลงก่อนที่พม่าจะเปลี่ยนมาเป็นรัฐบาลพลเรือนในปี 2554

อดีตเจ้าหน้าที่สหรัฐฯ 2 นาย กล่าวว่า ในอดีตเชื่อว่าทหารพม่านำเข้าอาวุธที่ผลิตในเกาหลีเหนือ และบุคลากรชาวเกาหลีเหนือเข้ามาทำงานในพม่า ความสัมพันธ์ใดๆ ที่เหลืออยู่ อาจเป็นธุรกิจที่ยังไม่เสร็จสิ้นระหว่างสองกองทัพ ซึ่งย้อนหลังไปสมัยรัฐบาลทหารก่อนหน้านี้

เจ้าหน้าที่กระทรวงการต่างประเทศไม่ได้ตัดความเป็นไปได้ที่จะมีการออกมาตรการเพิ่มเติมกับพม่าที่เกี่ยวข้องต่อเกาหลีเหนือ และกล่าวว่า “หากสถานการณ์เลวร้าย และรุนแรงขึ้นต่อผลประโยชน์ด้านความมั่นคงของชาติ เรามีเครื่องมือหลากหลาย รวมทั้งมาตรการคว่ำบาตร”

แต่เวลานี้ วอชิงตันกำลังพึ่งพาด้านการทูตเป็นส่วนใหญ่กับพม่า ด้วยสหรัฐฯ ต้องการที่จะให้พม่าออกห่างจากวงโคจรของจีน แต่ขณะเดียวกัน ก็เป็นการยากที่จะพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ และพม่า ให้อยู่ในสภาวะปกติอย่างสมบูรณ์ จนกว่าสหรัฐฯ จะเชื่อว่าความสัมพันธ์ของพม่ากับเกาหลีเหนือได้ยุติลง

การเยือนของยุน เกิดขึ้นหลังเกาหลีเหนือทดสอบขีปนาวุธพิสัยไกลข้ามทวีปเมื่อวันที่ 4 ก.ค. ที่เปียงยางอ้างว่า สามารถติดหัวรบนิวเคลียร์ขนาดใหญ่ และที่ผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่าอาจเดินทางได้ไกลถึงรัฐอะแลสกาของสหรัฐฯ

เมื่อยุน เดินทางถึงนครย่างกุ้งเพื่อหารือ กอ เซยา ปลัดกระทรวงการต่างประเทศพม่า ยืนยันว่าพม่าไม่มีความสัมพันธ์ทางทหารกับเปียงยาง และปฏิบัติตามมติของสหประชาชาติเกี่ยวกับเกาหลีเหนือ

“มันเป็นความสัมพันธ์ตามปกติระหว่างสองระเทศ ตามที่ผมเข้าใจ ไม่มีความสัมพันธ์ระหว่างทหารกับทหาร ไม่มีแน่นอน” กอ เซยา กล่าวต่อนักข่าว.
กำลังโหลดความคิดเห็น