รอยเตอร์ - พม่าไม่มีความสัมพันธ์ทางทหารกับเกาหลีเหนือ เจ้าหน้าที่พม่ากล่าววันนี้ (17) ขณะที่นักการทูตสหรัฐฯ ที่รับผิดชอบด้านเกาหลีเหนือเดินทางเยือนนครย่างกุ้ง เพื่อหารือ ในความพยายามที่จะย้ำประเด็นการโดดเดี่ยวเกาหลีเหนือ
โจเซฟ ยุน ผู้แทนพิเศษของสหรัฐฯ มีกำหนดพบหารือกับนางอองซานซูจี ที่ปรึกษาแห่งรัฐ และผู้บัญชาการทหารสูงสุด ในกรุงเนปีดอ วันนี้ ตามการเปิดเผยของสถานทูตสหรัฐฯ ในนครย่างกุ้ง
ยุน ได้เข้าร่วมการประชุมในสิงคโปร์เมื่อช่วงสุดสัปดาห์ ที่มุ่งเน้นประเด็นความตึงเครียดในคาบสมุทรเกาหลี เกี่ยวกับโครงการอาวุธนิวเคลียร์ และการทดสอบขีปนาวุธอย่างต่อเนื่องของเกาหลีเหนือ
การเดินทางเยือนชาติเอเชียของโจเซฟ ยุน ประกาศขึ้นหลังเกาหลีเหนือทดสอบขีปนาวุธข้ามทวีป เมื่อวันที่ 4 ก.ค. ที่เกาหลีเหนืออ้างว่า ขีปนาวุธดังกล่าวสามารถติดหัวรบนิวเคลียร์ขนาดใหญ่ และผู้เชี่ยวชาญส่วนหนึ่งเชื่อว่ามีขีดความสามารถยิงถึงรัฐอะแลสกา ของสหรัฐฯ
พม่าเป็นเพียงจุดหมายเยือนแห่งเดียวของยุน ที่ชี้ให้เห็นถึงความวิตกในวอชิงตันว่า กองทัพพม่าที่เคยมีความสัมพันธ์กับเกาหลีเหนือจะยังคงให้ความช่วยเหลือสนับสนุนรัฐบาลคิม จอง อึน
กอ เซยา ปลัดกระทรวงการต่างประเทศพม่าระบุว่า สหรัฐฯ ไม่ได้แจ้งพม่าถึงสิ่งที่ยุน จะหารือ
“พวกเขาไม่เจาะจงถึงเรื่องที่จะหารือ แต่เราเข้าใจว่าเขาเป็นทูตพิเศษด้านเกาหลีเหนือ” กอ เซยา กล่าว และย้ำว่า พม่าปฏิบัติตามมติของสหประชาชาติเกี่ยวกับเกาหลีเหนือ
“ความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศเป็นปกติ และตามที่ผมเข้าใจ ไม่มีความสัมพันธ์ระหว่างทหาร ไม่มีแน่นอน” กอ เซยา กล่าว
พล.อ.อาวุโส มิน ออง หล่าย ออกคำแถลงฉบับหนึ่งหลังการพบหารือกับยุน แต่ไม่ได้กล่าวโดยตรงถึงความสัมพันธ์ของพม่ากับเกาหลีเหนือ
“เรามีแต่ชาติที่เป็นมิตร ไม่มีชาติที่เป็นศัตรูสำหรับเรา” พล.อ.อาวุโส มิน ออง หล่าย กล่าว และระบุว่า เขาต้องการที่จะเห็นคาบสมุทรเกาหลีปราศจากนิวเคลียร์ และมีความสัมพันธ์ที่ดีกับกองทัพทั่วโลก
เมื่อเดือน พ.ค. สหรัฐฯ ได้ขอให้ชาติในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้โดดเดี่ยวเกาหลีเหนือมากขึ้น และเพิ่มความพยายามหลังการทดสอบขีปนาวุธเมื่อวันที่ 4 ก.ค.
สมัยอดีตรัฐบาลเผด็จการทหาร เป็นที่ทราบกันว่ามีความสัมพันธ์กับเกาหลีเหนือ ที่รวมทั้งการส่งผู้เชี่ยวชาญด้านขีปนาวุธ และวัสดุอุปกรณ์สำหรับการผลิตอาวุธให้แก่พม่า แต่พม่ายืนยันว่าข้อตกลงเกี่ยวกับอาวุธ และความสัมพันธ์ทางทหารอื่นๆ กับเกาหลีเหนือได้ยุติลงก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครองมาเป็นรัฐบาลพลเรือนในปี 2554.