xs
xsm
sm
md
lg

กลุ่มผู้ได้รับรางวัลโนเบลร้องคณะมนตรีความมั่นคงยุติความรุนแรงในพม่า

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

<br><FONT color=#000033>ผู้ชุมนุมประท้วงชูป้ายต่อต้านการปราบปรามทางทหารของทางการพม่าต่อชาวมุสลิมโรฮิงญาในรัฐยะไข่ ที่ด้านนอกสถานทูตพม่าในกรุงจาการ์ตา อินโดนีเซีย. -- Reuters/Darren Whiteside.</font></b>

รอยเตอร์/เอเอฟพี - เจ้าของรางวัลโนเบล นักการเมือง และนักเคลื่อนไหวรวม 23 คน ที่รวมทั้งอาร์คบิชอปเดสมอนด์ ตูตู และมาลาลา ยูซาฟไซ ได้ร่วมกันเรียกร้องต่อคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติเข้ายุติการล้างเผ่าพันธุ์และการก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติ ในรัฐยะไข่ของพม่า

ประชาชนอย่างน้อย 86 คน เสียชีวิตในการปราบปรามทางทหารในรัฐยะไข่ ที่เริ่มดำเนินการหลังเกิดเหตุโจมตีด่านตำรวจใกล้ชายแดนบังกลาเทศในวันที่ 9 ต.ค.

รัฐบาลพม่ากล่าวโทษกลุ่มชาวมุสลิมโรฮิงญาที่ได้รับการสนับสนุนจากกองกำลังต่างชาติในการก่อเหตุโจมตีที่สังหารเจ้าหน้าที่ตำรวจ 9 นาย

ประชาชนมากกว่า 30,000 คน ได้หลบหนีความรุนแรงข้ามแดนเข้าไปในฝั่งบังกลาเทศ ความรุนแรงที่ต่างชาติวิพากษ์วิจารณ์ว่ารัฐบาลของนางอองซานซูจีดำเนินการช่วยเหลือชาวโรฮิงญาน้อยเกินไป

ในจดหมายเปิดผนึกที่ยื่นถึงคณะมนตรีความมั่นคง เจ้าของรางวัลโนเบล นักการเมือง และนักเคลื่อนไหวรวม 23 คน ที่รวมทั้งโจเซ่ รามอส ฮอร์ตา และมูฮัมหมัด ยูนุส ระบุว่า โศกนาฏกรรมของคนจำนวนมากในการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์และอาชญากรรมต่อมนุษยชาติกำลังปรากฎออกมาให้เห็นในพม่า

"ถ้าเราล้มเหลวที่จะดำเนินการ ผู้คนอาจสิ้นลมเพราะความอดอยากแม้รอดจากลูกกระสุน" จดหมายเปิดผนึก ระบุ

ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในพม่ามีลักษณะเฉกเช่นเดียวกับการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ปี 2537 ในรวันดา การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในดินแดนดาร์ฟูร์ ทางตะวันตกของซูดาน บอสเนีย และโคโซโว จดหมายเปิดผนึกระบุ

ผู้ร่วมลงนามทั้ง 23 คน ในจดหมายระบุว่า แม้ว่ากลุ่มชาวโรฮิงญาเป็นผู้อยู่เบื้องหลังการโจมตีวันที่ 9 ต.ค. แต่การตอบโต้ของกองทัพนั้นไม่สมดุลอย่างเลวร้าย

"สิ่งที่เกิดขึ้นควรจะเป็นการหาตัวผู้ต้องสงสัย สอบปากคำพวกเขาและนำตัวขึ้นพิจารณาคดี แต่กลับเป็นอีกอย่างหนึ่ง ปล่อยเฮลิคอปเตอร์ติดอาวุธโจมตีพลเรือน ข่มขืนผู้หญิง และโยนเด็กทารกเข้ากองไฟ"

รัฐบาลพม่าปฏิเสธข้อกล่าวหาต่างๆ ที่ระบุว่ากองกำลังทหารดำเนินการที่มากเกินกว่าจะรับได้หลังเหตุการณ์โจมตีเดือนต.ค.

โฆษกประธานคณะมนตรีความมั่นคงยืนยันว่าได้รับจดหมายที่ยังระบุถึงความผิดหวังต่อนางอองซานซูจี ที่ไม่รับรองสิทธิความเป็นพลเมืองต่อชาวโรฮิงญา

"เรารู้สึกผิดหวังว่าซูจีไม่ได้ดำเนินการริเริ่มใดๆ ที่จะรับรองสิทธิพลเมืองอย่างสมบูรณ์และเท่าเทียมของชาวโรฮิงญา" จดหมายระบุ

จดหมายเปิดผนึกยังเรียกร้องให้รัฐบาลพม่ายกเลิกข้อจำกัดทั้งหมดเกี่ยวกับความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมในรัฐยะไข่ และร้องขอให้คณะมนตรีความมั่นคงเพิ่มวิกฤตโรฮิงญาเป็นวาระการประชุมในสถานะเรื่องเร่งด่วน และเรียกร้องให้เลขาธิการสหประชาชาติเดินทางเยือนพม่า

ฝ่ายรัฐบาลบังกลาเทศก็ตกอยู่ภายใต้แรงกดดันจากการเรียกร้องให้เปิดชายแดนรับผู้ลี้ภัยที่หลบหนี แต่รัฐบาลบังกลาเทศได้เสริมกำลังพลตามด่านชายแดนและเรือรักษาการณ์ชายฝั่งป้องกันผู้ลี้ภัยที่จะเข้ามาใหม่.
กำลังโหลดความคิดเห็น