MGRออนไลน์ -- รัสเซียสร้างประวัติกาลใหม่อีกครั้งหนึ่ง โดยส่งเครื่องบินรบล้ำยุค Su-35 บินจากฐานทัพแห่งหนึ่งทางตอนเหนือของประเทศ อ้อมคาบสมุทรสแกนดิเนเวีย เกาะอังกฤษ เลียบชายฝั่งยุโรปเหนือ-แอตแลนติกตะวันตก ลงยุโรปตะวันตก จนถึงช่องแคบยิบรัลตาร์ ประเทศสเปน ก่อนจะบินกลับย้อนเส้นทางเดิม รวมระยะทางกว่า 8,000 กิโลเมตร โดยที่ไม่มีฝ่ายใดทราบจุดมุ่งหมาย
แต่รายงานในเว็บไซต์กระทรวงกลาโหมรัสเซียในช่วงสุดสัปดาห์นี้ ระบุว่าโรงงานผลิตกำลังจะส่งมอบ Su-35S ให้แก่กองทัพอากาศอีกฝูงหนึ่ง ซึ่งแต่ละลำจะต้องผ่านการบินทดสอบ เป็นระยะทางไม่น้อยกว่า 8,000 กม. จึงเป็นไปได้ลำที่ตกเป็นข่าวนี้ก็กำลัง "บินทดสอบ" เช่นกัน เพียงแต่ไม่ได้ทดสอบ ตามเส้นทางบินปรกติภายในประเทศ
Su-35 ลำดังกล่าวไม่ได้ติดอาวุธใดๆ มีเพียงเครื่องบินเติมเชื้อเพลิงกลางอากาศลำหนึ่งติดตาม แต่ถูกประเทศภาคีสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ หรือ นาโต้ ตามรายทาง ส่งเครื่องบินรบของตนสะกัด และ "นำร่อง" เครื่องบินรบของรัสเซีย ออกไปให้พ้นจากน่านฟ้าของตน ตั้งแต่นอร์เวย์ สหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส จนถึงโปรตุเกส และสเปน
สื่อกลาโหมหลายสำนักรายงานเรื่องนี้ สุดสัปดาห์ที่ผ่านมา อ้างหนังสือพิมพ์ Diario de Sevilla ในสเปน ที่ระบุว่าเป็นเหตุการณ์ คืนวันที่ 16 จนถึงตอนเช้าวันที่ 17 พ.ย.2559 โดยมี S-35S เป็นเครื่องบินรบเพียงลำเดียว ในเส้นทางดังกล่าว กับเครื่องบินเติมเชื้อเพลิงกลางอากาศอีก 1 ลำ
เครื่องบินรบรัสเซียบินไปจนถึงเหนือช่องแคบยิบรัลตาร์ ซึ่งเป็นเขตน่านฟ้าสากล อันเป็นปากทางเข้าสู่ทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ซึ่งก็คือเส้นทางที่ Tu-160 "หงส์ขาว" กองทัพอากาศรัสเซียลำหนึ่ง เคยบินไปยิงถล่มกลุ่มไอซิสในซีเรีย จากทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ในเดือน พ.ย.ปีที่แล้ว และ Tu-95 "หมี" อีกลำหนึ่ง ใช้เส้นทางเดียวกัน เมื่อต้นเดือนนี้ ปฏิบัติภารกิจโจมตีกลุ่มไอซิส แต่ Su-35 ไม่ได้ไปที่นั่น หากเติมน้ำมันกลางอากาศ แล้วบินกลับตามเส้นทางเดิม
Su-35S ลำดังกล่าว บินผ่าเมืองคาดิซ (Cadiz) แต่ไม่ได้เข้าใกล้ฐานทัพเรือสเปน กับฐานทัพเรือของสหรัฐที่เมืองโรตา (Rota) ที่อยู่ไม่ไกลออกไป ตรงปากช่องแคบยิบรัลตาร์
อย่างไรก็ตาม Su-35 บินโฉบเข้าใกล้ เขตน่านฟ้าของสเปนถึงสองครั้งสองหน ทำให้ต้องส่งเครื่องบินขับไล่ F/A-18 จากกองบิน 15 ฐานทัพอากาศกิฮอน (Gijon) กับ อีกครั้งหนึ่ง จากฐานทัพอากาศคาดิซ บินขึ้นสะกัด และ "นำร่อง" ออกไป รวมสองครั้งสองหนเช่นเดียวกัน หนังสือพิมพ์ของสเปนกล่าว
นับเป็นครั้งที่ 3 ในช่วงข้ามปีมานี้ ที่มีเครื่องบินทิ้งระเบิดขนาดใหญ่ กับเครื่องบินขับไล่ที่ก้าวหน้าที่สุดของรัสเซียอีกรุ่นหนึ่ง บินอ้อมทวีปยุโรป อันเป็นการแสดงขีดความสามารถทางการรบ และ ศักยภาพของกองทัพอากาศรัสเซีย อันเป็นสิ่งที่ไม่เคยทำกันมาก่อน แม้แต่ในยุคสหภาพโซเวียต ที่มีแสนยานุภาพใหญ่โต มากกว่ารัสเซียในปัจจุบันหลายต่อหลายเท่า
.
2
3
รัสเซียเรียก Su-35 เป็นเครื่องบินรบยุคที่ 4++ ที่รวมเอาคุณสมบัติดีเด่น ของเครื่องบินรบยุคที่ 5 เข้าไปด้วยจำนวนหนึ่ง คิดเครื่องยนต์ยุคใหม่ ระบบเอวิโอนิกส์ใหม่ทั้งหมด และ ยังบรรทุกสรรพาวุธได้มากกว่า Su-30 อีกด้วย
รัสเซียยังผลิต Su-35 เวอร์ชั่นส่งออก เพื่อจำหน่ายให้แก่ลูกค้าที่สนใจ ซึ่งรวมทั้งกองทัพอากาศจีน กับกองทัพอากาศอินโดนีเซียในย่านนี้ เช่นเดียวกันกับเวียดนาม ที่กำลังพิจารณาจัดหาเครื่องบินรบอีก 1 ฝูง เพื่อใช้แทน MiG-21 ที่เก่าแก่ล้าสมัย
หลังเหตุการณ์เครื่องบินทิ้งระเบิดลำหนึ่ง ถูกเครื่องบินขับไล่ของตุรกียิงตกในซีเรีย เดือน พ.ย.ปีที่แล้ว รัสเซียได้ส่ง Su-35S ไปประจำที่ฐานทัพอากาศเมห์มีม (Mehmeme) ในซีเรียจำนวน 4 ลำ เพื่อปฏิบัติการร่วมกับ Su-30SM คุ้มกันเครื่องบินทิ้งระเบิด ที่ส่งเข้าไปประจำการหลายลำก่อนหน้านั้น
แต่ต่อมาได้ถอน Su-35 ออกจากซีเรียทั้งหมด พร้อมกับยุทโธปกรณ์อีกจำนวนหนึ่ง รวมทั้งระบบอาวุธปล่อยนำวิถีป้องกันทางอากาศ S-400 ด้วย
ตามรายงานในเว็บไซต์กระทรวงกลาโหมรัสเซีย เมื่อวันที่ 24 พ.ย. วิศวรกรที่โรงงานคอมโซมอลสค์ ออน อามูร์ (Komsomolsk-on-Amur) ในไซบีเรียซึ่งเป็นแหล่งผลิต ได้ติดตั้งระบบอิเล็กทรอนิกส์ให้แก่ Su-35S ฝูงใหม่เสร็จแล้ว และ นักบินเตรียมจะขึ้นบินทดสอบ เป็นระยะทาง 8,000 กม. ก่อนส่งมอบให้แก่กองทัพอากาศ ซึ่งคาดว่าจะเป็นสัปดาห์แรกของเดือน ธ.ค.นี้
ข้อมูลของบริษัทผู้ผลิตระยุว่า Su-35S ทุกลำติดระบบเรดาร์ตรวจไกล หลังเส้นขอบฟ้า "อีร์บิส" (Irbis) ติดตั้งเครื่องยนต์รุ่นใหม่รหัส AL-41F1S ซึ่งเป็นคนละรุ่นกับเครื่องยนต์ของ Su-30SM มีธรัสต์ อินเว็คเตอร์ คอนโทรล เหมือนกัน
เครื่องบินรบรุ่นนี้มีระยะปฏิบัติการ 8,000 กม. ความเร็วสูงสุดมัค 1.5 บินได้ในระดับสูง 15,000 เมตร ติดปืนใหญ่อากาศอากาศ 30 มม. 2 กระบอก ติดระบบอาวุธนำวิถีได้หลากหลายชนิด ทั้งแบบอากาศสู่พื้น อากาศสู่อากาศ ระบบอาวุธยิงเรือผิวน้ำ ปราบเรือดำน้ำ จนถึงระเบิดนำวิถีความแม่นยำสูง ติดตั้งระบบสื่อสารผ่านดาวเทียม ระบบดาต้าลิงค์แชร์ข้อมูลการบินและการปฏิบัติการ
Su-35S ติดตั้งระบบเอวิโอนิกส์ กับระบบควบคุมรุ่นใหม่ ที่ล้วนแต่ล้ำยุคสมัย ทุกลำเติมน้ำมันกลางอากาศได้ ทำให้สามารถออกปฏิบัติการระยะไกล จากฐานทัพต้นสังกัดได้.