xs
xsm
sm
md
lg

พม่าซื้อ "สายฟ้า" JF-17 สายพันธุ์จีน 1 ฝูงครึ่ง ยืนยันอย่างเป็นทางการ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

<br><FONT color=#00003>กองทัพอากาศปากีสถานส่ง JF-17 บินแสดง ในงานแอร์โชว์ที่เมืองจูไห่ปี 2553 ซึ่งเป็นปีแรก ที่บรรจุเข้าประจำการ จนถึงปลายปีที่แล้วจำนวนเพิ่มขึ้นเป็นไม่น้อยกว่า 50 ลำ สั่งซื้อต่อเนื่องอีก 50 ลำ และ พม่ากำลังจะเป็นลูกค้าต่างแดนรายแรก สำหรับเครื่องบินรบอเนกประสงค์สายพันธุ์จีน. -- Peng Chen/Commons.Wikimedia.Org</b>

MGRออนไลน์ -- กองทัพอากาศพม่ากำลังจะมีเครื่องบินรบอเนกประสงค์สายพันธุ์จีน ที่ผลิตในปากีสถาน อย่างน้อย 16 ลำ หรือ หนึ่งฝูงครึ่ง เรื่องนี้ได้รับการยืนยันเป็นทางการสัปดาห์ที่ผ่านมา ในงาน Airshow China 2016 ที่เมืองจูไห่ (Zhuhai) ในมณฑลกวงตุ้ง เป็นการสิ้นสุดของข่าวเล่าลือ ที่มีมานานข้ามปี

ตามรายงานของสื่อทางการจีน คณะนายทหารอากาศจากพม่า ที่ไปร่วมงานแอร์ โชว์ ยืนยันว่า การเซ็นสัญญาซื้อ JF-17 และเป็นส่วนหนึ่งของสัญญากับความตกลง ที่เซ็นกันระหว่าง พม่า ปากีสถานกับจีน ซึ่งกองทัพอากาศพม่ากำลังมองหาเครื่องบินรบอเนกประสงค์ เพื่อบรรจุ เข้าประจำการแทน MiG-29 รุ่นแรก และ อาจจะมีการซื้อเพิ่มเติมอีก เพื่อบรรจุแทน J-7M และ Q-5 ที่ใช้มานานเช่นกัน

สำหรับ JF-17 (Joint Fighter-17) เป็นหนึ่งในผลงาน ที่ออกแบบและพัฒนาโดย กลุ่มบรรษัทอากาศยานเฉิงตู หรือ CAC (Chengdu Aircraft Corporation) และ ร่วมกันผลิตกับ Pakistan Aeronautical Complex หรือ PAC แห่งปากีสถาน จีนเรียกว่า FC-1 "เสี่ยวหลง" (Xiaolong/มังกรคะนอง) แต่ปากีสถานเรียก "สายฟ้า" (Thunder)

แต่ไม่ว่าจะเรียกอะไร JF-17 ก็ใช้งานได้อเนกประสงค์ ตามจุดประสงค์ของการออกแบบและผลิต ทั่วลำตัวมีจุดติดตั้งอาวุธ (Hot Point) จำนวน 7 แห่ง ที่ใต้ปีกสองข้าง 4 แห่ง ใต้ลำตัว 1 แห่ง และ ที่ปลายปีกสองข้างอีก 2 จุด บรรทุกสรรพาวุธได้สูงสุด 3.7 ตัน สำหรับภารกิจโจมตี-ทิ้งระเบิด

ขณะเดียวกันก็ติดปืนใหญ่กลอากาศลำกล้องแฝด 23 มม. หรือ 30 มม. ได้ เป็นปืนกลแบบ "ก๊าช" (GSh-23/30) ที่พัฒนาโดยสหภาพโซเวียต ใช้มาตั้งแต่ยุคสงครามเย็น และ จีนผลิตเป็นเวอร์ชั่นของตนออกมา นอกจากนั้น JF-17 ยังติดอาวุธปล่อยนำวิถีอากาศสู่อากาศ หรือ อากาศสู่พื้นได้ ทำภารกิจเครื่องบินโจมตี-ขับไล่ ได้อย่างสมบูรณ์

ตามข้อมูลอย่างเป็นทางการของ CAC เครื่องบินรบรุ่นนี้ติดเครื่องยนต์ไอพ่นเทอร์โบแฟน แบบกุ้ยโจว WS-13 ซึ่งก็คือ เครื่องยนต์ RD-93 ของบริษัทคลิมอฟ (Klimov) แห่งรัสเซีย ที่จีนผลิตเป็นเวอร์ชั่นของตนเอง มีระบบสันดาปท้ายเครื่อง ทำให้ JF-17 ทะยานไปข้างหน้า ด้วยความเร็วสูงสุดถึงมัก 1.6

ปัจจุบัน JF-17 เป็นกำลังรบหลักทางอากาศอีกรุ่นหนึ่งของปากีสถาน เป็นการเสริมกำลังกับ F-16 ที่ผลิตโดยเจเนอรัลไดนามิกส์ (General Dynamics) แห่งสหรัฐ ซึ่งปากีสถานกล่าวว่า ทั้งสองรุ่นนี้สมรรถนะพอๆ กัน แต่ JF-17 ราคาถูกกว่ากันครึ่งต่อครึ่ง

ยังไม่มีการเปิดเผยว่า JF-17 ของพม่า กำลังจะติดตั้งระบบอาวุธปล่อย (จรวด) นำวิถีรุ่นใดบ้าง แต่ที่ทุกฝ่ายมั่นใจก็คือ ทั้งหมดจะเป็นจรวดที่ผลิต โดยบริษัทของจีน

ตามรายงานใน Sina.Com เว็บไซต์สารพัดข่าวภาษาจีน นายทหารอากาศพม่า ที่ไปร่วมงานแอร์โชว์ ยืนยันเรื่องนี้ตั้งแต่ 1 พ.ย. ที่ผ่านมา ก่อนที่ข่าวจะแพร่สะพัดออกนอกสาธารณรัฐประชาชนจีน ผ่านเว็บไซต์ข่าวกลาโหมหลายแห่ง ซีน่าระบุด้วยว่า ไม่เพียงแต่ฝ่ายพม่าจะจัดหา เครื่องบินรบเท่านั้น หากยังให้ความสนใจอากาศยานไร้คนบังคับ "มังกรบิน" ของจีนอีกด้วย
..
ตามตัวเลขบริษัทผู้ออกแบบและพัฒนา JF-17 บินได้เร็วถึงมัก 1.6 มีจุดติดตั้งอาวุธ 7 จุด บรรทุกสรรพาวุธได้ 3.7 ตัน ปากีสถานผู้ผลิตกล่าวว่า JF-17 สมรรถนะเท่าๆ กับ F-16 สหรัฐ "แล้วจ่ายแพงกว่าทำไม".. ซึ่งไม่เป็นความจริงทั้งหมด F-16 ทำความเร็วสูงสุดถึง มัก 2 (2,120 กม/ชม) จุดติดตั้งอาวุธ 9 จุด บรรทุกหนัก 7.7 ตัว ติดจรวดนำวิถีได้เพียบ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ขึ้นอยู่กับว่าจะนำไปใช้งานแบบไหน ต้องจัดหาอะไร ขนาดไหน .. ส่วนพม่าบอกว่า ต้องการแค่นี้ ไม่ต้องการ J-20 "ล่องหน" เพราะไม่มีความจำเป็นต้องใช้.


2

3
"พวกเขายืนยันว่า เรื่องนี้ได้รับอนุมัติแล้ว เป็นที่แน่นอนแล้ว." ซีนาออนไลน์กล่าวถึง การซื้อขาย JF-17

หลายปีมานี้ กองทัพอากาศพม่าใช้อากาศยาน ที่ผลิตจากจีนหลายชนิด/รุ่น ปัจจุบันก็ยังใช้เครื่องบินฝึก K-8 ที่ผลิตในจีน และ ครั้งนี้คณะจากพม่ายังได้ไปเยี่ยมชมคูหาแสดง เครื่องบินตรวจการณ์เบารุ่นหนึ่ง ที่จีนพัฒนามาจาก DA42 Twinstar ซึ่งเป็นเครื่องบินฝึก ที่ออกแบบ และ ผลิตโดยไดมอนด์แอร์คราฟท์ (Diamon Aircraft) แห่งออสเตรีย ติดตั้งกล้องและอุปกรณ์สอดแนมที่ผลิตในจีน

ปัจจุบันกองทัพอากาศไทย มี Diamond DA42 รุ่นตรวจการณ์ ใช้งานอยู่จำนวน 5 ลำ จัดหาและส่งมอบแล้วเสร็จตั้งแต่ปี 2552

ซีน่าออนไลน์รายงานด้วยว่า คณะจากพม่าได้เยี่ยมชมคูหาของเครื่องบินรบแบบ J-10 และ ได้ชมการขึ้นบินโชว์ อย่างเป็นทางการครั้งแรก ของ J-20 เครื่องบินรบยุคที่ 5 "สเตลธ์" ของจีน แต่ผู้ไปเยือนกล่าวว่า ประเทศยังไม่มีความจำเป็นต้องใช้ เครื่องบินเทคโนโลยี "ล่องหน" แบบนั้น

ข่าวทางการพม่าสนใจเครื่องบิน JF-17 มีออกมาตั้งแต่เดือน ก.ค.ปีที่แล้ว รายงานหลายกระแส ซึ่งส่วนใหญ่เป็นรายงานจากสื่อออนไลน์ในปากีสถาน บอกว่าเซ็นสัญญากันไปแล้ว แต่ในขณะเดียวกันก็มีรายงานว่า มีการยกเลิกไป หลังเซ็นเอ็มโอยูกันไม่กี่เดือน โดยกองทัพอากาศพม่า ได้หันไปศึกษาเครื่องบินรบที่ผลิตในรัสเซียอีกครั้งหนึ่ง

นั่นคือช่วงที่เริ่มมีข่าวออกมาว่า รัสเซียเสนออัปเกรด MiG-29 รุ่นเก่าเหลาเหย่ของพม่า โดยติดตั้งเครื่องยนต์รุ่นใหม่ ควันไม่ดำเหมือนเดิม ประหยัดเชื้อเพลิงมากขึ้น ติดระบบเอวิโอนิกส์รุ่นใหม่ รุ่นเดียวกับที่ติดตั้งใน MiG-29M กองทัพอากาศรัสเซียในปัจจุบัน

ข่าวซื้อ JF-17 เริ่มกลับมา อีกครั้งหนึ่งในช่วงกลางปีนี้ สื่อในปากีสถานยืนยันว่า พม่ากำลังจะเป็นลูกค้าต่างชาติรายแรก ของเครื่องบินรบ Manufactured in Pakistan รุ่นนี้.
กำลังโหลดความคิดเห็น