MGRออนไลน์ -- มาตรการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม สิ่งของที่ผู้คนหิ้วติดตัวข้ามแดนจากประเทศเพื่อนบ้าน เห็นผลในทันตา หลังดำเนินการเพียง 3 วัน ระหว่าง 1-3 พ.ย.ที่ผ่านมา ปรากฎว่า ยวดยานพาหนะที่เคย ข้ามพรมแดนกันคึกคัก ที่ด่านสะพานมิตรภาพ 1 เวียงจันทน์-หนองคาย หายวับไปกับตาเหลืออยู่ราว 20% เท่านั้น
วันที่ 3 พ.ย.ที่ผ่านมา นายสมดี ดวงดี รองนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการเงิน ได้ลงเยี่ยมเยือนการปฏิบัติงานที่ด่านใหญ่ด้วยตนเอง และ ได้ทราบผลการปฏิบัติการดังกล่าว ที่รายงานโดย นายวงวันเพ็ญ พูมสะหวัน หัวหน้าด่านศุลกากรสะพานมิตรภาพ 1 มีหัวหน้ากรมภาษี และ หัวหน้าด่านภาษีท่านาแล้ง ร่วมอยู่ด้วย สื่อของทางการรายงาน
การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งเริ่ม 1 พ.ย.เป็นต้นมา ได้รับความร่วมมือจากผู้โดยสารที่เดินทางเข้าประเทศ เป็นอย่างดี และ อีกด้านหนึ่ง มาตรการดังกล่าวได้ทำให้ พาหนะที่เดินทางเข้า-ออก ที่ด่านแห่งนี้ลดลงราว 80%
ทางการลาวโดยกระทรวงการเงิน ได้เก็บภาษี 10% สำหรับสิ่งของเครื่องใช้ เครื่องอุปโภคบริโภค ที่ประชาชนลาวและชาวต่างชาติ นำติดตัวเข้าลาวไปด้วย โดยยกเว้นให้สิ่งของที่ "โดยไม่มีลักษณะเพื่อการค้า" และ เป็นบุคคลที่ไม่เดินทางเข้าออกเป็นประจำ แต่ยกเว้นให้เป็นมูลค่าเพียง 50 ดอลลาร์เท่านั้น ส่วนเกินจะต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม
ทางการลาวกล่าวก่อนหน้านี้ว่า การใช้มาตรการภาษีดังกล่าว ก็เพื่อสร้างความเป็นธรรม สำหรับผู้ค้าที่นำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ และเสียภาษีให้รัฐอย่างถูกต้อง และ เรื่องนี้เป็นมาตรการทางภาษีตามกฎหมาย เป็นเรื่องภายในประเทศ มิใช่การกีดกันทางการค้า หรือ ห้ามซื้อสินค้าจากประเทศเพื่อนบ้าน
ทางการบังคับใช้มาตรการนี้ ที่ด่านสะพานมิตรภาพ 1 เป็นแห่งแรก เนื่องจากเป็นประตูเข้าออกใหญ่ที่สุด และ จะบังคับใช้มาตรการนี้ ในทุกด้านตามแนวชายแดนติดเพื่อนบ้าน รวมทั้งที่ท่าอากาศนายานนานาชาติวัดไต และ สนามบินแห่งอื่นๆ ด้วย
.
2
ตามตัวเลขอย่างเป็นทางการ ที่เปิดเผยก่อนหน้่านี้ ในวันปรกติทุกวันจันทร์-ศุกร์ จะมีรถยนต์ทะเบียนลาว เดินทางข้ามแดนเข้าไทย เฉลี่ย 300-350 คัน ต่อวัน และ เพิ่มขึ้นเป็น 750 คัน ในวันสุดสัปดาห์ การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม 10% พุ่งเป้าไปยังยวดยานเหล่านี้ โดยถูกมองว่าเป็น "รถหิ้วของ"
ไม่เพียงแต่จะเกิดมีขบวนการ "หิ้วของ" ข้ามแดน โดยใช้รถยนต์เท่านั้น สื่อของทางการรายงานว่า เอกชนจำนวนหนึ่งยังว่าจ้าง ประชาชนทั่วไป ให้เดินทางข้ามแดน และ นำสินค้าที่ต้องการกลับเข้าลาวด้วย มาตรการภาษีทำให้จำนวนรถยนต์ข้ามแดนลดลง และ จำนวนคนที่ข้ามแดนไป เพื่อจุดประสงค์ขนสินค้่าแบบกองทัะพมด ก็ลดลงด้วย
ชาวลาวบ่นกับสื่อทางการก่อนหน้านี้ว่า สินค้าที่ผลิตและจำหน่ายในลาวเองราคาแพงมาก หากเทียบคุณภาพและราคาชิ้นต่อชิ้น กับสินค้าชนิดเดียวกันที่ผลิตในประเทศไทย นอกจากนั้นผู้ค้ายังฉวยโอกาสขึ้นราคาสินค้าอยู่เสมอๆ ทั้งๆ ที่ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในตลาดลดลง และ ไม่มีต้นทุนใดเพิ่มสูงขึ้น
เป็นที่ทราบกันทั่วไปว่า ปลายทางช็อปปิ้งใหญ่ของชาวลาว อยู่ที่ จ.หนองคาย กับ จ.อุดรธานี.