xs
xsm
sm
md
lg

[สมุดโน้ตนักข่าว] - 3. "สุสานไร้ศพ" สุสานประวัติศาสตร์บนเกาะหลีเซิน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

<br><FONT color=#00003>ท่าเรือหลีเซินในยามบ่ายแก่ ไม่พลุกพล่าน แต่เมื่อเรือด่วนจากฝั่งเข้าเทียบท่า ทั่วอาณาบริเวณก็จะเป็นอีกอย่างหนึ่ง ถ้าหันหลังกลับตรงจุดนี้ สุสานไร้ศพแหล่งประวัติศาสตร์สำคัญบนเกาะ ก็จะอยู่ห่างออกไปเพียงไม่เกิน 300 เมตร พร้อมกับเรื่องราวที่สามารถสืบย้อนหลัง ไปได้กว่า 100 ปี เมื่อครั้งที่บรรพบุรุษกลุ่มแรกๆ เดินทางข้ามทะเลไปยังหมู่เกาะหว่างซาและเจื่องซา ที่รู้จักกันในชื่อพาราเซลกับสแปร็ตลีย์ในวันนี้. -- ภาพโดยวุฒิพงษ์ หลักคำ-บุญญะสาร. </b>

MGRออนไลน์ -- เวียดนามเป็นอีกดินแดนหนึ่ง ที่ผู้ไปเยือนสามารถพบเห็นสุสานอยู่ทั่วไป ทั้งสุสานขนาดใหญ่ระดับเมือง อำเภอ คอมมูน และ สุสานเล็กๆ ของครอบครัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เขตชนบทห่างไกล สถานที่ฝังศพเหล่านี้จะอยู่ตั้งแต่ภายในบริเวณบ้านจนถึงเทือกไร่นาสวน ซึ่งสะท้อนให้เห็นรากฐานอันมั่นคงของระบบครอบครัว ที่สมาชิกทุกคนผูกพันแน่นแฟ้น กับบรรพบุรุษและญาติมิตร

บนเกาะหลีเซิน (Ly Son) ที่ห่างไกลจากชายฝั่ง ที่พวกเราไปเยือนเมื่อต้นเดือนนี้ ก็ไม่ต่างกัน มีสุสานให้เห็นอยู่ทั่วไป บางแห่งตกแต่งสวยงาม ทำซุ้มประตูใหญ่โตหรูหรา ประดับด้วยโมเสคสะท้อนแสงวาววับ ราวกับประตูไปสู่สรวงสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ที่ผู้ยังอยู่ได้สร้างขึ้นมา ฝังร่างบรรพบุรุษ บิดามารดา และสมาชิกของครอบครัวที่ล่วงหน้าไปก่อน จนถึงสุสานขนาดเล็ก ธรรมดาๆ กระจายอยู่เป็นหย่อมๆ บนที่สูง น้ำท่วมไม่ถึง

แต่บนเกาะที่มีเนื้อที่ขนาดน้องๆ เกาะภูเก็ตของไทยแห่งนี้ มีสุสานแห่งหนึ่งที่อยู่มาหลายร้อยปี มีหลุมฝังศพอยู่หลายสิบหรืออาจเคยมีจำนวนนับร้อย หลายหลุมยังคงอยู่ในสภาพสมบูรณ์ ยังมีแผ่นหินจารึกปักอยู่พร้อม บางหลุมไม่มีแผ่นป้ายเหลือให้เห็นอีก แต่ยังมีมูลดินกองพะเนินอยู่อย่างมั่นคง ซึ่งผู้คนในท้องถิ่นกล่าวว่า อยู่ในสภาพเช่นนี้มาตลอด จนเป็นที่น่าแปลกใจ.. แต่ที่นั่นไม่มีศพผู้เสียชีวิต

"หลุมนี้อยู่ในสภาพที่เห็นมาเป็นเวลากว่า 100 ปี ดินกับทรายกองพะเนินอยู่ในสภาพเช่นที่เห็นนี้" เจิ่น มีง เตี๋ยน (Tran Minh Tien) เจ้าของและผู้อำนวยการใหญ่โทรทัศน์เล็ตส์เหวียด (Let's Viet) ในนครโฮจิมินห์ บอกกับคณะของเรา.. ชี้ไปยังหลุมศพ 2-3 หลุมที่อยู่บริเวณหน้าศาลเจ้า ซึ่งสร้างขึ้นมาในช่วงหลังๆ เพื่อให้เป็นที่บูชาเซ่นไหว้

ที่นี่คือสุสานวีรชน ซึ่งผู้ที่อยู่ข้างหลังสร้างให้แก่บรรพบุรุษ ที่ออกเดินทางไปยังหมู่เกาะสองแห่งในทะเลจีนใต้ หรือ "ทะเลตะวันออก" (Bien Dong) ที่เวียดนามเรียกขานมาแต่ครั้งโบราณกาล ทุกคนทราบดีว่า เมื่อเดินทางไปยังหมู่เกาะฮว่างซา (Hoang Sa/พาราเซล) และ เจื่องซา (Truong Sa/สแปร็ตลีย์) อาจไม่มีโอกาสได้กลับไปยังหลีเซิน และ แผ่นดินใหญ่เวียดนามอีก

หลายคนอาจจะได้กลับหลังจากเสียชีวิต.. แต่ในสภาพที่กายถูกห่อหุ้มด้วยเสื่อ มัดติดกับลำไม้ไผ่ ด้วยเส้นหวาย ที่เตรียมไปด้วย เพื่อให้ลอยน้ำได้ และ ถูกคลื่นซัดกลับเข้าฝั่ง โดยหวังว่าจะมีผู้บังเอิญไปพบเห็น และ ญาติพี่น้องกับครอบครัว ที่อยู่ข้างหลังได้ทราบข่าวคราว

คณะของเราไม่มีข้อมูลว่า เคยมีผู้พบเห็นศพของผู้กล้า ที่ถูกกระแสคลื่นซัดกลับเข้าฝั่งหรือไม่ แต่ที่แน่ๆ ก็คือ หลุมศพที่อยู่ภายในสุสานไร้ศพแห่งนี้ได้เป็นพยานวัตถุ แทนบุคคลที่ไปแล้วไม่ได้กลับ

เรื่องของเรื่องก็คือ เมื่อสมาชิกครอบครัวออกเดินทางจากที่นี่ ไปยังหมู่เกาะหว่างซา ซึ่งอยู่ห่างออกไปราว 200 กิโลเมตร หรือ กว่า 400 กม.สำหรับเจื่องซาที่อยู่ใต้ลงไป และ หายสาปสูญไปนั้น ผู้ที่อยู่ข้างหลังก็จะจัดทำหลุมฝังศพขึ้น ในบริเวณที่กลายเป็นสุสานแห่งนี้ หลายกรณีทำหลุมฝังไร้ร่างคนผู้ตายขึ้นมาเพื่อแก้เคล็ด คือ ทำให้เป็นเสมือนว่า ญาติผู้กล้าได้สิ้นชีพลงแล้วที่นี่..ในสุสานแห่งนี้ จะได้ไม่ต้องตายอีกครั้ง บนเกาะที่ห่างไกล

หลีเซินอยู่ห่างจากชายฝั่ง จ.กว๋างหงาย (Quang Ngai) ราว 30 กม.ในภาคกลางเวียดนาม มีฐานะเป็นอำเภอหนึ่ง ประวัติศาสตร์ของชนชาติ ระบุว่าบนเกาะแห่งนี้ มีชุมชนอยู่มาเป็นเวลาหลายร้อยปี เป็นจุดเริ่มต้นที่เหมาะเหม็งอย่างยิ่ง ในการออกหาปลา ทกุคนบนเกาะฝากปากท้อง กับทั้งชีวิตไว้กับทะเลหลวง มาจนทุกวันนี้
.

2

3

4
ชาวเวียดนามไปทำอะไรที่หมู่เกาะหว่างซาและเจื่องซา? เป็นคำถามที่พวกเราบางคนหยิบยกขึ้นมาหารือ และ ได้รับคำตอบ

ตามบันทึกในประวัติศาสตร์ ชาวเวียดนามเดินทางข้ามทะเลไปยังหมู่เกาะทั้งสองแห่ง ตั้งแต่ช่วงคริสต์ศตวรรษ 1600-1700 นั่นคือ ปลายศตวรรษที่ 17 และ 18 เหล่าขุนนางตระกูลเหวียนยุคโน้น ส่งคนไปปีละ 70 คน บนเรือไม้ยาว 13 ฟุต ซึ่งเป็นพาหนะชั้นดีที่สุดที่มีในยุคสมัย ถัดจากเรือรบ

เป็นที่ทราบกันดีว่าทั้งพาราเซลและสแปร็ตลีย์ในวันนี้ ส่วนใหญ่ก็ยังเป็นเพียงสันทราย เป็นแนวถมทับกันของทรายจากท้องทะเล หลายแห่งเป็นเกาะปะการัง และ เป็นเช่นนี้มาตลอด เกาะร้างเมื่อหลายร้อยปีก่อน จึงอุดมไปด้วยของแปลกๆ และ กลายเป็นของล้ำค่า ซึ่งรวมทั้งเปลือกหอยที่มีมีสันและลายสวยงาม อาณาจักรสยามของเราเมื่อก่อน ก็เคยนำเอาเปลือกหอยหายากแบบเดียวกันนี้มาใช้ในการแลกเปลี่ยนแทนเงิน ที่เรียกกันทั่วไปว่า "เบี้ย"

สองหมู่เกาะในทะเลหลวง เป็นเส้นทางผ่านของเรือสำเภาค้าขายมาแต่ครั้งโบราณ เรือสินค้าจำนวนไม่น้อยได้เกยตื้น หรือ ชนหินโสโครก จมลงในอาณาบริเวณ เป็นซากให้เห็นมาถึงทุกวันนี้ ที่นั่นจึงเป็นสวรรค์วิมานของนักล่าสมบัติแห่งท้องทะเลมาทุกยุคสมัย

ปะการังยังอุดมไปด้วยเต่าทะเลนานาชนิด กระดองเต่ากระ และ เต่าขนาดใหญ่โตมหึมาหลากหลายชนิด กลายเป็นของล้ำค่า สัตว์น้ำเป็นๆ อีกหลายพันธุ์ หาไม่พบเห็นในท้องทะเลแห่งอื่นๆ ตลอดแนวชายฝั่งความยาว 3,000 กิโลเมตร สิ่งของเหล่านี้ เป็นเครื่องราชบรรณาการอย่างดีสำหรับนำขึ้นถวายพระเจ้าแผ่นดิน

แต่การสำรวจหมู่เกาะทะเลตะวันออกอย่างจริงๆ จังๆ มีขึ้นในปี ค.ศ.1815 (พ.ศ.2358 - กรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น) กษัตริย์พระองค์หนึ่งแห่งราชวงศ์เหวียน (ค.ศ.1802-1945/ราชวงศ์สุดท้าย) ทรงส่งแม่ทัพเรือไปจากนครเหว (Hue/เว้) ออกทำรังวัด จากนั้นในปี ค.ศ.1836 กษัตริย์มีงหมาง (Minh Mang) พระองค์ที่ 17 ทรงโปรดให้จัดทำแผนสองหมู่เกาะขึ้นมา และ ปรากฏเป็นหลักฐานมาจนถึงปัจจุบัน

แผนที่ต่างๆ เหล่านี้ รวมทั้งแผนที่ของจีนในสมัยราชวงศ์ กับแผนที่ร่วมสมัยเดียวกัน ที่จัดทำขึ้นโดยต่างประเทศ ทั้งฝรั่งเศสและอังกฤษ ล้วนแสดงให้เห็นอธิปไตยของเวียดนาม เหนือสองหมู่เกาะในทะเลจีนใต้ มาตั้งแต่สมัยราชวงศ์.. นี่คือข้อเท็จจริง ที่สมาคมผู้สื่อข่าวนครโฮจิมินห์ เจ้าภาพของเราต้องการให้เพื่อนมิตรชาวไทยและในกลุ่มอาเซียนอาเซียนได้รับรู้ ผ่านหลักฐาน

เดือน ก.ค.2555 รัฐบาลในกรุงฮานอยนำแผนที่โบราณของตนหลายฉบับ พร้อมแผนที่จีนสมัยราชวงศ์ชิง ออกแสดง เพื่อยืนยันว่าแม้กระทั่งแผนที่ปี 1904 หรือ ต้นศตวรรษ 20 จีนก็ยังไม่เคยแสดงความเป็นเจ้าของสองหมู่เกาะ และ เรื่องนี้ได้เคยเป็นข่าวไปทั่วโลก โอกาสเดียวกันนี้ คณะของเราได้ไปชมสำเนาของแผนที่ทั้งหลายทั้งปวง ที่จัดแสดงไว้ในพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสต์บนเกาะหลีเซิน

แต่กว่าจะมาถึงวันนี้ บรรพบุรุษของชาวเวียดนามหลายร้อยคน ที่เดินทางจากเกาะหน้าด่านแห่งนี้ ข้ามทะเลไปยังหว่างซาและเจื่องซา เมื่อหลายร้อยปีก่อน ไปแล้วไม่ได้กลับ.
ศาลเจ้าสร้างขึ้นในยุคหลังๆ แต่สุสานไร้ศพอยู่ที่นี่มานานหลายร้อยปี ปัจจุบันมีราษฎรเข้าตั้งบ้านเรือนอยู่รายรอบ ภายในสุสานเองยังไม่ได้รับการฟื้นฟูบูรณะ มีเพียงคนดูแลปัดกวาดทำความสะอาด และ มีถนนสายเล็กๆ ตัดผ่านด้านหน้า คนรุ่นใหม่สร้างศาลเจ้าของขึ้นมา เพื่อเป็นที่เซ่นไหว้รำลึกถึง บรรพบุรุษผู้กล้านับร้อยๆ คน ที่ได้ออกทะเลไปยังสองหมู่เกาะ เทศกาลเซ่นไหว้อย่างเป็นทางการ จัดขึ้นเป็นประจำทุกปีในช่วงต้นปี. -- ภาพโดย วุฒิพงษ์ หลักคำ-บุญญะสาร.

.


5

6

7

8

9

10

11

12

13
กำลังโหลดความคิดเห็น