MGRออนไลน์ -- ก่อนค่ำวันที่ 8 ก.ค. รถตู้ฟอร์ดทรานซิสที่หรูหรานั่งสบาย นำคณะพวกเราไปยังด่านชายแดนส่าเสีย (Xa Xia) อ.ห่าเตียน (Ha Tien) จ.เกียนยาง (Kien Giang) ริมฝั่งทะเลอ่าวไทย เราไปที่นั่นกับ "น้องตุ๊" มัคคุเทศน์ชาวเวียดนาม และ ในทริปสั้นๆ นี้ คงไม่มีใครรู้สึกตื่นเต้นดีใจ ยินดีปรีดามากมายเท่ากับผม
การไปเยี่ยมชมด่านชายแดนเวียดนาม-กัมพูชาแห่งนี้ ถือเป็นความใฝ่ฝันส่วนตัวในรอบ 7 ปีเลยทีเดียว นอกจากนั้นก็ยังเป็นทริปแรก ที่คณะพวกเรามีมัคคุเทศน์นำทาง แถมยังนั่งอยู่ข้างๆ กลิ่นสะอาดๆ จากเรือนกายหญิงสาวที่หอมกรุ่น สร้างความกะปรี้กะเปร่าให้กับคนนั่งใกล้ได้เสมอ คุณสาวๆ ที่บังเอิญอ่านมาจนถึงบรรทัดนี้ โปรดรับทราบนะครับ (ขอบคุณครับ)
เป็นอันว่าทริปวันที่ 8 ก.ค. คณะพวกเราซึ่งมีสมาชิกเป็นหนุ่มโสดครึ่งต่อครึ่ง จึงดูสดชื่น คึกคัก มีชีวิตชีวาขึ้นมาทันที กับไกด์สาวสวยคนแรก และ สำหรับผม.. คนนั่งข้างกัน ยังรีดข้อมูลได้เต็มที่อีกด้วย
"น้องตุ๊" หรือ หมา-เกิม-ตุ๊ ( Mã Cẩm Tú) .. ชื่อนี้จริงๆ ครับ - พาพวกเราทะลุประตูทางตะวันตกเฉียงใต้เวียดนาม ไปยังอีกฝั่งหนึ่ง ซึ่งอยู่ติดกับด่านแปร็กจัก (Prek Chak) อ.กัมปงจัก (Kampong Chak) จ.กัมโป้ต (Kampot) ของกัมพูชา
หลายคนอาจยังไม่เคยทราบว่า ในวันนี้เราสามารถนั่งรถโดยสาร จากต้นทางในแถบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ไปสูดอากาศยังริมทะเลจีนใต้ได้ ในเวลาแค่ข้ามวันโดยเข้าประตูสู่เวียดนามด้านนี้ ระยะทางจากชายแดนไทย น่าจะไกลพอๆ กับกรุงเทพฯ ไปอุบลราชธานี หรือ ยโสธร หรือ เท่าๆ กับช่วงกรุงเทพฯ-ทุ่งวัวแล่น จ.ชุมพร ขับรถสบายๆ ไปตามทางหลวงลาดยางตลอดสาย ใช้เวลา 6-7 ชั่วโมงก็ถึง จึงเหมาะยิ่งสำหรับแรลลี่ หรือ คาราวานท่องเที่ยวทางบก
แต่หากไปรถโดยสารประจำทาง คงจะต้องวางแผนล่วงน้า เพื่อกำหนดเวลาได้ถูก พรรคพวกเพื่อนฝูงที่ตราด กระทั่งสำนักงานการท่องเที่ยวในท้องถิ่น จะแนะนำได้ดีว่า ควรจะไปไหนมาไหน เวลาใด ในกัมพูชา และ ไปอย่างไร ใช้เวลานานเท่าไร เพื่อไปให้ถึงชายแดนเวียดนาม ณ จุดนี้
ถ้าหากนับระยะทางทั้งหมดของเส้นทางนี้ จากกรุงเทพฯ จนถึงเมืองก่ามาว (Ca Mau) ตอนใต้สุดของเวียดนาม ก็จะเป็น 950 กิโลเมตร ไม่ไกลเกินจะไปถึงโดยรถยนต์
แพ็คของลงกระเป๋าใบเล็ก มีสตางค์ติดตัวพอสมควร ให้พอค่ารถ ค่าที่พัก ค่าอาหารกับเครื่องดื่มวันละ 3 มื้อ มียาสามัญประจำบ้านติดตัวเล็กน้อย เตรียมพลังกายให้พร้อม สำหรับการท่องตอนล่างสุดของอนุภูมิภาคในเวลา 1 สัปดาห์ โดยเริ่มต้นที่ด่านชายแดนตราด มีจุดพักค้างคืนแห่งแรก ที่เมืองห่าเตียน จ.เกียนยาง ซึ่งปัจจุบันมีโรงแรม 2-3 ดาว มีเกสต์เฮ้าส์สะอาดสะอ้าน ให้เลือกมากมายหลายที่ ราคาไม่แพง และ มีไวไฟให้ใช้ ..
.
2
3
4
5
6
โลกกลมจริงครับ ขอยืนยันอีกคน ผมเคยไปเดินคลุกฝุ่นที่บริเวณด่านชายแดนเวียดนาม-กัมพูชาแห่งนี้เมื่อ 7 ปีก่อน (ชมภาพประกอบครับ) แต่ในวันนี้ไม่มีอะไรเหมือนเดิมอีก ด่านแปร็กจักที่ไปเห็น ในเดือน พ.ย.2552 มีเพียงสำนักงานเป็นเรือนไม้หลังเล็ก ตรง "ประตูเข้าออก" เป็นไม้กั้นกับตู้ยาม หน้าประตูทางเข้าโรงงานเก่าๆ ในต่างจังหวัดของเรา บางแห่งยังดูดีกว่าอีก (โปรดดูภาพเลยครับ)
ครั้งนี้ มองจากฝั่งเวียดนามเข้าไป บริเวณที่เคยเป็นไม้กั้นกับป้อมยาม กลายเป็นซุ้มประตูใหญ่ ดูหรูหราแต่ไกล อาคารสำนักงานด่านตรวจคนเข้าเมืองหลายหลัง ผุดขึ้นมาขนาบข้าง ทั้งหมดเป็นสถาปัตยกรรมเขมร และ ดูยังใหม่เอี่ยม ซึ่งทำให้ด่านทางฝั่งเวียดนามที่เคยโดดเด่น ดูโทรมลงไปอย่างช่วยไม่ได้
อีกสิ่งหนึ่งที่ปรากฏให้เห็นหลังผ่านไป 7 ปี ก็คือ หลักเขตแดนกัมพูชา-เวียดนาม จำนวน 2 หลัก ที่อยู่บริเวณด่าน อีกหนึ่งหลักซึ่งเป็นหลักสุดท้ายระหว่างสองประเทศ ปักตระหง่านอยู่บนเนิน อันเป็นจุดสูงสุด ไม่ไกลจากบริเวณนี้ และ ดูจะเป็นเพียงหลักเดียว ในช่วงประมาณ 100 กิโลเมตร ที่ปักปันโดยใช้สันปันน้ำ ตลอดแนวชายแดนสองประเทศทางด้านนี้เกือบทั้งหมดเป็นพื้นราบ
แต่การปักปันเขตแดนระหว่างกัมพูชากับเวียดนาม ในช่วงอื่นๆ ก็ยังดำเนินต่อไป หลายบริเวณยังเป็นข้อขัดแย้ง อยู่ระหว่างการสำรวจ และ มีการประชุมเจรจาสองฝ่ายเป็นประจำทุกปี
แปร็กจัก ก็เป็นเช่นเดียวกับ ประตูเข้าออกกัมพูชาแห่งอื่นๆ แลนด์มาร์คที่สำคัญหมือนๆ กันก็คือกาสิโน ซึ่งในเดือน พ.ย.2552 สถานีเสี่ยงโชค สุดเขตแดนทางด้านนี้กำลังก่อสร้าง คนงานกำลังขนปูนขนทรายกันคึกคัก วันนี้กลายเป็นอาคารหรูหรา พะยี่ห้ออเมริกัน เป็นแหล่งมั่วสุมของผีพนันจากทั่วสารทิศ ยกเว้นชาวเขมรเท่านั้นที่ไม่มีสิทธิ์เข้า
7 ปีที่แล้ว คนกลุ่มใหญ่ที่เดินทางเข้ากัมพูชาทางด้านนี้ เป็นผีพนันเวียดนาม ที่ข้ามไปยังบ่อนไก่ 2-3 แห่งใน อ.กัมปงจัก แต่วันนี้มีรถบรรทุกสินค้าแล่นเข้าออก มีรถเข็น มีคาราวานจักรยานยนต์ขนสินค้า กระทั่งรถซาเล้ง ที่มีข้าวของเต็ม แล่นข้ามพรมแดนกันขวักไขว่.. แม้ในยามใกล้ค่ำ ฝนตกพรำๆ
.
7
8
หันหน้าไปทางทิศตะวันออก.. มองลึกเข้าไปในเขตที่ราบปากแม่น้ำโขง เมื่อปี 2553 เวียดนามเปิดใช้สะพานเกิ่นเทอ (Can Tho) ข้ามลำน้ำเหิ่ว (Hau) เชื่อมฝั่ง จ.หวีงลอง (Vinh Long) ซึ่งก่อนหน้านั้น ทั้งรถทั้งคนต้องลงแพขนานยนต์ขนาดใหญ่ ปีถัดมาทางหลวงสายโฮจิมินห์-จุงเลือง (Ho Chi Minh-Trung Luong Highway) ก็แล้วเสร็จ เพราะฉะนั้นในวันนี้ จากด่านชายแดนกัมพูชา จ.เกียนยาง ไปยังนครโฮจิมินห์ จึงไม่มีอะไรขัดขวางให้การเดินทางต้องล่าช้าอีก
หันหลังกลับ มองไกลไปทางทิศตะวันตก.. ปลายถนนสายที่พวกเรายืนอยู่คือสุดเขตแดนภาคตะวันออกของไทย คณะของพวกเรามีเพื่อนผู้สื่อข่าวคนหนึ่ง เป็นชาวตราด เป็นผู้มีความห่วงใยต่อภรรยา ตลอดเวลาในเวียดนาม ถ้าหากตัดสินใจกลับ ผ่านดินแดนกัมพูชาเสียในวันนั้น ทุกอย่างก็จะเป็นไปโดยสะดวก และ อาจมีฮันนีมูนอีกครั้ง
เมื่อ 7 ปีก่อนโน้นช่วงปลายถนนราว 23 กม.ทางฝั่งแปร็กจัก ยังสร้างไม่เสร็จ ยังเป็นถนนพื้นบ้าน เป็นทรายบ้าง เป็นดินนาบ้าง ตัดลัดเลาะไปตามท้องทุ่ง ผ่านหมู่บ้าน ผ่านดงตาลกับนาเกลือบางช่วงเป็นดินเหนียวหล่มเละ อีกสองปีต่อมาจึงได้ทราบจากเจ้าหน้าที่เอดีบีในกรุงเทพฯ ว่า ถนนช่วง จ.แก๊บ (Kep) ไปยังด่าน ระยะทางเกือบร้อย กม. สร้างเสร็จแล้วตลอดสาย ด้วยเงินกู้ธนาคารพัฒนาเอเชีย
Asian Development Bank .. ชื่อนี้เข้ามามีบทบาทสำคัญมากในอนุภูมิภาค ในฐานะสปอนเซอร์หลัก ผู้สนับสนุนการก่อสร้างถนนหนทาง และโครงสร้างพื้นฐานอื่นๆ ช่วยเหลือโครงการอนุรักษ์สภาพแวดล้อม กับอีกหลากหลายโครงการพัฒนา ที่ช่วยปรับปรุงชีวิตความเป็นอยู่ ของผู้คนนับล้านๆ ในประเทศย่านนี้
ถนนที่เรากำลังพูดถึงนี้ เป็นสายยาวที่เอดีบีเรียกอย่างเป็นทางการว่า "ระเบียงขนส่งใต้เลียบชายฝั่งทะเล" (Southern Coastal Transport Corridor) จากเขตที่ราบใหญ่อู่ข้าวสำคัญของเวียดนาม ผ่าน จ.กัมโป้ต แก๊บ พระสีหนุ และ จ.เกาะกง ไปเชื่อมระบบทางหลวง อันทันสมัยของไทย ที่ทอดยาวต่อไปยังระยอง ชลบุรี กรุงเทพฯ นครปฐม ราชบุรี จนถึงกาญจนบุรี ข้ามแดนไปออกท่าเรือทวาย อภิมหาโปรเจ็กท์บนฝั่งอันดามัน ที่ยังอยู่ระหว่างดำเนินการ
ครั้งโน้นเอดีบีได้นำคณะผู้สื่อข่าวไทยและกัมพูชา ราว 10 คน สัญจรผ่านเส้นทางนี้ แวะเยี่ยมชมจุดสำคัญรายทาง ไปจนถึงนครเกิ่นเทอ ก่อนลงแพขนานยนต์ ไปตามทางหลวงสายหลักที่กำลังก่อสร้าง มีฝุ่นตลบเป็นช่วงๆ ไปจนถึงโฮจิมินห์ รวมเป็นเวลา 5 วัน ประสบการณ์ครั้งนั้นทำให้สามารถมองทะลุสู่อนาคตอันรุ่งโรจน์ การไปมาหาสู่กันระหว่างประเทศเพื่อนบ้านย่านนี้ ภายใต้ชายคาประชาคมใหญ่เดียวกัน
.
9
10
ตามข้อมูลของเอดีบี ถนนอีกสายหนึ่งที่เรียกเป็น "ระเบียงขนส่งแนวตะวันออก-ตะวันตก" ซึ่งเริ่มจากท่าเรือในภาคกลางเวียดนาม ข้ามดินแดนลาว ไปยังด่านสะพานมิตรภาพ สะหวันนะเขต-มุกดาหาร ต่อไปยัง จ.พิษณุโลก ถึง อ.แม่สอด จ.ตาก ทะลุออกอ่าวเมาะตะมะในพม่า สามารถร่นระยะทางได้ถึง 15 วัน เทียบกับการขนส่งสินค้าทางเรือ ไปอ้อมช่องแคบสิงคโปร์
ถนนสายระเบียงขนส่งเลียบชายฝั่งทะเล จากภาคใต้เวียดนามไปถึงท่าเรือทวายในอนาคต ก็คงทำเวลาได้ไม่น้อยไปกว่ากัน และ ความฝันของผู้คนในอนุภูมิภาคจะต้องเป็นจริงเข้าสักวัน..
ที่ด่านชายแดนส่าเสีย-แปร็กจัก ก่อนค่ำวันนั้นสายฝน ทำให้ชุ่มฉ่ำกันทุกคน พวกเราไม่มีโอกาสได้พบเจ้าหน้าที่ของฝ่ายใด ที่สามารถให้ข้อมูลรายละเอียดต่างๆ ได้ มีเพียง "น้องตุ๊" ที่บอกกับผมว่า การท่องเที่ยวทางบกทางด้านนี้ยังคงเงียบเหงา นักท่องเที่ยวหัวขาวหัวแดง ส่วนใหญ่ที่เข้าประตูสู่เวียดนามภาคใต้ เป็นกลุ่มที่ไปเที่ยวชายทะเลกัมพูชา และ เดินทางไปยังห่าเตียน เพียงเพื่อจะนั่งเรือด่วนต่อไปยังเกาะฟุก๊วก เช่นเดียวกับพวกเรา
ฟุก๊วก (Phu Quoc).. เป็นเกาะใหญ่ที่สุดของเวียดนาม อยู่ในทะเลอ่าวไทย เป็นเกาะที่เจริญรวดเร็วน่าอัศจรรย์ยิ่ง ซึ่งผมจะรายงานในตอนต่อไป
"เกิมตุ๊" เป็นชาวอำเภอห่าเตียน เกิดและเติบโตที่นั่น คุณปู่เป็นชาวจีนโพ้นทะเล แต่ตกมาถึงรุ่นเธอ ก็ไม่มีใครพูดจีนได้อีกแล้ว.. ไปเรียนจนจบปริญญาตรีการท่องที่ยว จากมหาวิทยาลัยเอกชนแห่งหนึ่งในเกิ่นเทอ นครศูนย์กลางเขตที่ราบปากแม่น้ำโขง จากนั้นก็กลับไปทำงานที่บ้านเกิด และ ยังโสดทั้งตัว
.
11
12
13
14
15
16
มัคคุเทศน์สาวบอกกับผมว่า บ้านเกิดของเธอเปลี่ยนแปลงเร็วมาก บ้านเมืองเจริญอย่างผิดหูผิดตาในช่วงไม่กี่ปีมานี้ สิ่งปลูกสร้าง แหล่งบริการต่างๆ ผุดขึ้นมามากมาย เธอเชื่อว่าอีกไม่นาน ห่าเตียนจะเป็นเมืองที่ฟู่ฟ่าอีกแห่งหนึ่ง แม้จะเป็นเพียงทางผ่านก็ตาม ห่าเตียนไม่เพียงแต่เป็นแหล่งทำประมงขนาดใหญ่ นักท่องเที่ยวต่างชาติจำนวนมากที่ผ่านแวะพัก แต่ละวัน แต่ละเดือน ยังสร้างรายได้ให้กับชาวเมืองเป็นกอบเป็นกำอีกด้วย
อะไรก็ตามที่ยังไม่มี หรือ ยังไม่เกิด ย่อมจะเป็นโอกาส นับตั้งแต่ไปที่นั่นครั้งแรก ผมเองนึกฝันเสมอมา อยากจะเห็นรถตู้โดยสาร นำนักท่องเที่ยวจากไทย ข้ามแดนกัมพูชาไปยังภาคใต้เวียดนาม วันละนับสิบเที่ยว รวมทั้งไปเที่ยวฟุก๊วก ที่พรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามหมายมั่นปั้นมือ และกำลังพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ ขึ้นเทียบชั้นภูเก็ตกับบาหลี
ในขณะเดียวกัน เส้นทางนี้น่าจะเป็นอีกหนึ่งทางเลือก สำหรับชาวโฮจิมินห์ ที่ใฝ่ฝันอยู่เสมอ จะต้องมาเที่ยวหาดพัทยาให้จงได้..
ผมใฝ่ฝันจะได้เห็นรถบัสโดยสารประจำทางข้ามประเทศ ให้บริการทางด้านนั้น แบบเดียวกันกับสายเวียงจันทน์-อุดรธานี เวียงจันทน์-เชียงใหม่ เวียงจันทน์-โฮจิมินห์ เวียงจันทน์-ฮานอย กับนครเหว เช่นเดียวกันกับสายอุบลราชธานี-ปากเซ หรือ ปากเซ-บี่งดิง ปากเซ-โฮจิมินห์ ในปัจจุบัน
หลายปีมาแล้ว ที่มีรถบัสโดยสารปรับอากาศ แล่นประจำทางจากกรุงพนมเปญ ไปยังโฮจิมินห์โดยผ่านด่านชายแดนด้าน จ.สวายเรียง (Svay Rieng) ที่อยู่เหนือขึ้นไป วันละนับสิบเที่ยว แต่ยังไม่มีสายใดที่ลงใต้ ไปยังด่านแปร็กจัก-ส่าเสีย หรือ จะมีแล้วก็มิทราบได้ ส่วนทางฝั่ง อ.ห่าเตียน-เกียนเลือง (Kien Luong) -หรักหยา (Rach Gia) นั้น มีรถโดยสารแล่นให้เห็นขวักไขว่ ลงไปจนถึงเมืองก่ามาว ตอนใต้สุด
ผมเองมีความฝันร่วมกับ "น้องตุ๊" และ เชื่อว่า ความใฝ่ฝันของเราจะเป็นจริง.