รอยเตอร์/แถ่งเนียน - ในอีก 2 ปี ข้างหน้า คาดว่าเมืองหลวงของเวียดนามจะมีรถจักรยานยนต์วิ่งอยู่บนท้องถนนมากถึง 7 ล้านคัน ซึ่งเกือบจะเท่ากับจำนวนประชากรในกรุงฮานอยในปัจจุบัน ส่งผลให้ทางการกำลังพิจารณาที่จะออกคำสั่งห้ามรถจักรยานยนต์วิ่งในเมือง ด้วยวิตกว่าถนนสายต่างๆ จะแออัดไปด้วยยวดยานพาหนะ ในขณะที่จำนวนประชากรก็เพิ่มขึ้น และชนชั้นกลางก็ซื้อรถยนต์กันมากขึ้น
ทางการกรุงฮานอยประกาศแผนที่จะห้ามรถจักรยานยนต์วิ่งในย่านใจกลางเมืองตั้งแต่ปี 2568 เพื่อแก้ปัญหาการจราจรแออัดของเมืองไม่ให้เลวร้ายไปกว่าที่เป็นอยู่ ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้อ้างถึงความจำเป็นที่จะต้องออกมาตรการเข้มงวด เพื่อจำกัดการเติบโตอย่างรวดเร็วของจำนวนยานพาหนะส่วนบุคคล และส่งเสริมการใช้บริการขนส่งมวลชน
เจ้าหน้าที่ยอมรับว่า จำนวนรถยนต์ และรถจักรยานยนต์ในเมืองเวลานี้มีเป็นจำนวนมาก และไม่สามารถหาทางแก้ที่มีประสิทธิภาพ ขณะเดียวกัน กรุงฮานอยหวังที่จะสร้างระบบขนส่งมวลชนให้เพียงพอต่อความต้องการในอีก 10 ปีข้างหน้า ก่อนที่การห้ามใช้รถจักรยานยนต์จะมีผล
ประธานคณะกรรมการบริหารบริษัทขนส่งและบริการกรุงฮานอย ผู้ให้บริการรถโดยสารสาธารณะ กล่าวว่า กรุงฮานอยจำเป็นต้องเพิ่มจำนวนรถโดยสารขึ้นอีก 2 เท่า ซึ่งในเวลานี้รองรับความต้องการได้เพียงแค่ 8-10% เท่านั้น ปัจจุบันกรุงฮานอยมีรถโดยสาร 1,000 คัน มีผู้ใช้บริการ 27 ล้านคนต่อเดือน
ส่วนระบบรถไฟลอยฟ้า และรถไฟใต้ดินที่จะช่วยคลายความแออัด การก่อสร้างเส้นทางสายแรกยังคงไม่เสร็จสมบูรณ์จนกว่าปี 2561 หากไม่มีเหตุให้ล่าช้า ขณะที่เส้นทางรถไฟอีกอย่างน้อย 5 สายตามแผน คาดว่าจะใช้เวลาในการก่อสร้างอีกราว 10 ปี
จำนวนรถส่วนบุคคลในกรุงฮานอยเวลานี้อยู่ที่ 5.5 ล้านคัน โดยเป็นรถจักรยานยนต์มากกว่า 4.9 ล้านคัน ซึ่งหมายความว่า มีรถยนต์มากกว่า 70 คัน และรถจักรยานยนต์เกือบ 700 คัน วิ่งอยู่บนถนนทุก 1 กิโลเมตร และจากตัวเลขของทางการที่เผยแพร่เมื่อปลายปีที่ผ่านมายังแสดงให้เห็นว่า มีรถจักรยานยนต์ใหม่ 8,000-20,000 คัน และรถยนต์ใหม่ 6,000-8,000 คัน ลงทะเบียนใหม่ในเมืองทุกเดือน
แต่บรรดาผู้ใช้รถจักรยานยนต์กลับไม่เห็นด้วยต่อแผนของทางการที่จะห้ามรถจักรยานยนต์ โดยกล่าวว่า เศรษฐกิจจะชะลอตัวหากชาวฮานอยปฏิเสธรูปแบบการคมนาคมที่พวกเขาเติบโตมาด้วย ทั้งใช้ขนข้าวของ ตั้งแต่ลังเบียร์ ถังก๊าซหุงต้ม ไปจนถึงกระสอบข้าวสาร และสมาชิกในครอบครัว
“มันเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ มันจะสร้างความยากลำบากต่อทั้งข้าราชการ นายจ้าง นักเรียน และคนค้าขาย” ฝ่าม วัน จีง คนขี่จักรยานยนต์รับจ้าง กล่าว
“เรื่องนี้ควรทบทวนใหม่ ธุรกิจต่างๆ จะได้รับผลกระทบ” พ่อค้าริมถนน กล่าว
การเติบโตทางเศรษฐกิจที่รวดเร็วของเวียดนามทำให้รายได้ครัวเรือนเพิ่มขึ้น 4 เท่า โดย 1 ในทุกๆ 2 คนของประชากรทั้งหมด 90 ล้านคน เป็นเจ้าของรถจักรยานยนต์ ขณะที่ยอดขายรถยนต์ก็พุ่งขึ้น 55% ในปีก่อน ซึ่งนับเป็นอัตราเติบโตที่รวดเร็วที่สุดของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
“ตอนนี้รถมีจำนวนมหาศาล แต่ผู้คนก็ไม่สามารถที่จะยอมรับต่อข้อห้ามนี้ได้” ช่างซ่อมรถจักรยานยนต์ กล่าว.