xs
xsm
sm
md
lg

ยังมีทหารสหรัฐฯ สูญหายในดินแดนลาว 302 คน 30 ปีที่ผ่านไปได้กลับบ้าน 271

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

<br><FONT color=#000033>หากันมากว่า 30 ปี คืบไปเพียง 50% จากภาคกลางกับภาคใต้ ปีนี้ย้ายขึ้นเหนือ ยิ่งนานไปความหวังก็ยิ่งริบหรี่ ผู้เห็นเหตุการณ์ทยอยล้มหายตายจาก สภาพทางภูมิศาสตร์ก็เปลี่ยน แต่ยังต้องพยายามกันต่อไป ยังเหลืออีก 302 คน ที่ยังไม่ได้กลับบ้านเกิด. -- ภาพ: หนังสือพิมพ์ปะเทดลาว.</b>

MGRออนไลน์ - การค้นหาทหาร และเจ้าหน้าที่สหรัฐฯ ที่ยังไม่ได้กลับจากดินแดนลาวตั้งแต่ครั้งสงครามเวียดนาม คืบหน้าไปช้าๆ จากจำนวนทั้งหมด 573 คน จนถึงปัจจุบันยังหาไม่พบอีก 302 คน ขุดค้นพบ และนำอัฐิ กับเศษสิ่งของที่เหลืออยู่กลับบ้านเกิดไปแล้วทั้งสิ้น 271 คน ทั้งนี้ เป็นตัวเลขอัปเดตล่าสุด จากการร่วมค้นหาระหว่างสองฝ่ายที่ดำเนินมากว่า 3 ทศวรรษ

ตัวเลขนี้ถูกเปิดเผยในโอกาสที่ นายแสงเพ็ด ฮุ่งบุนยวง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศลาว เดินทางไปตรวจเยี่ยมหน่วยปฏิบัติงานลาว-สหรัฐฯ ในแขวงเชียงขวาง กับแขวงหัวพัน ระหว่างวันที่ 10-12 มิ.ย. สื่อของทางการรายงาน

สองฝ่ายได้ร่วมกันขุดค้นหาร่องรอย และเศษสิ่งของเครื่องใช้ของผู้สูญหายในดินแดนสองแขวงภาคเหนือ อันเป็นการร่วมปฏิบัติการ ครั้งที่ 4 ในช่วงฤดูแล้ง 2558-2559 ที่ผ่านมา เป็นการขุดค้นกรณีที่หนึ่ ในเขตบ้านนากูด เมืองเหี่ยม แขวงหัวพัน รมช.ต่างประเทศลาว ยังได้ไปเยี่ยมชมการปฏิบัติงานร่วมสองฝ่ายในเขตเมืองคำ แขวงเชียงขวาง เพื่อส่งเสริมให้กำลังใจอีกด้วย

กว่า 30 ปีของการดำเนินงาน ได้มีความคืบหน้าไปราว 50% ตามที่กล่าวมาแล้ว และยังจะดำเนินต่อไปภายใต้นโยบายสิทธิมนุษยชนของพรรคประชาชนปฏิวัติลาว และรัฐบาลลาว โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อครอบครัว และญาติพี่น้องของผู้ที่สูญหายตั้งแต่ครั้งสงคราม หนังสือพิมพ์ “ปะเทดลาว” รายงานในเว็บไซต์

อัฐิ กับเศษสิ่งของที่ขุดค้นได้จะถูกส่งไปยังศูนย์พิสูจน์หลักฐานในนครโฮโนลูลู มลรัฐฮาวาย ก่อนส่งให้ครอบครัวเพื่อดำเนินการตามประเพณีต่อไป

ตามข้อมูลอย่างเป็นทางการ ไม่เคยมีทหารอเมริกันเข้าไปปฏิบัติงานสู้รบในดินแดนลาวโดยตรง มีเพียง “ผู้เชี่ยวชาญ” กับ “ที่ปรึกษา” ขององค์การสืบราชการลับแห่งสหรัฐฯ (ซีไอเอ) ที่ในช่วงหนึ่งเข้าไปช่วยฝึก และสนับสนุนกองกำลังของนายพลวังเปา นายทหารกองทัพฝ่ายรัฐบาล พระราชอาณาจักรลาว อดีตผู้นำของชาวม้ง กับเจ้าหน้าที่บริษัทแอร์อเมริกา ที่ซีไอเอจัดตั้งขึ้นมาสนับสนุน

รัฐสภาได้ห้ามรัฐบาลสหรัฐฯ ในยุคนั้นขยายสงครามเข้าไปยังดินแดนลาว และกัมพูชา

อย่างไรก็ตาม ทหาร และเจ้าหน้าที่สหรัฐฯ ที่สูญหายในลาวขณะปฏิบัติหน้าที่ (Missing in Action) หรือ MIA นั้น เกือบทั้งหมดเป็นนักบิน หรือเจ้าหน้าที่ประจำเครื่องบินโจมตีทิ้งระเบิด หรือเฮลิคอปเตอร์ที่ถูกยิงตก หรือไปตกในดินแดนลาว หลังบินขึ้นจากฐานทัพในประเทศไทย ข้ามไปปฏิบัติการโจมตีทิ้งระเบิดในเวียดนาม หรือในระหว่างบินกลับ

ยังมีอีกจำนวนหนึ่งเช่นกันที่ถูกยิงในเวียดนาม และข้ามแดนไปตกลงในดินแดนลาว และกัมพูชา หลักฐานสำคัญที่ทำให้สามารถสืบค้นไปยังแหล่งเครื่องบินตกได้ ส่วนใหญ่มีเพียงรายงานการติดต่อทางวิทยุระหว่างนักบิน กับหอบังคับการ หรือจากการบอกเล่าของชาวลาวในท้องถิ่นที่เห็นเหตุการณ์เมื่อกว่า 40 ปีก่อน แต่หลายกรณีก็เป็นเพียงการคิดคำนวณ และการคาดเดาเท่านั้น

หลายปีมานี้ ทั้งสองฝ่ายต่างแสดงความเป็นกังวล เนื่องจากเวลายิ่งเนิ่นนานออกไปโอกาสที่จะพบร่องรอยผู้สูญหายก็ยิ่งน้อยลง เนื่องจากพยานที่เห็นเหตุการณ์ทยอยเสียชีวิต สภาพแวดล้อมทางภูมิศาสตร์เปลี่ยนไป มีการเคลื่อนตัว หรือการทับถมของดินและโคลน กรณีที่น่าสิ้นหวังมากที่สุด ยังรวมทั้งจุดที่ตกลงในแม้น้ำลำธารด้วย

หลายปีก่อนหน้านี้ การขุดค้นสองฝ่ายได้รวมศูนย์อยู่ในแขวงภาคกลางกับภาคใต้ และตามข้อมูลของฝ่ายสหรัฐฯ ก่อนหน้านี้ ทหารสหรัฐฯ ที่สูญหายทางตอนเหนือของลาวมีเพียงไม่กี่กรณีเท่านั้น
กำลังโหลดความคิดเห็น