xs
xsm
sm
md
lg

จนท.เวียดนามขวางนักเคลื่อนไหวสิทธิมนุษยชนพบ “โอบามา”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

<br><FONT color=#000033>ประธานาธิบดีบารัค โอบามา ของสหรัฐฯ พบหารือกับสมาชิกภาคประชาสังคม รวมทั้งนักวิจารณ์จำนวนหนึ่ง ในกรุงฮานอย วันที่ 24 พ.ค. -- Agence France-Presse/Jim Watson.</font></b>

เอเอฟพี - นักเคลื่อนไหวชาวเวียดนามรายหนึ่งเผยวันนี้ (24) ว่า ถูกเจ้าหน้าที่ขัดขวางไม่ให้พบหารือกับประธานาธิบดีบารัค โอบามา ในขณะที่ผู้นำสหรัฐฯ เตรียมที่จะพบกับนักรณรงค์เรียกร้องสิทธิมนุษยชนในเวียดนาม

โอบามา กำลังอยู่ในระหว่างการเยือนเวียดนาม และคาดว่าจะพบหารือกับผู้นำกลุ่มประชาสังคม รวมทั้งนักวิจารณ์บางส่วน ในเช้าวันนี้ (24) ที่นับจนถึงขณะนี้ ผู้นำสหรัฐฯ ได้กล่าวถึงประเด็นปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่ยังคงไม่ดีนักของเวียดนามเพียงเล็กน้อยเท่านั้น

ห่า ฮวี เซิน ทนายความที่ว่าความให้แก่ผู้เห็นต่างในศาล ระบุว่า เขาได้รับเชิญให้เข้าพบหารือกับประธานาธิบดีโอบามา ที่สถานทูตสหรัฐฯ ในกรุงฮานอย ในเช้าวันอังคาร (24) แต่กลับถูกขัดขวาง

“มีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยมาเฝ้าอยู่ที่บ้าน 2 วันแล้ว ตอนนี้พวกเขาปล่อยผมออกมา แต่ห้ามผมใช้เส้นทางที่มุ่งไปยังสถานทูตสหรัฐฯ พวกเขาบอกว่า ผมสามารถจะเดินทางไปที่ไหนก็ได้ยกเว้นสถานทูต และยังเฝ้าตามดูผมอยู่” ทนายความคนเดิม กล่าว

นักเคลื่อนไหวที่อยู่บนสื่อสังคมออนไลน์ ระบุว่า นักวิจารณ์ที่มีชื่อเสียงอีก 2 คน คือ เหวียน กว่าง อา นายธนาคารที่กลายมาเป็นผู้เห็นต่างกับรัฐ และ ฝ่าม ดว่าน จาง บล็อกเกอร์ ถูกเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยพาตัวไป โดยทั้งคู่ไม่รับสายโทรศัพท์ ส่วนเจ้าหน้าที่ก็ไม่สามารถติดต่อขอความเห็นได้เช่นกัน

ในวันจันทร์ (23) ประธานาธิบดีโอบามา ได้ประกาศยกเลิกการห้ามค้าอาวุธกับเวียดนาม ในขณะที่ความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศอบอุ่นใกล้ชิดขึ้น เนื่องจากการค้า และความวิตกร่วมกันต่อการขยายตัวของจีนในน่านน้ำพิพาท

โอบามา กล่าวว่า การตัดสินใจครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของความสัมพันธ์ระดับปกติระหว่างสองประเทศ ที่ได้เห็นการเปลี่ยนแปลงสำคัญจากศัตรูสงครามมาสู่การเป็นพันธมิตร

แต่กลุ่มสิทธิมนุษยชนวิพากษ์วิจารณ์การตัดสินใจดังกล่าว ว่า สหรัฐฯ ได้สูญเสียหนึ่งในข้อต่อรองสำคัญของประเทศในการผลักดันเวียดนามให้ปรับปรุงการปฏิบัติต่อผู้เห็นต่าง ประเทศที่มักปราบปรามอย่างรุนแรงต่อการชุมนุมประท้วง จำคุกผู้เห็นต่าง ห้ามตั้งสหภาพแรงงาน และควบคุมสื่อท้องถิ่น.
กำลังโหลดความคิดเห็น