MGRออนไลน์ - กลุ่มบริษัทเรธีออน (Raytheon) ผู้ผลิตอาวุธยุทโธปกรณ์รายใหญ่ในสหรัฐฯ ได้พัฒนาชุดอัปเกรดสำหรับรถถังหลัก M60A3 “แพ็ตตัน” (Patton) ขึ้นมา เพื่อยกระดับสมรรถนะของรถถังดีที่สุดอีกรุ่นหนึ่ง ให้เป็นยานเกราะทันสมัยด้วยค่าใช้จ่ายที่ไม่แพง บริษัทนี้ได้นำวิดีโอรถถังที่ผ่านการอัปเกรดออกเผยแพร่สัปดาห์ที่ผ่านมา และเรื่องนี้กำลังเป็นข่าวในเว็บไซต์ข่าวกลาโหมหลายแห่งทั่วโลก
วิดีโอที่จัดทำโดยบริษัทเรย์ธีออน และเผยแพร่ในช่วง 2 สัปดาห์มานี้ แสดงให้เห็น M60A3 ซึ่งแม้ว่าจะยังคงรูปลักษณ์เก่าๆ เอาไว้เกือบจะครบถ้วนสมบูรณ์ แต่รูปโฉมโดยรวมเปลี่ยนไปมิใช่น้อย นี่คือรถถังหลักที่ได้ชื่อว่าดีที่สุด และมีใช้แพร่หลายที่สุดอีกรุ่นหนึ่งของโลก รวมทั้งกองทัพบกไทย ที่ซื้อของใช้แล้วจากสหรัฐฯ ทั้ง A1/2 และ A3 โดยเฉพาะอย่างยิ่ง M60A3 นั้นไทยมีอยู่กว่า 100 คัน ใช้เป็นกำลังหลักมาจนถึงปัจจุบัน
บริการอัปเกรดนี้มีชื่อเป็นทางการว่า “โครงการขยายอายุใช้งาน” ของ M60A3 (Service Life Extension Program) หรือ SLEP เรย์ธีออน กล่าวว่า ได้เสนอไปยังบรรดาประเทศที่มี M60A3 ใช้งาน ซึ่งภายหลังการอัปเกรดจะทำให้แพ็ตตันรุ่นล่าสุด สามารถต่อกรกับรถถังรุ่นใหม่ อย่าง T-90A ของรัสเซียได้ ถึงแม้ว่าคุณภาพที่ออกมาจะยังไม่ถึงขั้น M1A3 “เอบรามส์” (M1A3 “Abrams”) ของสหรัฐฯ หรือเลโอพาร์ด 2A7 (Leopard 2A7/เล็พเพิร์ด 2A7) ของเยอรมนีก็ตาม
ชุดอัปเกรดจะเปลี่ยนแปลง 3 ส่วนสำคัญของแพ็ตตัน คือ เปลี่ยนเครื่องยนต์จากเดิม 750 แรงม้า เป็นเครื่องดีเซลรุ่นใหม่ 950 แรงม้า เปลี่ยนปืนใหญ่ 105 มม. M68 เป็น 120 มม. L44 ลำกล้องเกลี้ยงจากเยอรมนี เปลี่ยนป้อมปืนใหม่ ปรับหมุนด้วยระบบมอเตอร์แทนระบบไฮดรอลิกส์ ที่มักจะเกิดมีของเหลวรั่วซึม สร้างปัญหาให้เป็นระยะๆ
L44 เป็นระบบปืนใหญ่รถถังมาตรฐานสหรัฐฯ กับนาโต้ คาลิเบอร์เท่ากัน กับปืนของ T84 Oplot-M ที่สามารถเทียบชั้น ป.125 มม. ของค่ายโซเวียต/รัสเซียได้ และ แน่นอน.. เมื่อเปลี่ยนระบบปืนใหม่ก็จะต้องใช้ระบบควบคุมใหม่ที่รวมอยู่ในชุดอัปเกรด และเป็นระบบควบคุมแบบดิจิตอลทั้งหมด เช่นเดียวกันกับระบบควบคุมภายในทั้งมวล ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้พัฒนา “ลุงแพ็ตตัน” ในยุคสงครามเวียดนาม คงไม่เคยคาดคิดมาก่อน
บนป้อมปืนใหญ่ยังติดตั้งปืนกลรุ่นใหม่ รีโมตคอนโทรลจากภายใน ทำให้ผู้บังคับรถถังไม่ต้องโผล่ศีรษะออกส่วนบนของยานเกราะ ทำให้ตกเป็นเป้าหมายของฝ่ายข้าศึกอีกต่อไป
.
.
รถถังที่ผ่านการอัปเกรด ในวิดีโอไม่ได้หุ้มเกราะโมดูลาร์ใดๆ ทั้งสิ้น แต่หุ้มสเกิร์ตไว้ทั้งซ้าย และขวา ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า “เรื่องภายนอก” พวกนั้น สามารถจัดเพิ่มได้ เช่นเดียวกับระบบป้องกันด้วยการยิงระเบิดเชิงรุก (Active Protection System) ที่เรียกกันทั่วไปว่า APS
เรย์ธีออน กล่าวว่า M80A3 ที่อัปเกรดภายใต้ SLEP ได้ผ่านการทดสอบจากสนามทดสอบของกองทัพบกสหรัฐฯ ที่เมืองอาเบอร์ดีน (Aberdeen Proving Ground) รัฐแมรีแลนด์ แต่ไม่ได้ให้รายละเอียดใดๆ เกี่ยวกับผลของการทดสอบ
ที่น่าสนใจก็คือ เรย์ธีออน กล่าวว่า การอัปเกรด M60A3 นั้น “ราคาถูกมากทีเดียว” แต่สามารถทำให้รถถังหลักเก่าแก่รุ่นนี้เทียบชั้นกับรถถังสมัยใหม่ได้ในระดับ T-90 รัสเซีย
อิสราเอล เคยทำทำสิ่งที่เรียกว่า “Deep Upgrade” กับแพ็ตตันมาก่อน เป็นการอัปเกรดแบบรากถึงโคน คือ ตั้งแต่แชสซีส์ขึ้นไป และ “อัป” ได้ตั้งแต่ M48A2 มาจนถึงรุ่นที่พัฒนามาสูงสุด แต่ได้ทำให้รูปโฉมของรถถังหลักตระกูลนี้เปลี่ยนไปแทบจำไม่ได้ กลายเป็นอีกรุ่นหนึ่งที่อิสราเอลเรียกว่า “ซาบรา” (Sabra Tank) ซึ่งมีใช้ในกองทัพบกตุรกี อีกแห่งหนึ่งด้วย
เมื่อไม่นานมานี้ กลุ่มก่อการร้าย ISIS ในอิรัก ได้นำวิดีโอคลิป การยิงจรวดคอร์เน็ต (Kornet) โจมตีรถถังตุรกี ที่ไม่ได้ระบุรุ่นคันหนึ่ง ทางตอนเหนือของอิรัก แต่อีกไม่กี่วันต่อมา ได้มีการนำภาพนิ่งของรถถังคันดังกล่าวออกเผยแพร่ แสดงให้เห็นยานเกราะที่ได้รับความเสียหายไม่มากนัก
.
2
3
ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า ในภาพนั้นคือ ซาบรา หนึ่งในจำนวนประมาณ 100 คัน ของกองทัพตุรกี และเชื่อกันว่า ซาบรา คันนี้ติดระบบ APS แบบ “โทรฟี” (Trophy) ของอิสราเอล ทำให้รอดพ้นจากการถูกทำลายด้วยจรวดยิงรถถังที่น่าเกรงขามของรัสเซีย
เรย์ธีออน เป็นผู้ผลิตระบบ APS สำหรับรถถังอีกรายหนึ่งด้วยเช่นกัน แต่ยังไม่มีข้อมูลในขณะนี้ว่า ระบบ APS ของเรย์ธีออน ที่มุ่งผลิตเพื่อติดตั้งใน M1A1-2 ของสหรัฐฯ สามารถใช้งานกับชุดอัปเกรด SLEP ได้หรือไม่ แต่ยังไม่ทราบรายละเอียดเกี่ยวกับระบบ APS ของเรย์ธีออนมากกว่านี้ รวมทั้งราคาด้วย
สหรัฐฯ พัฒนาซีรีส์ M60 จากพื้นฐานของ M48 ที่ใช้มาตั้งแต่ต้นทศวรรษที่ 1960 เมื่อกว่า 50 ปีที่แล้ว และ “แพ็ตตัน” เป็นรถถังหลักรุ่นแรกที่ผลิตในสหรัฐฯ ออกแบบมาเพื่อต่อกรกับ T-54, T-55 ของฝ่ายโซเวียต ซึ่งในช่วงปีโน้นเป็นภัยข่มขู่ร้ายแรงต่อทหารอเมริกันที่ออกปฏิบัติการ ตาม “จุดร้อน” ต่างๆ ทั่วโลก
M60 ยังเป็นรถถังหลักที่ส่งออกมากที่สุดอีกรุ่นหนึ่ง โดยมีอิสราเอลเป็นลูกค้ารายใหญ่ที่สุด เมื่อกองทัพบกสหรัฐฯ ปลดระวางในปลายทศวรรษที่ 1980 ทั้ง A1 A2 และ A3 อีกหลายพันคันได้ตกทอดไปถึงบรรดาชาติพันธมิตร รวมทั้งไทยด้วย
ถึงแม้ว่ากองทัพสหรัฐฯ จะไม่เคยเรียก M60 ว่า “Patton” อย่างเป็นทางการเหมือน M48 แต่ทั่วโลกก็ยังเรียกชื่อนี้มาตลอด -- เรื่องที่ใกล้ตัวก็คือ นอกจาก M60A1 และ M60A3 แล้ว กองทัพบกไทยก็ยังมี M48A5 “คุณปู่แพ็ตตัน” ดั้งเดิมที่ยังใช้ได้อีกราว 100 คัน.