MGRออนไลน์ -- ข่าวการจัดหาระบบต่อต้านตอร์ปิโดของราชนาวีไทย กำลังเป็นที่สนใจได้รับความสนใจจากบรรดาประเทศเพื่อนบ้านรอบข้างสัปดาห์นี้ เนื่องจากเป็นระบบก้าวหน้าที่สุดที่มีอยู่ในปัจจุบัน แม้ว่าอาจจะไม่สามารถป้องกันเรือรบให้พ้นจากภัยใต้น้ำได้ทุกชนิดก็ตาม เพราะว่าในทันทีที่มีระบบต่อต้านทันสมัยยิ่งขึ้น การพัฒนาตอร์ปิโดรุ่นใหม่ๆ ก็จะต้องฝ่าหนีกลลวงของระบบต่อต้านให้จงได้
เว็บไซต์ข่าวกลาโหมทั้งในมาเลเซีย อินโดนีเซีย เวียดนาม ไปจนถึงพม่า บังกลาเทศ ปากีสถานและอินเดีย ต่างเผยแพร่ข่าวการจัดหาระบบต่อต้านตอร์ปีโด แบบ "แคนโท-วี" (CANTO-V) ที่ผลิตโดยกลุ่มบริษัทดีซีเอ็นเอสแห่งฝรั่งเศส ซึ่งเป็นรุ่นที่ใช้ติดตั้งบนเรือรบผิวน้ำ ใช้ทุ่นลวงระบบอิเล็กทรอนิกส์ให้กำเนิดเสียงสะท้อนหลากหลาย หลอกให้ตอร์ปิโดที่ยิงจากเรือดำน้ำ หลงทิศหลงทางจับเป้าหมายอันแท้จริงไม่ถูก จนกระทั่งสิ้นฤทธิ์จมน้ำไป
เรื่องนี้ปรากฎอยู่ในเอกสารจัดซื้อจัดหาของราชนาวี และ ยังปรากฏอยู่ในเว็บไซต์ "ศูนย์ข้อมูลเอกสารการจัดซื้อจ้างและราคากลาง" กองทัพเรืออีกด้วย
ตามข้อมูลดังกล่าว ราชนาวีไทยกำลังจัดซื้อจำนวน 24 ชุด จาก DCNS ซึ่งเป็นผู้ผลิตอาวุธยุทโธปกรณ์ทางทะเลที่มีชื่อเสียง รวมทั้งผลิตเรือรบผิวน้ำ เรือดำน้ำ และ ระบบอาวุธสงครามทางทะเล ซึ่งรวมทั้ง "ซูเปอร์ตอร์ปิโด" และ "เฮฟวีเวทตอร์ปิโต" หรือ ตอร์ปิโดขนาดใหญ่ด้วย บริษัท DCNS แห่งฝรั่งเศส ได้ร่วมกับกลุ่มบริษัทเทอร์มา (Terma) แห่งเดนมาร์ก ผลิตระบบ CANTO และ ทดสอบจนกระทั่งประสบผลสำเร็จในปี 2554
กลุ่มเทอร์มาเป็นผู้เชี่ยวชาญระบบอิเล็กทรอนิกส์กลาโหม หรือ ระบบสงครามอิเล็กทรอนิกส์ ทั้งติดตั้งบนเรือรบ เครื่องบินรบ ทั้งระบบเรดาร์ตรวจไกล และ ระบบต่อต้านเรดาร์ โดยมีผลงานปรากฏแพร่หลายในช่วง 60 ปีที่ผ่านมา
ทุ่นอิเล็กทรอนิกส์ของ Terma ที่ใช้ในระบบ CANTO-V เรียกว่า Soft Kill Weapon System หรือ SKWS คือ สยบตอร์ปิโดโดยไม่ต้องทำลาย ระบบนี้ติดตั้งบนเรือรบและยิง "ทุ่นอิเล็กทรอนิกส์" ลงสู่ทะเล โดยใช้ข้อมูลจากระบบโซนาร์และระบบเซ็นเซอร์ตรวจจับพบตอร์ปิโด กำหนดระยะปฏิบัติการ
ระบบยิงของ DCNS ใช้ท่อยิงทุ่นลวง ที่มีขนาดเท่าๆ กับสายยางดับเพลิง ชุดละ 6 ท่อต่อการยิง 1 ครั้ง ตัวเลขในเอกสารจัดซื้อระบุว่า ราชนาวีไทยจัดหาจำนวน 24 ลูก ซึ่งเท่ากับ 4 ชุดยิง (4x6 = 24) ด้วยงบประมาณ 158,360,000 บาท เพื่อใช้ติดตั้งบนเรือฟริเกตลำใหม่ที่ซื้อจากเกาหลี
สำหรับไทยที่ยังไม่มีเรือดำน้ำเพื่อสงครามใต้น้ำ ระบบต่อต้านตอร์ปิโดมีความจำเป็น เพื่อเป็นอีกทางหนึ่งในการป้องกันเรือรบ ให้พ้นจากการถูกโจมตีด้วยตอร์ปิโด ซึ่งยังคงเป็นอาวุธสุดอันตรายตลอดหลายทศวรรษหลังสงครามโลกครั้งที่ 2
.
.
.
ถึงแม้ว่าในปัจจุบัน จะมีการพัฒนาระบบจรวดต่อต้านจรวดนำวิถีโจมตี ที่มีประสิทธิภาพสูงออกมาใช้งาน แต่อาวุธหรือระบบต่อต้านตอร์ปิโดที่มีผลสัมฤทธิ์สูงยังมีไม่มาก
ตังแต่ปี 2554 เป็นต้นมา บริษัท DCNS ได้พัฒนาระบบต่อต้านตอร์ปิโดออกมา 2 ระบบ คือ CANTO-V สำหรับเรือรบบนผิวน้ำ กับ CANTO-S สำหรับเรือดำน้ำ ซึ่งต้องการอาวุธป้องกันตนเอง ให้รอดพ้นจากตอร์ปิโดข้าศึกเช่นกัน
ตามข้อมูลในเว็บไซต์ข่าวกลาโหม ระบบต่อต้านตอร์ปิโด CANTO-V พัฒนาขึ้นมาเพื่อต่อกรกับตอร์ปิโดรุ่นใหม่ๆ ซึ่งในปัจจุบันใช้ระบบนำวิถีผ่านสายไฟใยแก้วนำแสง ทำให้มีความแม่นย้ำมากขึ้น และ สามารถแล่นไล่ติดตามเป้าหมายด้วยความเร็วกว่า 50 นอต (กว่า 90 กิโลเมตร/ชั่วโมง) และ ระยะปฏิบัติการไกลกว่า 50 กม.
ทันทีที่เรือตรวจจับพบตอร์ปิโดกำลังพุ่งเข้าหา ระบบ CANTO-V จะคำนาณระยะปฏิบัติการ และ หาจุดอันเหมาะสมที่จะยิงทุ่นให้กำเนิดเสียงทั้ง 6 ลงน้ำโดยอัตโนมัติ เสียงสะท้อนที่ให้กำเนิดจากระบบ จะทำให้เกิดเป้าลวงที่ไม่มีอยู่จริงขึ้นมา สร้างความสับสนให้แก่ระบบนำวิถีของตอร์ปิโด ซึ่งจะพุ่งเข้าหา "เป้าลวง" จนกระทั่ง "หมดอายุ" ไปเอง โดยไม่ทำอันตรายแก่สิ่งใด
สำหรับประเทศที่ไม่มีเรือดำน้ำสำหรับปราบเรือดำน้ำข้าศึก ระบบต่อต้านตอร์ปิโดเป็นอีกทางหนึ่่ง เพื่อความอยู่รอดสำหรับเรือรบบนผิวน้ำ โดยประสานกับระบบต่อต้านเรือดำน้ำอื่นๆ ที่มีอยู่
อย่างไรก็ตาม เรื่องหนึ่งที่นักวิจารณ์ในย่านนี้ขำไม่ออกก็คือ เพียงไม่นานหลังจาก DCNS ผลิตระบบ CANTO-V และ CANTO-S ออกมา ในปี 2557 ก็ได้ผลิต F-21 ซึ่งเป็น "เฮฟวีเวทตอร์ปิโด" ยุคใหม่ (New Generation) ติดตามกันออกมา ซึ่งนอกจากสามารถจำแนกเรือพาณิชย์ ออกจากเรือรบได้แล้ว ก็ยังจำแนก "เป้าลวง" ได้อีกด้วย (โปรดดูคลิปที่ 2)
ตามข้อมูลของ DCNS เฮฟวีเวทตอร์ปิโด F-21 "ฉลาด" สามารถฝ่าเป้าลวงได้ โดยล็อกเป้าหมายอันแท้จริงคือ เรือรบหรือเรือดำน้ำข้าศึกตายตัว ด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ล้ำหน้า และในขั้นตอนสุดท้าย F-21 จะพุ่งเข้าหาเป้าหมายอันแท้จริงด้วยความเร็วสูงมาก "เป้าหลวง" ใดๆ ก็ไม่สามารถรบกวนได้
ปัจจุบันเฮฟวีเวทตอร์ปิโด F-21 มีประจำการในกองทัพเรือฝรั่งเศส เพียงแห่งเดียว.
.
2
3
4
5
6
7