เอเอฟพี - บริษัทจีนที่อยู่เบื้องหลังเหมืองทองแดงพม่าที่เป็นข้อขัดแย้ง ระบุว่า บริษัทวางแผนที่จะเริ่มดำเนินการเหมืองในเดือน พ.ค. ความเคลื่อนไหวที่คาดว่าจะก่อให้เกิดความท้าทายต่อรัฐบาลชุดใหม่ที่นำโดยอองซานซูจี
เกษตรกร และนักเคลื่อนไหวที่โกรธแค้นปะทะกับเจ้าหน้าที่หลายครั้งในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาเกี่ยวกับเหมืองทองแดงเลตปะด่อง ในเมืองโมนยวา
การปราบปรามการชุมนุมประท้วงอย่างรุนแรงของตำรวจได้จุดกระแสความรู้สึกต่อต้านจีน และความหวาดกลัวต่อโครงการดังกล่าว ที่เป็นการร่วมทุนกับบริษัทในเครือของกองทัพพม่า
หลังก่อสร้างมานานหลายปี เหมืองทองแดงแห่งนี้จะเข้าสู่การดำเนินการหลังรัฐบาลใหม่ของซูจีตั้งขึ้นไม่กี่สัปดาห์
“เราสามารถเริ่มดำเนินการผลิตได้ในเดือน พ.ค. เราจะเริ่มการผลิตภายใต้รัฐบาลใหม่ และเราหวังถึงอนาคตที่ดีขึ้นกับพวกเขา แม้ยังมีปัญหาอยู่บ้างกับคนท้องถิ่น” โฆษกบริษัทวานเป่า ของจีน กล่าว
“ยังมีการประท้วงอยู่บ้าง แต่วิธีจัดการต่อปัญหานี้เป็นงานของรัฐบาล มีเพียงพวกเขาเท่านั้นที่สามารถแก้ไขปัญหาได้” โฆษกบริษัทวานเป่า ระบุ
ซูจี กำลังแบกความหวังของชาติ หลังพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตยชนะการเลือกตั้งอย่างถล่มทลาย พรรคจะตั้งรัฐบาลขึ้นในเดือน เม.ย. อันเป็นขั้นตอนสุดท้ายของการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองอันซับซ้อน และยาวนานในประเทศที่ถูกปกครองโดยรัฐบาลเผด็จการทหารที่ยาวนานหลายทศวรรษ
พม่า ได้ดำเนินการปฏิรูปภายใต้การปกครองของรัฐบาลกึ่งพลเรือน ที่เข้าแทนที่รัฐบาลเผด็จการทหารในปี 2554 เปิดประตูให้แก่การลงทุนจากต่างชาติ
ประธานาธิบดีเต็งเส่ง ที่กำลังจะหมดวาระหน้าที่ ได้ระงับโครงการเขื่อนมูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์ที่จีนให้การสนับสนุนไม่นานหลังเข้ารับอำนาจ เป็นการส่งสัญญาณการปรับเปลี่ยนความสัมพันธ์ของประเทศกับปักกิ่ง ที่เคยเป็นเกราะกำบังของรัฐบาลเผด็จการทหารจากการถูกตะวันตกคว่ำบาตร
แต่โครงการโครงสร้างพื้นฐานสำคัญต่างๆ ยังคงดำเนินต่อไป รวมทั้งเหมืองเลตปะด่อง และท่อส่งน้ำมัน และก๊าซขนาดใหญ่ ที่ตัดผ่านพม่าจากชายฝั่งตะวันตกเฉียงใต้ไปสู่ชายแดนทางเหนือติดกับจีน
เหมืองเลตปะด่อง กลายเป็นข้อขัดแย้งอย่างรุนแรงนับตั้งแต่ปี 2555 เมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจพยายามที่จะเข้าสลายค่ายชุมนุมประท้วงด้วยการใช้ระเบิดควันบรรจุฟอสฟอรัสขาว ที่นำมาซึ่งความโกรธแค้นอย่างรุนแรงของประชาชน หลังทำให้ผู้ชุมนุมหลายสิบคนเป็นแผลไฟไหม้รุนแรง รวมทั้งพระสงฆ์อีกหลายรูป
ซูจี นำการสืบสวนอย่างเป็นทางการต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ที่ยิ่งสร้างความไม่พอใจให้แก่นักเคลื่อนไหวหลังมีคำแนะนำให้การก่อสร้างได้รับอนุญาตให้ดำเนินการต่อ
บริษัทวานเป่า ได้ออกมากล่าวปกป้องโครงการ และปฏิเสธการกระทำผิดต่างๆ และยังระบุเมื่อปีก่อนว่า พม่าจะได้รับภาษีจากโครงการปีละ 140 ล้านดอลลาร์
แต่การชุมนุมประท้วงยังคงดำเนินต่อ และการปราบปราม ที่รวมทั้งผู้ชุมนุมถูกยิงเสียชีวิตในเดือน ธ.ค.2557 ได้กระตุ้นให้เกิดการชุมนุมต่อต้านจีนในนครย่างกุ้ง และเมืองใหญ่อื่นๆ จนทำให้นักเคลื่อนไหวถูกจำคุกหลายราย.
.
.
.