MGRออนไลน์ -- เอฟ-35 "สเตลธ์" ยุคที่ 5 ยังมีปัญหามากมายที่แก้ไม่ตก และ งบประมาณก็บานปลายอย่างน่าใจหาย แต่สหรัฐต้องมองไปข้างหน้า สำหรับเครื่องบินรบยุคหน้า.. ยุคที่ 6 ซึ่งอาจจะไม่มีอะไรเหมือนเดิมอีก นอร์ธร็อปกรัมแมน (Northrop Grumman) บริษัทเทคโนโลยีกลาโหมชั้นนำอีกรายหนึ่ง ได้เปิดเผยรูปโฉมเครื่องบินรบยุคใหม่ในสัปดาห์นี้ .. เว็บไซต์ข่าวกลาโหมบางแห่งบอกว่า รูปร่างหน้าตาช่างละม้ายคล้ายคลึงกระเบนยักษ์สติงเรย์อย่างที่สุด
ต่างไปจาก F-35 ที่สร้างขึ้นมาเพื่อใช้ร่วมกันระหว่างสองเหล่าคือ กองทัพเรือกับกองทัพอากาศ แบบ "จ้อยท์-สไตร๊ก์ไฟเตอร์" แต่ออกมากลายเป็น 3 เวอร์ชั่นหลักๆ ซึ่งสร้างความยุ่งยากไม่เบา เครื่องบินรบยุคที่ 6 อาจจะสร้างขึ้นมาเจาะจงสำหรับกองทัพอากาศโดยเฉพาะรุ่นหนึ่ง แยกขาดจากกองทัพเรือซึ่งอาจจะต้องใช้ "สเตลธ์" อีกรุ่นหนึ่ง สื่อกลาโหมในสหรัฐ รายงานอ้าง พล.อ.ท.เจมส์ โฮล์ม (James "Mike" Holme) รองผู้บัญชาการกองทัพอากาศฝ่ายแผนการและจัดหา
เครื่องบินรบล่องหนยุคที่ 6 กำลังจะเข้าแทนที่ F-22 "แร็ปเตอร์" ของ ทอ. และ F/A-18 "ฮอร์เน็ต/ซูเปอร์ฮอร์เน็ต" ของกองทัพเรือ ในอีกประมาณ 20 ปีข้างหน้า แผนการจัดหาจะต้องเริ่มตั้งแต่บัดนี้ ซึ่งกระบวนการนี้จะเปลี่ยนไปจากเดิม
สัปดาห์นี้นอร์ธร็อปกรัมแมนได้เปิดเผยให้เห็นเค้าร่างของเครื่องบินรบล่องหนยุคที่ 6 สองรุ่น ที่สร้างขึ้นด้วยคอมพิวเตอร์ และว่ากันว่าตัวจริงก็จะออกมาประมาณนี้
.
.
ปี 2526 เมื่อกว่า 30 ปีก่อน ผู้ติดตามข่าวกลาโหมทั่วโลกพากันทึ่งที่ได้เห็นF-117 "เหยี่ยวราตรี" (Nighthawk) เครื่องบินรบล่องหนยุคที่ 5 ที่สหรัฐพัฒนาก่อนใครๆ ซ้ำยังออกแบบเป็นรูปทรงของนกชนิดหนึ่ง และ ต่อมาปี 2532 ก็ได้เห็น B-2 "สปิริต" (Spirit) เครื่องบินทิ้งระเบิดระยะไกลทางยุทธศาสตร์ ซึ่งเมื่อมองดูเผินๆ ก็จะเห็นเค้าโครงแบบของค้างคาวขณะร่อนอยู่ในอากาศ
เครื่องบินทิ้งระเบิดยุทธศาสตร์ยุคที่ 5 ของสหรัฐกลายเป็นเครื่องมือในเชิงป้องปราม (Deterence) ที่สำคัญ ควบคู่กับ B-52 รุ่นปู่ และ กองทัพอากาศสหรัฐกล่าวว่าจนถึงในขณะนี้ ก็ยังไม่มีระบบเรดาร์ของฝ่ายใดสามารจับ "ปิศาจ" B-2 ได้
วิดีโอที่บริษัทผู้ออกแบบนำออกเผยแพร่แสดงให้เห็นเครื่องบินสเตลธ์ยุคที่ 6 วิวัฒน์ไปอีกขั้นหนึ่ง ทั้งในด้านรูปร่างหน้าตา กับความเร็วระดับไฮเปอร์โซนิก (Hypersonic) หรือ หลายเท่าของความเร็วเสียง ถึงแม้ว่าจะยังไม่ทราบรายละเอียดอื่นใด ในเชิงสมรรถนะของเครื่องบินรบยุคหน้าในขณะนี้ก็ตาม
.
2
พล.อ.ท.โฮล์ม เปิดเผยอีกว่ากองทัพอากาศ ได้ศึกษาเกี่ยวกับ "สเตลธ์ยุคที่ 6" ตั้งแต่ปีที่แล้ว และ ได้จัดเงินเพื่อการศึกษาทดลองโครงการนี้ไว้ในปีงบประมาณ 2560 เป็นที่เรียบร้อยรวม 20.6 พันล้านดอลลาร์ และ ผูกพันไปจนถึงปีงบประมาณ 2561-62 อีกปีละประมาณ 13 ล้านดอลลาร์ สำหรับงานวิจัยและพัฒนา อีก 75 ล้านดอลลาร์จัดไว้ในช่วงปีเดียวกัน สำหรับงาน "นวัตกรรมและการทดลอง" โดยคาดว่าในปีสุดท้ายหรืออีก 3 ปี อาจจำเป็นต้องใช้ สำหรับการทดลองเครื่องบินสเตลธ์ยุคที่ 6
คณะทำงานเรื่องนี้มีตารางเวลานำเสนอแผนการทั้งหมด ต่อกองทัพอากาศได้ในช่วงฤดูใบไม้ผลิ คืออีกไม่กี่เดือนข้างหน้า เว็บไซต์มิลิทารีด็อทคอมรายงานอ้างนายทหารระดับสูงคนเดียวกัน
ปัจจุบัน F-35 ถูกสร้างขึ้นมาสำหรับทั้งกองทัพอากาศ กองทัพเรือ และ กองกำลังนาวิกโยธิน โดยมีคอนฟิกูเรชั่นแตกต่างกันออกไป ตามสภาพความต้องการในการใช้งาน เช่นของนาวิกโยธินจะเป็นรุ่นที่ใช้บนดาดฟ้าเรือจู่โจมยกพลขึ้นบก ที่มีรันเวย์สั้นกว่าบนเรือบรรทุกเครื่องบิน จึงต้องติดเครื่องยนต์ที่แตกต่างออกไป จัดคอนฟิกูเรชั่นให้บินขึ้นและลงในแนวดิ่งได้ แบบเดียวกับ "แฮริเออร์" ที่ใช้อยู่ในปัจจุบันเป็นต้น
แต่ที่เป็นเจ้าปัญหาไม่สิ้นสุดได้แก่เวอร์ชั่นสำหรับกองทัพเรือ ที่มีความต้องการพิเศษมากหมายหลายประการ นอกจากทางวิ่งที่สั้นกว่าบนบกแล้ว ยังมีเรื่องน้ำหนักการบรรทุก กับระบบอาวุธเฉพาะอื่นๆ เข้ามาเกี่ยวข้องอีกด้วย การพัฒนา F-35 เวอร์ชั้นนี้ใช้เวลานานที่สุด และ งบประมาณบนปลายมากที่สุด ทำให้โครงการ F-35 เป็นเครื่องบินรบราคาแพงที่สุด อย่างไม่เคยมีการก่อนสำหรับสหรัฐ
ไม่เพียงแต่กำลังรบทางอากาศเท่านั้น กองทัพเรือซึ่งโดยปรกติต้องการอาวุธยุทโธปกรณ์ทีมีความสลับซับซ้อนมากกว่า ยังได้จัดเตรียมเรือรบสำหรับยุคหน้าไว้พร้อมแล้ว เรือพิฆาตซูมวอลต์ (Zumwalt-class) ล่องหนทรงเตารีดติดปืนใหญ่ 155 มม. ออกแล่นทดสอบให้เห็นเป็นครั้งแรกเดือน ธ.ค.ที่ผ่านมา อีก 2 ลำในชั้นเดียวกันอยู่ระหว่างการต่อและก่อสร้าง.
.
.
.