รอยเตอร์ - สหประชาชาติ เผยว่า แม้การผลิตฝิ่นในพม่าจะอยู่ในระดับคงที่มาเป็นเวลา 3 ปีติดต่อกัน แต่ยังคงเป็นความท้าทายสำคัญต่อรัฐบาลของอองซานซูจี ที่จะเข้าบริหารประเทศในเดือน ก.พ.
พม่าผลิตฝิ่นราว 647 ตัน ในปี 2558 มากเป็นอันดับ 2 รองจากอัฟกานิสถาน ตามรายงานฉบับใหม่ของสำนักงานป้องกันยาเสพติดและปราบปรามอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (UNODC)
ตัวเลขดังกล่าวถือว่ายังทรงตัวจากปีก่อนหน้า ด้วยจำนวนพื้นที่รวมทั้งหมดที่มีการทำไร่ฝิ่นอยู่ที่ประมาณ 340,000 ไร่ ในปี 2558
เจเรมี ดักลาส ผู้แทน UNODC ประจำภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก กล่าวเตือนถึงการเรียกภาวะทรงตัวนี้ว่าเป็นความสำเร็จ
“การผลิตนับว่ายังอยู่ในระดับสูง และเกษตรกรพลัดถิ่นที่ไม่มีทางเลือกอาจหวนกลับไปปลูกฝิ่นอีก” เจเรมี ดักลาส กล่าว
พม่า เป็นผู้ผลิตรายสำคัญไม่เพียงแค่ฝิ่น และเฮโรอีนเท่านั้น แต่ยังรวมถึงยาบ้าด้วย
อุตสาหกรรมผิดกฎหมายนี้มีมูลค่าหลายล้านดอลลาร์ และถูกขับเคลื่อนโดยความยากจน ความขัดแย้ง และความต้องการของจีน
ยาเสพติดเป็นอีกหนึ่งประเด็นปัญหาสำหรับพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) ของซูจี ที่จะเข้าปกครองประเทศเร็วๆ นี้ หลังจากชนะการเลือกตั้งอย่างถล่มทลายในเดือน พ.ย.
“เธอมีงานใหญ่รออยู่ข้างหน้า มันไม่ใช่สิ่งที่สามารถแก้ไขได้ภายในวันเดียว” ดักลาส กล่าว
วิน เต็ง แกนนำอาวุโสของพรรค กล่าวว่า พรรคทราบถึงปัญหายาเสพติดนี้ แต่ในเวลานี้พรรคกำลังมุ่งมั่นเตรียมความพร้อมในการเปลี่ยนถ่ายอำนาจ จึงยังไม่สามารถหาโอกาสที่จะคิดถึงประเด็นดังกล่าวได้อย่างจริงจัง แต่ซูจี มักกล่าวถึงประเด็นยาเสพติดในการกล่าวปราศรัย
แม้จะอยู่ภายใต้รัฐบาล NLD กองทัพทหารพม่าจะยังคงควบคุมอย่างเป็นทางการเหนือกระทรวงกลาโหม กระทรวงกิจการชายแดน และกระทรวงมหาดไทย ซึ่งล้วนมีความสำคัญต่อความพยายามในการปราบปรามยาเสพติด
ยาเสพติดส่วนใหญ่ผลิตขึ้นตามพื้นที่ชายแดนที่ควบคุมโดยกองกำลังติดอาวุธชาติพันธุ์ หรือโดยกองทัพทหาร และกองหนุนที่เป็นพันธมิตร
สามเหลี่ยมทองคำ พื้นที่รอยต่อระหว่าง 3 ประเทศ คือ พม่า ลาว และไทย เป็นแหล่งผลิตฝิ่น 1 ใน 3 ของโลก โดยพื้นที่ปลูกฝิ่นในลาว ทรงตัวอยู่ที่ประมาณ 35,000 ไร่ ในปี 2558 ขณะที่ไทยมีเพียงไม่กี่ร้อยไร่ ตามการระบุของ UNODC
ฝิ่น และเฮโรอีนจากสามเหลี่ยมทองคำส่วนใหญ่เข้าไปที่จีน แต่ขณะเดียวกัน ก็มีแพร่หลายในพม่า ที่การใช้ยาเสพติดเป็นเรื่องปกติ และผู้ใช้ยาเสพติดด้วยการใช้เข็มฉีดยา หลายคนมีเชื้อเอชไอวี
ตำรวจพม่าเริ่มดำเนินการรณรงค์กำจัดฝิ่นเชิงรุกในปี 2555 หนึ่งปีหลังรัฐบาลกึ่งพลเรือนเข้าแทนที่รัฐบาลทหาร แต่ดักลาส จาก UNODC กล่าวว่า ผลจากการรณรงค์ยังเกิดขึ้นน้อย และเรียกร้องให้เพิ่มระดับโครงการของ UNODC ในพม่า ที่จะจัดหาแหล่งรายได้ทางเลือก เช่น การปลูกกาแฟ ให้แก่เกษตรกรผู้ปลูกฝิ่น.