เอเอฟพี/เอพี - สหรัฐฯ คลายข้อจำกัดทางการค้ากับพม่าเป็นการชั่วคราว ด้วยการอนุญาตการขนส่งสินค้าทั้งหมดผ่านทางท่าเรือ และสนามบินของพม่าเป็นเวลา 6 เดือน ในความพยายามที่จะส่งเสริมพรรคฝ่ายค้านหลังชนะการเลือกตั้งครั้งสำคัญของประเทศในเดือน พ.ย. เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ เผยเมื่อวันจันทร์ (7)
การเปลี่ยนแปลงนโยบายที่มีขึ้นหลังพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) ของซูจีชนะอย่างท่วมท้นในการเลือกตั้งอย่างเสรีทั่วประเทศเป็นครั้งแรกในรอบ 25 ปี จะนำไปใช้แม้แต่กับท่าเรือ และสนามบินที่ควบคุมโดยผู้ที่มีชื่ออยู่ในบัญชีคว่ำบาตรของสหรัฐฯ
เพื่อสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านไปสู่การปกครองระบอบประชาธิปไตยของพม่าหลังอยู่ภายใต้การปกครองของทหารนานหลายทศวรรษ สหรัฐฯ ได้เริ่มยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรต่อพม่าหลังรัฐบาลพลเรือนตั้งขึ้นในปี 2554 แต่ยังคงมาตรการคว่ำบาตรลงโทษต่อผู้ที่มีความสัมพันธ์กับกองทัพ
การดำเนินการของสำนักงานควบคุมทรัพย์สินในต่างประเทศ กระทรวงการคลังสหรัฐฯ มีขึ้นหลังมีข้อร้องเรียนจากธนาคารหลายแห่งที่ระบุว่า พวกเขาไม่สามารถดำเนินธุรกรรมทางการค้าที่ผ่านทางท่าเรือหลักของพม่าในนครย่างกุ้งได้ เพราะท่าเรือดังกล่าวดำเนินการโดย สตีเว่น ลอว์ นักธุรกิจที่มีชื่ออยู่ในบัญชีดำของสหรัฐฯ ผู้ซึ่งถูกกล่าวหาว่ามีความสัมพันธ์กับการค้ายาเสพติด
เจ้าหน้าที่ระดับสูงในฝ่ายบริหารของรัฐบาลโอบามา กล่าวว่า การผ่อนผันบทลงโทษนาน 6 เดือน มีขึ้นเพื่อช่วยกำจัดอุปสรรคทางการค้า และป้องกันธนาคารของสหรัฐฯ ถอนตัวออกจากตลาดพม่าเพราะความเสี่ยงที่จะละเมิดมาตรการคว่ำบาตร และต้นทุนการปฏิบัติตามกฎหมายภาษีที่เพิ่มขึ้น แต่บริษัทของสหรัฐฯ ยังคงถูกห้ามค้าขายโดยตรงกับบริษัทที่ติดบัญชีดำ ขณะที่กลุ่มสิทธิมนุษยชนคัดค้านการผ่อนผันนี้โดยระบุว่า เป็นการก้าวถอยหลัง
สตีเว่น ลอว์ เป็นผู้บริหารบริษัทในเครือของ Asia World กลุ่มธุรกิจยักษ์ใหญ่ของพม่าที่รุ่งเรืองขึ้นมาภายใต้การปกครองของอดีตรัฐบาลเผด็จการทหาร ที่ก่อตั้งขึ้นในปี 2535 โดย โล ซิง ฮาน พ่อของสตีเว่น ลอว์ ซึ่งกระทรวงการคลังสหรัฐฯ ระบุว่า เป็นหนึ่งในผู้ค้าเฮโรอีนคนสำคัญของโลก และพ่อลูกคู่นี้ถูกขึ้นบัญชี Specially Designated Nationals (SDN) ของกระทรวงการคลังในปี 2551
สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานเมื่อเดือนก่อนว่า ธนาคารสหรัฐฯ หลายแห่ง เช่น Citigroup, Bank of America และ PNC Financial เลี่ยงที่จะสนับสนุนการค้าพม่าหลังพบว่าท่าเรือ Asia World ที่เป็นหนึ่งในท่าเรือขนส่งสินค้าสำคัญที่สุดของพม่าควบคุมโดยนักธุรกิจที่มีชื่ออยู่ในบัญชีดำของสหรัฐฯ รายนี้
ผู้ส่งออกใช้บริการธุรกรรมระหว่างประเทศจากธนาคารเพื่อรับประกันว่าพวกเขาจะได้รับเงินหลังสินค้าจัดส่งถึง และการถอนตัวของธนาคารส่งผลให้การขนส่งสินค้าจากสหรัฐฯ เข้าสู่พม่าลดลงอย่างรวดเร็ว
“มันเริ่มบานปลาย เพราะไม่เพียงแค่ธนาคารสหรัฐฯ เท่านั้น แต่ยังรวมถึงผู้ส่งออกประเทศที่ 3 และสถาบันการเงินประเทศที่ 3 ที่เริ่มยุติการค้าทั้งเข้าและออกจากพม่า” เจ้าหน้าที่ระดับสูงของสหรัฐฯ กล่าว
เจ้าหน้ายังเตือนว่า แม้การเปลี่ยนแปลงนโยบายจะอนุญาตให้ดำเนินธุรกรรมการขนส่งสินค้าผ่านทางศูนย์กลางทางการค้าที่ติดบัญชีดำ แต่ธนาคารยังคงถูกห้ามดำเนินธุรกิจโดยตรงกับบริษัทที่ติดบัญชีดำ
ด้านเจ้าหน้าที่อีกรายหนึ่งกล่าวว่า ความเคลื่อนไหวในวันจันทร์จะช่วยส่งเสริมพรรคของอองซานซูจีในด้านเศรษฐกิจ ที่จะช่วยให้พรรคมีพื้นที่หายใจในช่วงไม่กี่เดือนข้างหน้าเมื่อพรรคตั้งรัฐบาล และการแช่แข็งธนาคารในด้านการค้าของพม่ากับตะวันตกจะส่งผลกระทบต่อพลเมืองพม่าเสียมากกว่า
“คุณสามารถคิดถึงชาวนาพม่าที่พยายามจะส่งออกข้าวจากท่าเรือ Asia World แต่การทำธุรกรรมทางการค้ากลับหยุดนิ่ง ท้ายที่สุดข้าวก็จะเน่าเสียอยู่ในท่าเรือ” เจ้าหน้าที่ กล่าว
เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ ระบุว่า ช่วงระยะเวลา 6 เดือนของการผ่อนผันนี้มีวัตถุประสงค์ที่จะให้เวลาแก่ฝ่ายบริหารในการประเมินผล และสร้างความยืดหยุ่นให้แก่การพิจารณาการต่ออายุมาตรการ.