เอพี - สหรัฐฯ กำลังเตรียมการที่จะแก้ไขมาตรการคว่ำบาตรทางการค้าต่อพม่าหลังธนาคารร้องเรียนว่าไม่สามารถทำการค้าทางการเงินผ่านท่าเรือหลักของพม่าได้เนื่องจากเป็นท่าเรือที่ดำเนินการโดยนักธุรกิจที่ถูกขึ้นบัญชีดำ
เจ้าหน้าที่กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ได้แสดงความเห็นต่อสภาคองเกรสเกี่ยวกับการแก้ไขนโยบาย ที่เจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหารระบุว่าอาจเห็นผลในช่วงสัปดาห์หน้า
ฝ่ายบริหารของรัฐบาลสหรัฐฯ กระตือรือร้นที่จะส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจกับพม่า ที่เพิ่งจัดการเลือกตั้งครั้งสำคัญไปเมื่อเร็วๆ นี้ แต่การแก้ไขมาตรการคว่ำบาตรอาจก่อให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากสมาชิกรัฐสภาสหรัฐฯ และกลุ่มสิทธิมนุษยชน
การปรับแก้จะเปิดทางให้ธนาคารสามารถดำเนินธุรกรรมที่เกี่ยวข้องการการค้าที่ผ่านทางท่าเรือสินค้าในนครย่างกุ้งซึ่งดำเนินการโดย สตีเว่น ลอว์ บุตรชายของเจ้าพ่อเฮโรอีนที่เสียชีวิตไปแล้ว ที่เป็นผู้บริหารบริษัท Asia World หนึ่งในกลุ่มธุรกิจยักษ์ใหญ่ของพม่าที่รุ่งเรืองขึ้นมาภายใต้การปกครองของอดีตรัฐบาลเผด็จการทหาร
สมาคมธนาคารเพื่อการเงินและการค้าและเคลียร์ริ่ง เฮ้าส์ ที่เป็นตัวแทนของธนาคารพาณิชย์ยักษ์ใหญ่หลายแห่งของโลกได้ร้องขอการแก้ไขมาตรการคว่ำบาตรต่อสำนักงานควบคุมทรัพย์สินในต่างประเทศของกระทรวงการคลัง ในหนังสือที่ออกเมื่อเดือนก.ค. ว่าพวกเขาต้องการที่พวกเขาเตือนว่าหากไม่มีการปรับแก้ การค้ากับพม่าอาจได้รับผลระทบที่ไม่ดี แต่คำร้องดังกล่าวเกิดขึ้นในช่วงเวลาสำคัญ
พม่ากำลังอยู่ในช่วงเวลาของการเปลี่ยนผ่านทางประวัติศาสตร์ไปสู่รัฐบาลที่นำโดยพลเรือน หลังตกอยู่ภายใต้การควบคุมของทหารนาน 5 ทศวรรษ การเลือกตั้งเมื่อวันที่ 8 พ.ย. ผ่านไปได้อย่างราบรื่น ด้วยพรรคฝ่ายค้านของอองซานซูจีได้ชัยชนะเหนือพรรครัฐบาลที่ทหารให้การสนับสนุน แต่รัฐบาลชุดใหม่จะเสร็จสมบูรณ์ก็ต่อเมื่อเดือนเม.ย. ซึ่งวอชิงตันยังไม่ต้องการที่จะปรับเปลี่ยนอิทธิพลที่มีต่อพม่าจนกว่าจะถึงเวลานั้น
ผู้ช่วยรัฐสภาที่รับฟังการบรรยายสรุปโดยกระทรวงการต่างประเทศในสัปดาห์นี้กล่าวว่า ฝ่ายบริหารไม่ได้เสนอที่จะถอนชื่อ สตีเว่น ลอว์ หรือ บุคคลใดก็ตามที่ถูกคว่ำบาตร ออกจากบัญชีดำและอนุญาตให้คนเหล่านั้นทำการค้าโดยตรงกับบริษัทของสหรัฐฯ ซึ่งนักเคลื่อนไหวสิทธิมนุษยชนแสดงความวิตกว่าการยกเว้นโทษในตอนนี้อาจถูกมองว่าเป็นการดำเนินการที่รีบเร่งและเป็นนโยบายคว่ำบาตรที่ประนีประนอม
"การคลายข้อจำกัดต่อนักธุรกิจที่ถูกขึ้นบัญชีดำของรัฐบาลสหรัฐฯ เพราะความเกี่ยวข้องของคนเหล่านั้นในการประกอบกิจการที่มีความผิดทางอาญาขนาดใหญ่ และสนับสนุนรัฐบาลเผด็จการทหารใช้อำนาจในทางมิชอบ ไม่ใช่เป็นความคิดที่ดีต่อการปรับปรุงเศรษฐกิจของพม่า" จอห์น ซิฟตัน จากฮิวแมนไรท์วอช กล่าว
บริษัท Asia World ก่อตั้งขึ้นในปี 2535 โดย โล ซิง ฮาน พ่อของสตีเว่น ลอว์ ที่กระทรวงการคลังสหรัฐฯ ระบุว่าเป็นหนึ่งในผู้ค้าเฮโรอีนคนสำคัญของโลก พ่อลูกคู่นี้ถูกขึ้นบัญชี Specially Designated Nationals (SDN) ของสำนักงานควบคุมสินทรัพย์ต่างชาติ กระทรวงการคลังสหรัฐ ในปี 2551 เจ้าหน้าที่ระดับสูง นักธุรกิจ และบริษัทหลายสิบรายชื่อที่เชื่อมโยงกับรัฐบาลเผด็จการทหารยังคงมีชื่ออยู่ในบัญชี SDN นี้ และถูกห้ามถือครองทรัพย์สินในระบบการเงินของสหรัฐฯ หรือทำธุรกิจกับบริษัทของสหรัฐฯ
บริษัท Asia World ได้สัมปทานให้เข้าบริหารท่าเรือ สร้างทางหลวง และควบคุมการดำเนินการสนามบินในระหว่างการปกครองของรัฐบาลเผด็จการทหาร และปัจจุบัน บริษัท Asia World Port Management Co. Ltd ที่เป็นบริษัทในเครือ ที่จัดการช่องทางที่มีประสิทธิภาพที่สุดในการนำสินค้าเข้ามาสู่พม่าทางทะเล โดยจัดการร้อยละ 60 ของตู้สินค้าที่เข้ามาในพม่าผ่านทางนครย่างกุ้ง
แม้จะมีทางเลือกท่าเรือน้ำลึกอย่างน้อยอีก 2 แห่ง ที่อยู่ในนครย่างกุ้งหรือใกล้นครย่างกุ้งจะถูกนำมาใช้ในการค้าระหว่างสหรัฐฯ และพม่า รวมทั้งท่าเรือที่ดำเนินการโดยบริษัท Hutchison Port Holdings Ltd ที่มีสำนักงานในฮ่องกง ห่างจากนครย่างกุ้งไปทางใต้ราว 25 กิโลเมตร แต่เมื่อเทียบกันแล้ว สิ่งอำนวยความสะดวกของ Asia World ในแง่ของสถานที่ตั้งและอุปกรณ์เครื่องมือต่างๆ นั้นดีกว่า
การค้าระหว่างสหรัฐฯ กับพม่ามีขนาดเล็กแต่ขยายตัวขึ้นเรื่อยๆ โดยในปี 2557 มูลค่าการค้าสองฝ่ายอยู่ที่ 185 ล้านดอลลาร์ และในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2558 มูลค่ารวมอยู่ที่ 306.1 ล้านดอลลาร์
ฝ่ายบริหารของโอบามาระงับข้อจำกัดทางการลงทุนและการค้าส่วนใหญ่ของสหรัฐฯ ต่อพม่า เมื่อ 3 ปีก่อน เพื่อเป็นรางวัลต่อความก้าวหน้าในการปฏิรูปเศรษฐกิจและการเมือง แต่สหรัฐฯ ระบุว่ายังต้องการที่จะเห็นการเปลี่ยนผ่านหลังการเลือกตั้งไปสู่รัฐบาลใหม่อย่างราบรื่น ก่อนที่จะเปลี่ยนแปลงแก้ไขใดๆ ก็ตามต่อมาตรการคว่ำบาตรที่ยังเหลืออยู่.