เอเอฟพี/ซินหวา - ผู้นำชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้ประกาศจัดตั้งกลุ่มเศรษฐกิจระดับภูมิภาคในปลายปีนี้ แต่นักการทูตยอมรับว่า กลุ่มเศรษฐกิจจะใช้เวลาอีกหลายปีก่อนที่วิสัยทัศน์ของการเป็นตลาดเดียวสามารถเป็นจริงได้
ในที่ประชุมประจำปีของกลุ่ม ซึ่งในปีนี้จัดขึ้นที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ ผู้นำชาติสมาชิกสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ได้ลงนามร่วมกันในปฏิญญากรุงกัวลาลัมเปอร์ 2015 ว่าด้วยการจัดตั้งประชาคมอาเซียน และปฏิญญากรุงกัวลาลัมเปอร์ว่าด้วยอาเซียนปี 2025 : มุ่งหน้าไปด้วยกัน ที่กลุ่มยกย่องว่าเป็นความสำเร็จครั้งสำคัญในกระบวนการรวมกลุ่ม
แต่นักการทูตยอมรับว่า ปฏิญญาที่ลงนามกันในวันนี้ไม่มีผลเชิงปฏิบัติ และมักถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าขาดความสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม และพลาดเส้นตายของตัวเองที่หลายปีก่อนอาเซียนได้ตั้งเป้าให้ปี 2558 เป็นปีที่จะเริ่มต้นการเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) การเป็นตลาดเดียวที่สินค้า ทุน และแรงงานที่มีทักษะสามารถเคลื่อนย้ายข้ามพรมแดนได้อย่างเสรี
นายกรัฐมนตรีนาจิบ ราซัค ของมาเลเซีย ที่เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมในปีนี้ เรียกร้องให้ผู้นำชาติต่างๆ เพิ่มความพยายามที่จะให้วิสัยทัศน์ดังกล่าวเป็นจริง
“ในทางปฏิบัติ เราได้กำจัดอุปสรรคภาษีระหว่างเราภายใต้เขตการค้าเสรีอาเซียน ที่ทำให้อุตสาหกรรมการผลิตของเราแข่งขันในตลาดโลกได้มากขึ้น และลดต้นทุนสำหรับทุกคน ในเวลานี้เราต้องทำให้มั่นใจว่าเราสร้างตลาดเดียว และฐานการผลิตอย่างแท้จริง ด้วยการเคลื่อนไหวของสินค้า และบริการที่เสรียิ่งขึ้น” นายกรัฐมนตรีนาจิบ ราซัค กล่าว
แม้ว่าแผนของอาเซียนได้แรงบันดาลใจจากยุโรป แต่เจ้าหน้าที่ยืนยันว่า พวกเขาต้องการที่จะรวมกลุ่มกันในวิถีทางที่เหมาะสมต่อสถานการณ์ของภูมิภาค
ผู้นำมาเลเซียยังระบุว่า จีดีพีของกลุ่มคาดว่าจะมากถึง 4.7 ล้านล้านดอลลาร์ ในปี 2563 และคาดกันว่า อาเซียนมีศักยภาพที่จะเป็นเศรษฐกิจที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 4 ของโลกในปี 2573 อีกเพียง 15 ปี นับจากนี้.