ASTVผู้จัดการออนไลน์ -- กลุ่มซาบแห่งสวีเดนได้เสนอแพ็กเกจการป้องกันทางอากาศแก่รัฐบาลอินโดนีเซีย ซึ่งไม่ใช่เป็นการเสนอขายเพียงแค่เครื่องบินรบทันสมัย JAS39 "กริพเพน" (Gripen) เท่านั้น หากเป็นการเสนอระบบป้องกันทางอากาศทั้งระบบ ซึ่งรวมทั้งระบบสนับสนุน ระบบการเชื่อมสัญญาเรดาร์ และ สัญญาณอิเล็กทรอนิกส์กับแพล็ตฟอร์มต่างๆ ของกองทัพอินโดนีเซีย พร้อมถ่ายทอดเทคโนโลยีเต็ม และ ยังให้ประกอบเองในประเทศอีกด้วย
สื่อในอินโดนีเซียรายงานเรื่องนี้ปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา อ้างนางโจฮันนา บริสมาร์ สกูก (Johanna Brismar Skoog) เอกอัครราชทูตสวีเดนประจำกรุงจาร์ตา ซึ่งจัดการประชุมพบปะสื่อ เพื่อบรรยายสรุปเรื่องนี้
ฝ่ายสวีเดนได้ยกให้อินโดนีเซีย เห็นตัวอย่างการประสบความสำเร็จในไทย บราซิล สาธารณรัฐเช็ค ซึ่งกลุ่มซาบถ่ายทอดเทคโนโลยีให้เต็มพิกัด ตามความตกลงที่เซ็นกัน ทั้งยังชี้ให้เห็นประสิทธิภาพของเครื่องบินรบเครื่องยนต์เดี่ยว ที่ช่วยประหยัด โดยมีค่าใช้จ่ายต่อเที่ยวบินต่ำสุด ต่ำกว่า Su-35 ที่ผลิตในรัสเซียถึงสิบเท่าตัว และ ค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาต่ำกว่ามากมายอีกด้วย
การรุกอินโดนีเซียอย่างเป็นระบบครั้งนี้มีขึ้น หลังจากเมื่อต้นเดือน ส.ค. ประเทศนี้ ประกาศจัดซื้อ Su-35 เครื่องบินรบยุคที่ 4++ ที่ผลิตโดยกลุ่มซูคอย (Sukhoi) จำนวน 16 ลำ โดยซื้อแบบค่อยเป็นค่อยไป ตามแต่งบประมาณจะเอื้ออำนวย
กองทัพอากาศอินโดนีเซีย กำลังจัดหาเครื่องบินรบยุคใหม่ เพื่อนำเข้าประจำการแทน F-5E/F"ไทเกอร์ 2" (Tiger II) จำนวน 16 ลำ ซึ่งจริงๆ แล้ว ปลดระวางประจำการ ไปตั้งแต่ปี 2548 แต่ยังคงใช้งานต่อไป ในฐานะเครื่องบินรบสำรองของกองทัพอากาศ และ คราวนี้ถึงเวลาจะต้องปลดจริงๆ
โซลูชั่นที่ฝ่ายสวีเดนเสนอ ประกอบด้วยระบบเรดาร์อีริอาย (Erieye) บนเครื่องบิน เพื่อภารกิจเตือนภัยล่วงหน้า และ ควบคุม (AEW&C) สำหรับการบินตรวจการณ์น่านน้ำ รวมทั้งระบบควบคุมและอำนวยการบนฝั่ง ระบบดาตาลิงค์ทางยุทธวิธี เพื่อเชื่อมต่อกับหลากหลายแพล็ตฟอร์ม ทั้งเครื่องบินรบ เรือรบ และ หน่วยรบทางบก กับ ความร่วมมือทางอุตสาหกรรม และการถ่ายทอดเทคโนโลยี ตลอดจนการผลิตเองภายในประเทศ ซึ่งจะช่วยสร้างงานอีกนับพันๆ ตำแหน่ง หนังสือพิมพ์จาการ์ตาโพสต์รายงาน
อย่างไรก็ตาม ไม่มีการพูดถึงตัวเลขใดๆ เกี่ยวกับข้อเสนอของฝ่ายสวีเดน รวมทั้งจำนวนเครื่องบินรบ JAS39 ที่เกี่ยวข้อง
"เรามีประวัติที่ดีในการถ่ายทอดเทคโนโลยีกับความร่วมมือด้านอุตสาหกรรม" เอกอัครราชทูตสวีเดนกล่าว พร้อมชี้กรณีตัวอย่างในบราซิล เช็ค ฮังการี แอฟริกาใต้ และ ประเทศไทย
"เรามีทั้งขีดความสามารถ และ สมรรถนะที่ดีที่สุดในการป้องกันทางอากาศ ที่จะช่วยให้คุณควบคุมดินแดนของคุณ" หนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษของอินโดนีเซีย อ้างเอกอัครราชทูตสวีเดน ซึ่งกล่าวด้วยว่า ไม่เพียงแต่ระบบทั้งหมด จะใช้ในด้านการกลาโหมเท่านั้น หากยังใช้ประโยชน์ทางพลเรือนได้อีกมากมาย รวมทั้งการสอดส่องเรือประมงผิดกฎหมาย การลักลอบขนสินค้า และ โจรสลัดด้วย
ผู้แทนกลุ่มซาบประจำอินโดยนีเซีย ปีเตอร์ คาร์ลกวิส (Peter Carlqvist) ได้อ้างผลการศึกษาวิจัยโดนเจนส์ดีเฟ้นซ์ สื่อกลาโหมที่เชื่อถือได้มากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ที่ระบุว่าค่าใช้จ่ายในการบินต่อชั่วโมงของกริพเพนนั้นต่ำที่สุด เมื่อเทียบกับคู่แข่งอื่นๆ คือ 4,700 ดอลลาร์ ขณะที่เครื่องบินรบขนาดเบาในระดับเดียวกัน เช่น F-16 ของสหรัฐ 7,700 ดอลลาร์ต่อชั่วโมง และ จะเพิ่มขึ้นมากมายเมื่อเทียบกับ เครื่องบินรบสองเครื่องยนต์ทั่วไป ที่มีขนาดใหญ่ขึ้น เช่น ราฟาล (Rafale) ของบริษัทดาซอลต์ ฝรั่งเศส ชั่วโมงละ 16,500 ดอลลาร์ และ ยูโรไต้ฝุ่น ของอังกฤษ 18,000 ดอลลาร์ต่อชั่วโมง
ผู้แทนคนเดียวกันนี้กล่าวว่า Su-35 ที่อินโดนีเซีย แสดงความสนใจเป็นตัวเลือกนั้น มีค่าใช้จ่ายต่อชั่วโมงบินสูงที่สุดคือ ระหว่าง 40,000-50,000 ดอลลาร์ สูงกว่ากริพเพน 10 เท่าตัวเลยทีเดียว ซึ่งเงินส่วนต่างนี้ สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้มากมาย ทั้งทางด้านการป้องกันประเทศ การพัฒนาประเทศด้านอื่นๆ และ ในการศึกษาด้วย
นายคาร์ลกวิสกล่าวอีกว่า กลุ่มซาบมีวิถีปฏิบัติในการถ่ายทอดเทคโนโลยีให้แก่หุ้นส่วน 2 ประเภท คือ ถ่ายทอดโดยตรง 35% และ ถ่ายทอดให้ทางอ้อมอีก 50% สิ่งที่อินโดนีเซียจะได้รับ ยังรวมทั้งเทคโนโลยีการออกแบบเครื่องบินรบ กับการสร้างข่ายดาตาลิงค์ พร้อมกับการพัฒนารหัสด้วยตัวเอง ซึ่งจะทำให้ มีระบบเป็นของตนเอง และ สามารถควบคุมทั้งระบบได้ด้วยตัวเองทั้งหมด.