การฉลองที่ใหญ่กว่าจัดขึ้นที่ฐานทัพอากาศดักซ์ฟอร์ด (Duxford) สปิตไฟร์ เฮอริเคน และเครื่องบินอื่นๆ จำนวน 17 ลำ ได้ขึ้นบินโชว์ คล้ายกับเหตุการณ์เมื่อวันที่ 15 ก.ย.2983 สนามบินแห่งนี้เป็นที่ตั้งกองบิน 19 ที่มีอายุเก่าแก่กว่า 100 ปี เป็นกองบินแรกที่ได้รับสปิตไฟร์เข้าประจำการ และอยู่คู่กันตลอดมา ที่นี่เป็นที่ตั้งพิพิธภัณฑ์ The Battle of Britain อีกแห่งหนึ่ง มีการแสดงเกียรติประวัติของสปิตไฟร์อีกด้วย. |
ASTVผู้จัดการออนไลน์ - เครื่องบินขับไล่แบบสปิตไฟร์ (Spitfire) อันลือชื่อ ซึ่งกลายเป็นสัญลักษณ์หนึ่งในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้ขึ้นบินอีกครั้งหนึ่งสัปดาห์ที่ผ่านมา ในช่วงเดือนที่อังกฤษกำลังจัดเฉลิมฉลองรำลึกเหตุการณ์ที่เรียกว่า The Battle of Britain หรือ สงครามป้องกันเกาะอังกฤษให้พ้นจากการทำลายของทัพนาซีเยอรมัน ที่นักประวัติศาสตร์ถือเป็นการศึกทางอากาศครั้งสำคัญที่สุดของโลก และมีส่วนสำคัญยิ่งทำให้ฝ่ายสัมพันธมิตรสามารถพลิกสถานการณ์กลับมาเป็นฝ่ายชนะนาซี
สปิตไฟร์ ได้กลายเป็นสมบัติแห่งชาติที่ทั่วทั้งเกาะอังกฤษต่างภาคภูมิใจ พยายามเก็บรักษาลำที่ยังเหลืออยู่ บูรณะซ่อมแซมให้คงอยู่คู่ประวัติศาสตร์ ซึ่งในปัจจุบันมีที่ยังบินได้อยู่ไม่ถึง 30 ลำ และ ข่าวการเดินทางมาขุดค้นหาสปิตไฟร์ ที่เชื่อกันว่าถูกฝังเอาไว้ในพม่ากว่า 30 ลำ ในช่วงปี 2555-2556 ก็ได้กลายเป็นเหตุการณ์หนึ่งที่ได้รับความสนใจจากการเฝ้าติดตามจากชาวอังกฤษ และสื่อในประเทศต่างๆ ทั่วโลก และสำนักข่าวตะวันตกค่ายต่างๆ ได้รายงานเรื่องนี้อย่างกว้างขวาง
สงครามป้องกันเกาะอังกฤษ ซึ่งในเวลาต่อมาได้มีผู้นำไปสร้างเป็นภาพยนตร์ โดยตั้งชื่อตรงกับเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ว่า The Battle of Britain หรือ “สงครามอินทรีเหล็ก” แสดงให้เห็นการต่อสู้ตีโต้ การโหมโจมตีทิ้งระเบิดของกองทัพอากาศนาซี (Luftwaffe) ซึ่งเริ่มขึ้นในเดือน ก.ค.2483 จนถึงเดือน ต.ค.ปีเดียวกัน และได้รับการชื่นชมว่า เป็นภาพยนตร์สงครามทางอากาศดีที่สุดเท่าที่เคยสร้างกันมา
พิธีเชิดชูเกียรติเกียรติและสดุดีนักบิน จำนวน 2,936 คน ที่เข้าร่วมการต่อสู้ป้องกันกรุงลอนดอน จัดขึ้นในมหาวิหารเวสต์มินสเตอร์ (Westminster Abbey) วันอาทิตย์ 20 ก.ย.ที่ผ่านมา โดยเจ้าฟ้าชายชาร์ลส เจ้าชายแห่งเวลส์ มกุฎราชกุมารแห่งอังกฤษเสด็จเป็นประธานในพิธี มีการจัดบินโชว์ของสปิตไฟร์ผ่านมหาวิหารแห่งนี้ เป็นเวลา 2 วันติดต่อกัน ทั้งการบินเข้าขบวนกับเครื่องบินรบรุ่นอื่นๆ ที่ร่วมยุคสมัย และเครื่องบินรบยุคปัจจุบันของกองทัพอากาศ
การแสดงโชว์ของสปิตไฟร์ ยังจัดขึ้นที่ฐานทัพอากาศอีก 3 แห่ง รอบๆ กรุงลอนดอน ตั้งแต่วันที่ 15 ก.ย.เป็นต้นมา ซึ่งทั้งหมดเกี่ยวข้องโดยตรงใน “สงครามอินทรีเหล็ก” สงครามที่มีนักบินอังกฤษ กับนักบินชาติพันธมิตรอื่นๆ พลีชีพในการสู้รบทั้งสิ้น 544 คน ในนั้นเป็นนักบินโปแลนด์ 143 คน ยังมีนักบินอีก 791 คน เสียชีวิตจากการบาดเจ็บ ล้มป่วย และด้วยสาเหตุอื่นๆ ก่อนสงครามโลกที่ 2 จะยุติลง
ปัจจุบัน มีนักบินรุ่นสงครามอินทรีเหล็ก มีชีวิตอยู่เพียง 7 คนเท่านั้น ทั้งหมดได้เข้าร่วมในพิธีเชิดชูเกียรติในวันอาทิตย์ที่ผ่านมา กองทัพอากาศสหราชอาณาจักร ระบุในรายงานชิ้นหนึ่งที่นำขึ้นโพสต์ในเฟซบุ๊กวันเมื่อจันทร์
อังกฤษ ได้ถือเอาเดือน ก.ย.2558 จัดรำลึก The Battle of Britain เนื่องจากวันที่ 15 ก.ย. เมื่อ 75 ปีที่แล้ว ฝ่ายนาซีได้โหมโจมตีครั้งใหญ่อีกครั้งหนึ่ง โดยมีเป้าหมายทำลายศูนย์บัญชาการสงครามทางอากาศ และทำลายแหล่งผลิตเครื่องบินรบให้ราบคาบ แต่เป็นความผิดพลาด ผู้รุกรานตกเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ย่อยยับ จนกระทั่งการยุติการโจมตีเกาะอังกฤษอย่างสิ้นเชิงในอีก 3 สัปดาห์ถัดไป
.
Spitfire flight over Westminster Abbey |
.
.@RAFBBMF flypast, led by @Dunc_Mason, marks #BoB75 service, with two Hurricanes and four Spitfires over @wabbey pic.twitter.com/dyAXC6t1xZ
— Royal Air Force (@RoyalAirForce) September 20, 2015
.
*จุดเปลี่ยนสงครามโลกครั้งที่ 2*
ตามรายงานของพิพิธภัณฑ์กองทัพอากาศฯ หลังจากถูกโจมตีอย่างหนักในเดือน ส.ค. อังกฤษสามารถกลับมาตั้งหลักได้ ฟื้นตัวได้ตั้งแต่ต้นเดือน การผลิตเครื่องบินขับไล่ กับเครื่องบินทิ้งระเบิดยังดำเนินต่อไป และยังสามารถระดมนักบินอาสาสมัครจากชาติพันธมิตรต่างๆ ได้มากมาย หลายคนไปจากสหรัฐฯ และแคนาดา จนอยู่ในสภาพเข้มแข็งที่สุด นับตั้งแต่ The Battle of Britain เริ่มขึ้นในเดือน ก.ค.
การโจมตีทางอากาศของนาซีระลอกนี้ ยังแบ่งเป็น 2 ทาง ซึ่งได้กลายเป็นความผิดพลาดทางยุทธวิธีอีก ในขณะนั้นอังกฤษมีกำลังทางอากาศ เป็นเครื่องบินขับไล่ถึง 17 กองบิน สามารถสับเปลี่ยนกันขึ้นต่อกรกับข้าศึกได้จากทุกทางแบบสู้ตายถวายชีวิต
15 ก.ย. เป็นวันที่ชาวลอนดอน มองเห็นการพันตูทางอากาศ “ด็อกไฟต์” ได้ชัดเจนที่สุด ได้เห็นการสูญเสียเครื่องบินของฝ่ายนาซีหนักหน่วงที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมสเซอร์ชมิต (Messerschmidt) จุงเคอร์ (Junker) และ ไฮน์เคล (Heinkel) ที่ใช้เป็นกำลังหลัก เป็นการสูญเสียครั้งใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่วันที่ 18 ส.ค. ที่ฝูงบินสปิตไฟร์ กับเฮอร์ริเคน (Hurricane) ไล่ยิงเมสเซอร์ชมิต กับเครื่องบินทิ้งระเบิดนาซีแบบต่างๆ ตก 71 ลำในวันเดียว อีก 30 ลำ เสียหายหนัก นักบินกับลูกเรือเสียชีวิต 94 คน 25 คนบาดเจ็บ อีก 94 คนถูกจับเป็นเชลยศึก
อังกฤษ เรียกวันที่ 18 ส.ค.2493 เป็น Hardest Day หรือ “วันหนักหน่วงที่สุด” ในสงครามอินทรีเหล็ก เนื่องจากต้องต่อสู้โดยลำพัง ในขณะที่ฝ่ายสัมพันธมิตรกำลังเพลี่ยงพล้ำในการศึก ทั้งในยุโรปตะวันตก และในสแกนดิเนเวีย แต่อังกฤษไม่ยอมก้มหัวให้แก่ฮิตเลอร์ ที่ชักชวนให้เจรจา ไปสู่การยอมแพ้
บันทึกของพิพิธภัณฑ์กองทัพอากาศฯ ระบุอีกว่า การทิ้งระเบิดในวันที่ 15 ก.ย. ฝูงบินของนาซีถูกสปิตไฟร์ กับเฮอริเคนโจมตีจนแตกฝูงกระจาย ทิ้งระเบิดพลาดเป้าหมายทั้งในลอนดอน พอร์ตแลนด์ และเซาท์แธมตัน สร้างความสูญเสียไม่มาก การสู้รบในวันที่ 15 ก.ย.2483 จึงถือเป็นเหตุการณ์สำคัญที่สุดใน The Battle of Britain ซึ่งได้ช่วยเปลี่ยนรูปโฉมสงครามโลกครั้งที่ 2 นำไปสู่ชัยชนะของฝ่ายสัมพันธมิตร
ภาพยนตร์ “สงครามอินทรีเหล็ก” เข้าฉายในสหรัฐฯ เมื่อปี 2512 เชิดชูบทบาทของเหล่านักบิน กับสปิตไฟร์ และเฮอริเคน ในสงคราม มีการรวบรวมดารานักแสดงชั้นนำแห่งยุค ทั้งชายและหญิงเข้าร่วมเป็นจำนวนมาก ส่วนใหญ่ถึงแก่กรรมแล้ว ผู้ที่ยังมีชีวิตอยู่ในปัจจุบัน ยังรวมทั้ง ไมเคิล เคน เอ็ดเวิร์ด ฟ็อกซ์ คริสโตเฟอร์ พลัมเมอร์ และเอียน แม็คเชน ด้วย
ถึงแม้ว่าข้อมูลทางประวัติศาสตร์จะระบุว่า เฮอร์เคนซึ่งสร้างก่อนจะรับศึกหนักยิ่งกว่าสปิตไฟร์ และทำลายเครื่องบินของนาซีได้มากกว่าสปิตไฟร์ก็ตาม แต่สปิตไฟร์ได้ชื่อเป็นเครื่องบิน “เก่งที่่สุด” และ “ได้รับความนิยมชมชอบมากที่สุด” ในการศึกครั้งนั้น
.
.
|
.
ทั้ง 2 รุ่นมีลักษณะคล้ายกันหลายประการ เฮอริเคน พัฒนาต่อเนื่องมาตั้งแต่ปลายสงครามโลกครั้งที่ 1 และเป็น “โมโนเพลน” คือ เครื่องบินชั้นเดียวรุ่นแรก โครงเป็นเหล็กลำตัวท่อนหลังทำด้วยไม้ มีน้ำหนักมาก แต่ใช้เครื่องยนต์แบบเดียวกับสปิตไฟร์ ซึ่งสร้างขึ้นทีหลัง ลำตัวหุ้มด้วยอะลูมิเนียม เบา และบินได้เร็วกว่า แคล่วคล่องว่องไวกว่าเฮอริเคน เร็วกว่าเมสเซอร์ชมิตคู่ปรับ ซึ่งเป็นข้อได้เปรียบสำคัญยิ่งในการรบประชิดกลางอากาศ
ทั้ง 2 รุ่นแตกต่างกันโดดเด่นในหลายจุด สังเกตง่ายที่สุดคือ ปลายปีกของสปิตไฟร์เป็นรูปมนโค้ง ของเฮอริเคนดูตัดเป็นเหลี่ยมมากกว่า หลังของเฮอริเคนมีลักษณะ “ค่อม” ต่อจากห้องนักบิน ของสปิตไฟร์เป็นหลังตรง และเป็นเครื่องบินที่นั่งเดี่ยวทุกลำ นอกจากบางลำที่เจ้าของดัดแปลงให้เป็น 2 ที่นั่งในภายหลัง
กองทัพอากาศอังกฤษเคยจัดสำรวจความเห็นของนักบินทุกคนที่เข้าร่วมในสงครามอินทรีเหล็ก และผลออกมาก็ปรากฏว่า นักบินชอบขับสปิตไฟร์มากกว่าเฮอร์ริเคน
ย้อนกลับเข้าไปในพม่า เมื่อต้นปี 2555 เกษตรกรในอังกฤษคนหนึ่ง ประกาศแผนการค้นหาสปิตไฟร์ โดยเจ้าตัวกล่าวว่า ได้เดินทางเข้าออกพม่าหาเบาะแสมาเป็นเวลาถึง 15 ปี จนกระทั่งได้ข้อมูลที่น่าเชื่อว่า มีหลายสิบลำถูกฝังเอาไว้ตั้งแต่ 67 ปีก่อน ทั้งหมดถูกถอดเป็นชิ้นบรรจุลงในลังไม้ ส่งทางเรือไปยังท่าเรือย่างกุ้งอย่างลับๆ เพื่อใช้ต่อสู้กับกองทัพพระจักรพรรดิญี่ปุ่น
สงครามยุติลงเสียก่อนอังกฤษไม่นำกลับประเทศ เพราะมีค่าใช้จ่ายสูง จึงต้องฝังเอาไว้อย่างลับๆ ที่สนามบินกรุงย่างกุ้ง กับสนามบินมี๊ตจีนา ทางตอนเหนือของพม่า เป็นจำนวนกว่า 30 ลำ แต่กองทัพอากาศสหราชอาณาจักรปฏิเสธเรื่องนี้ตลอดมา แม้ว่าในช่วงสงครามจะเคยส่งสปิตไฟร์จำนวนหนึ่งจากอาณานิคมอินเดียไปปฏิบัติการในพม่าก็ตาม
การค้นหาสปิตไฟร์ในพม่า เริ่มขึ้นในปลายปีเดียวกัน โดยมีสปอนเซอร์หลายราย มีการระดมเครื่องมืออุปกรณ์ทันสมัย ถ่ายทำภาพยนตร์สารคดีเอาไว้เป็นเรื่องเป็นราว ถึงแม้นักวิชาการพม่าเองจะยืนยันว่า ไม่เคยมีบันทึกทางประวัติศาสตร์ใดๆ และไม่ปรากฏมีหลักฐานทางโบราณคดีใดๆ ตลอด 6 ทศวรรษที่ผ่านมา ที่บ่งชี้ว่าอาจจะมีเครื่องบินฝังอยู่ในดินแดนพม่าก็ตาม
การขุดค้นดำเนินมาจนถึงเดือน ม.ค.2556 แต่ยังไม่พบอะไร ไม่พบร่องรอยใดๆ ของสปิตไฟร์ และในเดือน ก.พ. จึงยุติลง หลังจาก ทีมงานมีความเห็นต่างกัน โครงการจึงล้มเหลว หรืออย่างน้อยที่สุดก็ยังไม่พบในขณะนี้ ซึ่งเรื่องก็เงียบหายไปตั้งแต่นั้น.