ASTVผู้จัดการออนไลน์ - สื่อทางการรัสเซียออกข่าว พม่าได้ขอรายละเอียดเกี่ยวกับการจัดหายานยนต์โจมตีของทหารราบทันสมัยที่สุดรุ่นหนึ่งของโลก ที่มีการพัฒนามาต่อเนื่องยาวนาน และยังคงใช้ประจำการในกองทัพบกรัสเซียจนถึงปัจจุบัน บริษัทผู้ผลิตเปิดเผยว่า พม่ากับโมร็อกโก กำลังจะเป็นลูกค้ารายต่อไป โดยจำนวนจัดซื้อรวมกันอาจจะมีประมาณ 60 คัน
เจ้าหน้าที่รัสเซียเปิดเผยเรื่องนี้ระหว่างงานนิทรรศการอาวุธประจำปี 2558 ที่เมืองนิซนีตากิล (Nizhny Tagil) ในแคว้นอูราล ซึ่งเป็นงานแสดงอาวุธยุทโธปกรณ์สำหรับกองทัพบก เรื่องนี้ยังถูกเปิดเผยขึ้นมาขณะพม่ากำลังจัดหาอาวุธยุทโธปกรณ์เพื่อพัฒนาขีดความสามารถในการป้องกันประเทศอย่างต่อเนื่อง
ตามรายงานของสำนักข่าวโนวอสติ (RIA Novosti) บริษัทแทร็กเตอร์แพลนต์ (Tractor Plant) ได้รับการติดต่อจากคณะผู้แทนพม่า เพื่อจัดหายานโจมตีสะเทินน้ำสะเทินบกหุ้มเกราะ แบบ BMP-3 โดยเจ้าหน้าที่บริษัทนี้กล่าวว่า ยังไม่สามารถเปิดเผยตัวเลขแน่นอนได้ แต่ได้มีการพูดคุยกัน ทั้งพม่า และโมร็อกโกอาจจะรวมกันราว 3 กองพัน
โฆษกบริษัทคูร์กันมาช (Kurganmashzavod) ซึ่งเป็นผู้ผลิตยานยนต์โจมตี BMP-3 กล่าวว่า ในขณะนี้ยังไม่ได้เริ่มเจรจากัน แต่อยู่ในขั้นตอนเริ่มต้น นอกจากนั้น ฝ่ายพม่าเองยังได้ให้ความสนใจ BMP-3F อันเป็นรุ่นสำหรับภารกิจยกพลขึ้นบกอีกด้วย
แท็กเตอร์แพลนท์ ซึ่งเป็นแขนงหนึ่งของคูร์กันมาช เป็นอีกบริษัทหนึ่งที่ไปเปิดคูหาแสดงในงานนิทรรศการอาวุธรัสเซีย (Russia Arms Exhibition 2015) ระหว่าง 9-12 ก.ย.ที่ผ่านมา ที่เมืองนิซนีทากิล ซึ่งเป็นงานแสดงระหว่างประเทศที่จัดขึ้นทุกๆ 2 ปี และ ในปีนี้ได้นำ BMP-3 “ดรากอน” (Dragon) ออกแสดงเป็นครั้งแรก เป็นรุ่นใหม่ล่าสุด ที่ป้อมปืนปฏิบัติการโดยอัตโนมัติ แบบเดียวกันกับรถถัง T-14 “อาร์มาตา” (Armata) โดยแลกกับการติดอาวุธหลักเล็กลง คือ เป็นปืนใหญ่ ขนาด 57 มม. แติติดตั้งได้ระบบอัตโนมัติรอบตัว และหุ้มเกราะ ERA รอบคัน
ถึงแม้จะมีรายละเอียดที่ต้องพูดถึงมากมาย แต่หากจะอธิบายให้สั้นที่สุด ให้เห็นภาพมากที่สุด ยานโจมตี BMP-3 ก็คือ “รถถังย่อส่วน” นั่นเอง เนื่องจากเป็นยานเกราะอีกชนิดหนึ่ง ที่สามารถใช้เป็นปลายหอกโจมตีศัตรูได้เช่นเดียวกับรถถัง แต่เนื่องจากน้ำหนักเบากว่าคือ เพียง 18.9 ตัน ทำให้สามารถเข้าสู่พื้นที่เป้าหมายได้เกือบจะทุกจุด ที่รถถังหลักรุ่นต่างๆ ซึ่งมีน้ำหนักตั้งแต่ 45-65 ตัน ไม่สามารถเข้าถึง นอกจากนั้น ก็ยังพัฒนาให้บางรุ่น “ว่ายน้ำ” ได้ ในขณะที่รถถังนั้น “จมน้ำ”
.
.
.
.
.
และป้อมปืนของ BMP-3M/U ที่ติดปืนใหญ่ 100 มม. สามารถหมุนรอบตัวแบบ 360 องศาได้ เช่นเดียวกับป้อมปืนของรถถังหลัก
รถโจมตีในครอบครัว BMP ประจำการในกองทัพสหภาพโซเวียตมาตั้งแต่ยุคสงครามเย็น สร้างออกมาหลายรุ่น คือ BMP-1 BMP-2 และ BMP-3 ด้วยขนาด น้ำหนัก และติดอาวุธที่แตกต่างกันไป สำหรับ BMP-3 เข้าประจำการมาตั้งแต่ปลายทศวรรษที่ 1980 จาก BMP-3 IFV รุ่นพื้นฐาน กลายมาเป็น รุ่น M/U/F ในปัจจุบัน และในช่วงปีหลังนี้ กูร์กันมาช ยังผลิตยานยนต์หุ้มเกราะแบบอื่นๆ ออกมาอีกจำนวนมากบนแพล็ตฟอร์ม BMP-3
ตามข้อมูลในเว็บไซต์บริษัทผู้ผลิต BMP-3M/U รุ่นปัจจุบัน หุ้มเกราะอะลูมิเนียมอัลลอยรอบคัน สามารถติด “เกราะปฏิกิริยา” หรือ ERA แบบรถถังหลัก เพื่อต่อต้านจรวดยิงรถถัง หรือจรวดอาร์พีจี นอกจากปืนใหญ่หลักที่ใช้เป็นท่อยิงจรวดนำวิถีต่อสู้รถถัง (ATGM) แบบ 9M119 “บาสเตียน” (Bastion) ในขณะเดียวกัน ก็ยังติดปืนใหญ่ 30 มม.แบบยิงอัตโนมัติอีก 1 กระบอก มีปืนกล 7.62 มม. เป็นอาวุธสำรองอีก 3 กระบอก ประกอบด้วยพลขับ ผู้บังคับ พลอาวุธ และยังมีที่นั่งสำหรับทหารอีก 7 คน
BMP-3M/U ติดเครื่องยนต์มาตรฐาน เป็นเครื่องยนต์ดีเซลขนาด 500 แรงม้า ทำความเร็วสูงสุดบนท้องถนนได้ 70 กม./ชม และ 45 กม./ชม. ตามทางออฟโรด และ 10 กม./ชม. ขณะ “ว่ายน้ำ” สำหรับ BMP-3F มีระยะปฏิบัติการราว 600 กม. และยังมีรุ่นอัปเกรดใช้เครื่องยนต์ 650 แรงม้า ที่วิ่งได้เร็วขึ้น
ตามรายงานของโนวอสติ เดือน พ.ค.ปีนี้ กองทัพบกรัสเซียได้สั่งซื้อ BMP-3 อีกราว 300 คัน แบ่งเป็นคอนฟิกูเรชันแตกต่างกัน 5 รุ่น ปัจจุบัน กองทัพรัสเซียมี BMP-3 ประจำการอยู่ราว 700 คัน และข้อมูลของบริษัทผู้ผลิตกล่าวว่า ที่ผ่านมา ได้ผลิตออกมากว่า 2,000 คัน มีจำนวนมากประจำการในกองทัพหลายประเทศทั่วโลก
.
2
3
ตามข้อมูลที่ทราบกันทั่วไปนั้น อินโดนีเซียเป็นเพียงประเทศเดียวในย่านนี้ ที่มี BMP-3 ประจำการรวมจำนวนกว่า 50 คัน ทั้งหมดเป็น BMP-3F ได้รับมอบระหว่างปลายปี 2553 จนถึงต้นปี 2557 และพม่าอาจจะเป็นรายที่สอง
กองทัพพม่ายุคใหม่ภายใต้รัฐบาลกึ่งทหาร ได้เร่งเสริมสร้างขีดความสามารถในการป้องกันประเทศอย่างต่อเนื่อง โดยมีการจัดหาทั้งอาวุธนำเข้า และผลิตเองภายในประเทศ ทั้งกองทัพบก กองทัพเรือ และกองทัพอากาศ
ตามรายงานของสำนักข่าวจีน เดือน มิ.ย.ปีนี้ พม่าได้รับระบบจรวดต่อสู้อากาศยานแบบ “ไคซัน” (Kaisan 1A) ที่ซื้อจากจีนล็อตแรก ประกอบด้วย ชุดยิงติดตั้งบนรถบรรทุก 4 ชุด นี่คือระบบจรวดต่อสู้อากาศยาน “หงฉี-12” (HQ-12) รุ่นส่งออก เป็นระบบจรวดระยะใกล้ มีระยะยิงราว 27 กิโลเมตร กองทัพพม่ายังแสดงความสนใจเครื่องบินรบแบบ FJ-17 ที่ร่วมกันผลิตระหว่างปากีสถาน กับจีนอีกด้วย
ช่วงเดือน ส.ค.ที่ผ่านมา พล.อ.อาวุโสมินอองหล่าย (Min Aung Hlaing) ผู้บัญชาการกองทัพพม่า ได้เดินทางเยือนอิสราเอล ภาพที่เผยแพร่ผ่านเว็บไซต์กองทัพแสดงให้เห็นผู้นำทหารสูงสุดไปเยี่ยมชมบริษัทผู้ผลิตอาวุธยุทโธปกรณ์ ทั้งสำหรับกองทัพเรือ และกองทัพบกอิสราเอล.
กรำศึกมายาวนาน
.
4
5
6
7