ASTVผู้จัดการออนไลน์ - ถึงแม้ว่าจะเป็นประเทศที่ยึดถืออุดมการณ์สังคมนิยมแห่งลัทธิมาร์กซ์-เลนิน ภายใต้เผด็จการของชนชั้นกรรมาชีพ ที่เชิดชูแรงงาน และผู้ใช้แรงงานก็ตาม สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาลาว ยังคงประสบปัญหาด้านการศึกษา ที่การอาชีวศึกษา และการศึกษาสายอาชีพไม่ได้รับความนิยม ซึ่งจะทำให้ประเทศประสบปัญหาด้านแรงงานต่อไปในระยะหลายปีข้างหน้า ในขณะที่กำลังพัฒนาการผลิตอุตสาหกรรม และบริการ ซึ่งจะต้องแข่งขันอย่างสูง
ผลการสำรวจศึกษาของสภาพการค้าและอุตสาหกรรมแห่งชาติลาว ที่เผยแพร่เมื่อเร็วๆ นี้พบว่า นักเรียนส่วนใหญ่ยังคงปฏิเสธการเรียนสาขาวิชาชีพ ซึ่งเป็นแขนงที่มีความต้องการสูงในตลาดแรงงาน ทั้งในวิสาหกิจขนาดใหญ่ และขนาดกลาง นอกจากนั้น ก็ยังพบว่าการเข้าออกของพนักงานเหล่านี้มีอัตราที่สูงมาก ในขณะที่ต้องความต้องการแรงงานฝีมือ และแรงงานสาขาอาชีพยังสูงมาก และมีแนวโน้มสูงขึ้นอีกในปีข้างหน้า สื่อของทางการรายงาน
ผลการสำรวจ “การศึกษาและฝึกอบรมฝีมือแรงงาน การเข้าถึงแหล่งทุน สภาพแวดล้อมด้านกฎหมายและระเบียบการ และการเตรียมพร้อมสำหรับเศรษฐกิจเปิดกว้าง” ในปี 2558 ได้พบว่า ผู้ประกอบการจำนวนมากประสบปัญหาขาดแคลนแรงงาน ซึ่งเป็นสิ่งท้าทายอย่างยิ่งในการประกอบธุรกิจ 56% ของบริษัทที่สำรวจมีปัญหาในการรับพนักงานที่มีฝีมือในปีที่ผ่านมา ปัญหานี้่เกิดขึ้นในธุรกิจขนาดกลางราว 79% ธุรกิจขนาดใหญ่ราว 60% และการเข้าออกของพนักงานที่บรรจุแล้วก็อยู่ในอัตราสูง หนังสือพิมพ์ลาวพัดทะนา รายงาน
ในปี 2556 นี้ ความต้องการแรงงานฝีมือในอุตสาหกรรมตัดเย็บเสื้อผ้าส่งออก ซึ่งเป็นแขนงเศรษฐกิจหลักจะต้องการพนักงานประมาณ 60,000 คน แขนงอุตสาหกรรมแปรรูปอีกราว 450,000 คน แขนงบริการด้านต่างๆ ก็มีความต้องการเพิ่มขึ้นสูงมากเช่นกัน หนังสือพิมพ์ของสมาคมนักข่าวแห่งชาติ กล่าว
ในขณะเดียวกัน ผลการสำรวจความต้องการทางด้านการศึกษาของนักเรียนลาวได้พบว่า ความสนใจด้านอาชีวศึกษามีน้อยเมื่อพูดถึงการเรียนต่อในระดับที่สูงขึ้น เช่น ปีการศึกษา 2551-2552 ในจำนวนนักเรียน 18,000 คน ที่ศึกษาต่อมี 57% เรียนสาขาบริหารธุรกิจ และมีเพียง 40% ของจำนวนทั้งหมดที่เรียนในระดับกลาง คือ ระดับอาชีวศึกษา
ปีการศึกษา 2557-2558 ในปัจจุบัน พบว่า ตัวเลขเปลี่ยนไปมากยิ่งกว่าเดิม นักเรียนจำนวน 64,000 คนที่ศึกษาต่อนั้นมี 52% เรียนต่อระดับอุดมศึกษา ซึ่งในนั้น 72% เรียนแขนงบริการ มีเพียง 21% ที่เรียนแขนงอุตสาหกรรม กับอีก 5% เรียนต่อในแขนงเกษตกรรม
“ตัวเลขดังกล่าวชี้ให้เห็นว่า ค่านิยมของสังคมนั้นต้องการทำงานในออฟฟิศมากกว่าด้านการอาชีพ หรือการออกปฏิบัติงานในภาคสนาม เพราะฉะนั้นจึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ยังไม่สามารถตอบสนองความต้องการแรงงานที่มีฝีมือได้อย่างเพียงพอต่อโครงสร้างทางเศรษฐกิจของชาติ และความต้องการของตลาดแรงงานในปัจจุบัน” สื่อของทางการอ้างรายงานของสภาหอการค้าและอุตสาหกรรมแห่งชาติ
ลาวประสบปัญหานี้ตลอดหลายปีที่ผ่านมา ในขณะที่ประเทศคอมมิวนิสต์กำลังมุ่งหน้าพัฒนาอุตสาหกรรมเพื่อส่งออก ภายใต้กลไกเศรษฐกิจแบบตลาด เช่นเดียวกันกับประเทศคอมมิวนิสต์เพื่อบ้านในย่านนี้ ซึ่งได้แก่ สาธารณรัฐประชาชนจีน กับสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม
ไม่พียงแต่ความสนใจศึกษาต่อในแขนงวิชาชีพจะมีอัตราต่ำเท่านั้น แรงงานราว 200,000 คน ทั้ง แรงงานฝีมือ และแรงงานที่ใช้แรงกายต่างข้ามแดนออกหางานทำในประเทศเพื่อนบ้านที่ให้ค่าจ้างสูงกว่า และยังมีโอกาสในการประกอบอาชีพเป็นของตัวเองอีกด้วย.