นางชุตินาฏ วงศ์สุบรรณ รองเลขาธิการสภาพัฒน์ เปิดเผยว่า ปัจจุบันไทยกำลังประสบปัญหาขาดแคลนแรงงานในเรื่องปริมาณและคุณภาพ โดยเฉพาะแรงงานในฝีมือระดับกลาง และความต้องการแรงงานด้านสายสามัญจะมากขึ้น แต่กลับพบว่านักเรียนส่วนใหญ่ยังเลือกเรียนต่อสายสามัญกว่าร้อยละ 60 ส่วนการจัดอาชีวศึกษาในประเทศพบว่ามีสถาบันการศึกษาอยู่กว่า 800 แห่ง มีนักเรียนประมาณ 1 ล้านคน อยู่ในระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ 7 แสนคน และประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูงประมาณ 3 แสนคน โดยแต่ละปีจะมีผู้สำเร็จการศึกษาประมาณ 3- 4 แสนคน แบ่งเป็นปวช. และปวส.ประมาณอย่างละ 2 แสนคน และเมื่อสำเร็จการศึกษาแล้วพบว่าส่วนใหญ่ยังเลือกเรียนต่อในปริญญาตรี เนื่องจากค่านิยมเป็นหลัก เป็นเหตุให้ขาดแคลนแรงงานระดับกลาง ดังเห็นได้จากรายงานในปี 2557 ที่มีผู้จบปวช. 213,373 คน แต่ทำงานเพียง 48,000 คน ส่วนปวส.สำเร็จการศึกษาจำนวน 146,148 คนแต่เข้าทำงาน 74,550 คนเท่านั้น ขณะที่การรวบรวมข้อมูลเฉพาะในส่วนสังกัดของสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษาหรือ สอศ. ที่มีการจัดการศึกษาอาชีวศึกษาระบบทวิภาคี ระหว่างสถานศึกษาและสถานประกอบการที่มีอยู่กว่า 382 แห่งพบว่า มีจำนวนนักเรียน 61,244 คน เฉลี่ย 160 คนต่อสถานศึกษา โดยสาขาอุตสาหกรรรมท่องเที่ยวมีผู้เรียนมากสุดร้อยละ 29.5 รองลงมาเป็นด้านอุตสาหกรรมร้อยละ 11 ส่วนนโยบายการดำเนินงานในปี 2558 ของสอศ. มีเป้าหมายเพิ่มผู้เรียน เพิ่มจำนวนสถานประกบอการและผลักดันให้สถานศึกษาอาชีวเป็นระบทวิภาคีให้ได้ร้อยละ 50 ของทั้งหมด รวมทั้งพัฒนาการเรียนการสอนและจัดการศึกษาอย่างเป็นระบบ และดึงสถานประกอบการเข้าร่วมโครงการให้มากขึ้น เพื่อการันตีการมีงานทำหลังจบการศึกษาเพื่อเป็นแรงจูงใจให้นักเรียนสายอาชีวมากขึ้น