รองโฆษกรัฐบาล เผย “นายกฯตู่” ปลื้ม เด็กไทยแห่เรียนอาชีวะยอดสมัครพุ่ง 26% จากปีก่อน ศธ.- สอศ. เดินหน้ายุทธศาสตร์อาชีวะสร้างชาติ เชื่อแรงงานฝีมือ ช่วยผลักดันประเทศไทยก้าวหน้าอย่างยั่งยืน
พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เล็งเห็นความสำคัญของการพัฒนาการศึกษาให้สอดคล้องกับความต้องการแรงงานของประเทศ โดยนายกรัฐมนตรีได้มีการพบปะภาคเอกชนในหลายสาขา และพบว่า ไทย ยังขาดแคลนแรงงานในระดับอาชีวะศึกษา และช่างฝีมือแรงงานจำนวนมาก จึงได้มอบนโยบายในการพัฒนาคน และพัฒนาแรงงาน ให้เหมาะสมกับประเทศไทย
ดังนั้น ในรอบปีที่ผ่านมา กระทรวงศึกษาธิการ และ สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) เดินหน้ายุทธศาสตร์ เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลในการสร้างภาพลักษณ์อาชีวะสร้างชาติ ให้กับผู้เรียน รวมถึงการประชาสัมพันธ์ให้เห็นถึงประโยชน์ ที่ได้รับจากการเรียนสายอาชีพ ที่จบมาแล้วมีงานทำ รายได้ดี และความร่วมมือการจัดการศึกษาร่วมกับสถานประกอบการและภาคีเครือข่าย โดยได้รับความร่วมมือจากคณะกรรมการร่วมภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษา (กรอ.อศ.) เข้ามามีบทบาทจัดการอาชีวศึกษา
ล่าสุด ได้รับทราบข้อมูลจาก สอศ. ว่า ทาง สอศ. เปิดรับสมัครนักเรียน นักศึกษา ระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) และระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพขั้นสูง (ปวส.) ประจำปีการศึกษา 2558 พบว่า มีผู้สมัครถึง 202,410 คน จากที่คาดการณ์ไว้ว่า จะมีผู้สมัคร 178,538 คน ถือว่า ตัวเลขผู้สมัคร เพิ่มขึ้น 26.04% เมื่อเทียบกับปี 2557ที่มีผู้สมัครจำนวน 160,590 คน
ทั้งนี้ ตัวเลขดังกล่าวไม่นับรวม ปวช. ในระบบทวิศึกษา ซึ่งเป็นการจัดการศึกษาที่มีสถานประกอบการเข้าร่วมในการให้การศึกษาแก่นักศึกษาโดยตรงเพื่อให้ผู้เรียนมีทักษะสามารถประกอบอาชีพได้ทันทีที่สำเร็จการศึกษา
สำหรับในระบบทวิศึกษา ปีนี้ที่มีผู้สมัครเรียนอีก 31,405 คน โดยในปี 2559 สอศ. ตั้งเป้าเพิ่มยอดผู้เรียนให้ได้สัดส่วนผู้เรียนในระบบปกติและระบบทวิศึกษาในสัดส่วน 50:50
นอกจากนี้ สอศ. ยังได้รายงานความคืบหน้าของนโยบายผลิตและพัฒนากำลังคน เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และรองรับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ซึ่ง สอศ. ได้ดำเนินโครงการจัดฝึกอบรมหลักสูตรวิชาชีพระยะสั้น เพื่อแก้ปัญหาขาดแคลนแรงงานฝีมือ ให้แก่ประชาชนที่ว่างงาน ผู้ต้องการอาชีพเสริม ผู้ต้องการต่อยอดและพัฒนาอาชีพ รวมถึงผู้ที่ต้องการเปลี่ยนอาชีพใหม่ เพื่อให้มีรายได้ที่สูงและมั่นคงขึ้น มีเป้าหมายจัดอบรมวิชาชีพระยะสั้น ให้ได้ 1 ล้านคน ภายในปี 2558 โดยจัดอบรมในวิทยาลัยสังกัด สอศ. 421 แห่งทั่วประเทศ ใน 5 ประเภทวิชา จำนวน 638 รายวิชา ผลปรากฏว่า มีประชาชนให้ความสนใจสมัครเข้ารับการฝึกอบรมเป็นจำนวนมาก
ตั้งแต่เริ่มโครงการในเดือน ตุลาคม 2557 ถึง เดือน พฤษภาคม 2558มีผู้เข้ารับการอบรมทั้งสิ้น 926,064 คน และข้อมูล จากสถานศึกษาคาดว่า ภายใน ปีงบประมาณ 2558 (ภายในเดือนกันยายน 2558) จะมีผู้เข้ารับการอบรมอีกประมาณ 300,000 คน รวมมีผู้เข้ารับการอบรมไม่ต่ำกว่า 1,226,000 คน
นายกรัฐมนตรี ให้ความสำคัญกับนโยบายการพัฒนาทรัพยากรบุคคลเป็นอย่างมาก และดีใจกับความสำเร็จก้าวแรก ของ สอศ. และหวังว่า ในอนาคตอันใกล้ สอศ. จะเป็นแกนหลักในการผลิตแรงงานมีฝีมือ ป้อนให้กับภาคเอกชน เพื่อเป้าหมายสำคัญในการพัฒนาประเทศไทยให้ก้าวหน้าอย่างมั่นคง และยั่งยืน