เอพี - รัฐบาลพม่า และกลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์ชนกลุ่มน้อย กลับมานั่งโต๊ะเจรจากันอีกครั้งในวันนี้ (22) ในความหวังที่จะบรรลุข้อตกลงหยุดยิงทั่วประเทศที่จะยุติการต่อสู้นาน 6 ทศวรรษ ก่อนการเลือกตั้งทั่วไปที่กำลังจะมีขึ้นในปลายปีนี้
กลุ่มชาติพันธุ์ชนกลุ่มน้อยมากกว่า 10 กลุ่ม และผู้แทนรัฐบาลได้ร่วมเจรจาหารือกันมานานกว่า 18 เดือน และผู้เจรจาไกล่เกลี่ยได้เตือนว่า ความล้มเหลวที่จะบรรลุข้อตกลงอาจก่อให้เกิดการต่อสู้รอบใหม่ขึ้น
“หากการเจรจาล้มเหลว และกองทัพเชื่อว่าข้อตกลงหยุดยิงทั่วประเทศไม่สามารถลงนามกันได้ภายใต้รัฐบาลชุดปัจจุบัน พวกเขาจะไม่มีทางเลือก และจะดำเนินการปฏิบัติการทางทหาร” หล่า หม่อง ฉ่วย จากศูนย์สันติภาพพม่า กล่าว
ศูนย์สันติภาพพม่า ที่ได้ทุนสนับสนุนจากสหภาพยุโรป ก่อตั้งขึ้นในปี 2555 เพื่อช่วยเหลือการเจรจาหยุดยิงแ ละกระบวนการสร้างสันติภาพในกลุ่มชาติพันธุ์ ในความคาดหวังที่จะบรรลุข้อตกลงให้ได้โดยเร็วที่สุด แต่จนถึงเวลานี้ก็ยังคงไม่มีความแน่นอน ขณะที่รายละเอียดสำคัญของการเจรจา รวมทั้งการมีส่วนร่วมของกลุ่มชาติพันธุ์ยังคงไม่ทราบผลเช่นกัน
การเจรจาข้อตกลงหยุดยิงประสบกับอุปสรรคเล็กน้อยในเดือน มิ.ย. เมื่อชนกลุ่มน้อยที่เข้าร่วมการประชุมร้องขอให้รัฐบาลอนุญาตชนกลุ่มน้อยอีก 3 กลุ่ม ที่ยังคงไม่ลงรอยกับรัฐบาลได้มีส่วนร่วมในการลงนามหยุดยิง
เมื่อประธานาธิบดีเต็งเส่ง เข้าบริหารประเทศในปี 2554 พบว่า มีกลุ่มติดอาวุธเคลื่อนไหวอยู่ใน 55 เมืองทั่วประเทศ แต่ว่าตัวเลขได้เพิ่มสูงขึ้นเป็น 110 เมือง ในปี 2558 ตามการระบุของศูนย์สันติภาพพม่า ที่ดำเนินการสำรวจวิจัย โดยกลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์บางกลุ่ม เช่น กองทัพปลดปล่อยแห่งชาติตะอาง ได้เพิ่มกองกำลังของตัวเองขึ้น
หล่า หม่อง ฉ่วย และ อ่องมิน รองประธานคณะกรรมการการทำงานสร้างสันติภาพสหภาพของรัฐบาล ได้เข้าร่วมในการหารือวันนี้ (22) โดยมี นางนอว์ ซิปโปร่า เส่ง รองประธานสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง เป็นผู้นำการเจรจาในฝ่ายกลุ่มชาติพันธุ์ชนกลุ่มน้อย
อ่องมิน ได้กล่าวต่อผู้นำกลุ่มชาติพันธุ์ว่า ข้อตกลงหยุดยิงทั่วประเทศควรลงนามก่อนสิ้นสุดการดำรงตำแหน่งของรัฐบาลเต็งเส่ง
ผู้เจรจาสันติภาพแนะนำว่า ข้อตกลงควรลงนามโดยกลุ่มชาติพันธุ์ 15 กลุ่ม แต่แกนนำกลุ่มชาติพันธุ์ได้ยืนยันว่า ข้อตกลงควรรวมกองทัพปลดปล่อยแห่งชาติตะอางของรัฐชาน กลุ่มโกกัง และกองทัพอาระกัน.