xs
xsm
sm
md
lg

ศาลลาวสั่งยึดทรัพย์ จนท.โกงอีกกว่า 50 คน รวมหัวขายที่ดินรัฐ ตรวจเจอรถหนีภาษีอีกอื้อตำรวจตัวดี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

<bR><FONT color=#000033>พิธีเซ็นความตกลงเกี่ยวกับการก่อสร้างเขตเทศบาลแขวงแห่งใหม่เมื่อปี 2554 โดยย้ายศูนย์การบริหารจากเมืองโพนโฮง ไปยังเมืองเวียงทอง แขวงเวียงจันทน์วันนี้กลายเป็นแหล่งลงทุนยอดนิยมอีกแห่งหนึ่งในลาว เหมืองทองใหญ่ที่สุดของประเทศเวลานี้ก็อยู่ในแขวงนี้ เช่นเดียวกันกับเขื่อนผลิตไฟฟ้าขนาดใหญ่อีกหลายเขื่อน รวมทั้งโครงการเกษตรอุตสาหกรรมอีกหลายประเภท.. แน่นอน การทุจริตคอร์รัปชั่นในหมู่เจ้าหน้าที่รัฐย่อมถูกจับตาเป็นพิเศษ จากองค์การตรวจตราของพรรคและรัฐบาล. -- ภาพแฟ้ม เวียงจันทน์ใหม่. </b>

ASTVผู้จัดการออนไลน์ - ทางการลาวได้กวาดล้างเจ้าหน้าที่คอร์รัปชันครั้งใหญ่อีกครั้งหนึ่ง คราวนี้ในแขวงเวียงจันทน์ มีตั้งแต่ระดับรองเจ้าเมือง (รองนายอำเภอ) โดยเจ้าหน้าที่ทั้งในส่วนกลาง และส่วนท้องถิ่นประสานมือกันทำการซื้อขายที่ดินของรัฐอย่างไม่ชอบด้วยกฎหมาย โดยเรื่องนี้เกี่ยวข้องกับเงินกว่า 1,700 ล้านกีบ กับเงินต่างประเทศอีกราว 100,000 ดอลลาร์ ซึ่งคิดเป็นเงินไทยรวมกันประมาณ 10,324,000 บาท

เหตุเกิดในท้องที่เมืองโพนโฮง กับเมืองหินเหิบ ผู้เกี่ยวข้องทั้งหมดถูกปลดออกจากตำแหน่ง ตามคำสั่งของศาล ซึ่งในคราวเดียวกันยังได้สั่งให้ยึดทรัพย์สินของผู้เกี่ยวข้อง ติดตามเงินจากการซื้อขายไปเข้างบประมาณของรัฐ หนังสือพิมพ์ “ปะเทดลาว” รายงาน

นายเคน เรืองคำแสง หัวหน้าคณะบริหาร คณะกรรมการตรวจตราพรรครัฐ ในแขวงเวียงจันทน์เปิดเผยต่อสื่อของทางการว่า ภาครัฐได้เสนอต่อศาลให้ใช้มาตรการอย่างเด็ดขาดจัดการเจ้าหน้าที่รัฐทุจริต เพื่อลด “ปรากฏการณ์ย่อท้อ” ในแขวงที่เป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจ และการลงทุนแห่งนี้ ทั้งยังเป็นการเพิ่มทวีความเข้มแข็งให้แก่พรรค และรัฐบาล ผู้กระทำผิดทั้งหมดจะต้องถูกดำเนินการตามคำสั่งของศาลอย่างเด็ดขาด ไม่มีข้อยกเว้น หนังสือพิมพ์ออนไลน์ของทางการรายงานอ้างเจ้าหน้าที่

ผู้กระทำผิดทั้งหมดได้ร่วมกันออกเอกสาร นำที่ดินของรัฐรวม 5,228.9 เฮกตาร์ (32,680 ไร่) ในเขตเมืองหินเหิบ ขายให้เอกชน รวมเป็นมูลค่าเพียง 1,733 ล้านกีบ หรือ 7,162,000 บาทเศษ กับอีกราว 9 หมื่นดอลลาร์เศษ เจ้าหน้าที่คณะกรรมการตรวจตราฯ ตรวจพบเรื่องนี้เมื่อปีที่แล้วก่อนจะส่งฟ้องศาล จนถึงปัจจุบันทางการสามารถติดตามเงินคืนได้แล้ว 689 ล้านกีบ 2,500 ดอลลาร์ และยังคงติดตามต่อไป “ปะเทดลาว” กล่าว

กฎหมายการแจ้งทรัพย์สินของลาวที่กำหนดให้เจ้าหน้าที่รัฐทุกระดับต้องแจ้งทรัพย์สินที่มีในครอบครองต่อคณะกรรมการจรตรวจตาฯ มีผลบังคับตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2557 เป็นต้นมา หรือแม้แต่รับของขวัญของฝากใดๆ จากผู้อื่น โดยมีมูลค่าตั้งแต่ 20,000 บาทขึ้นไป จะต้องแจ้งต่อทางการ และนับรวมเป็นทรัพย์สินที่จะต้องแจ้งด้วย

การตรวจทรัพย์สินเจ้าหน้าที่รัฐในแขวงเวียงจันทน์ ยังได้พบการกระทำผิดกฎหมายอีกจำนวนหนึ่ง รวมทั้งตรวจพบรถยนต์หรูกว่า 50 คัน ที่มีไว้ในครอบครองโดยไม่เสียภาษี ในนั้นส่วนใหญ่เป็นของกระทรวงรักษาความสงบภายใน กับกรมใหญ่ตำรวจ

นายบุนเพ็ง สายนอละดี หัวห้าคณะตรวจตรายานพาหนะที่นำเข้าไม่ถูกต้องเปิดเผยว่า หลังการลงตรวจใน 4 เมือง ได้พบรถยนต์ 54 คัน นำเข้าไม่ถูกกฎหมาย ในนั้น 43 คัน เป็นของกองบังคับการป้องกันความสงบ (กปส.) หรือตำรวจ และในนั้นมี 3 คัน ติดป้ายทะเบียนสีฟ้าเพื่อเลี่ยงการเสียภาษี นอกจากนั้น ยังพบรถจักรยานยนต์ผิดกฎหมายรวมกันทั้งหมด 844 คัน จำนวนมากอยู่ในการครอบครองของเจ้าหน้าที่รัฐ “ปะเทดลาว” กล่าวในเฟซบุ๊ก

เหตุการณ์นี้ได้กลายเป็นการจับกุม ลงโทษเจ้าหน้าที่รัฐฉ้อราษฎร์บังหลวงครั้งใหญ่ที่สุดอีกครั้งหนึ่ง หรืออย่างน้อยที่สุดก็ที่มีรายงานผ่านสื่อของรัฐ นับตั้งแต่กรณีการยักยอกเงินงบประมาณไปใช้เพื่อส่วนตน และพรรคพวกที่เกี่ยวข้องกับเจ้าหน้าที่รัฐ จำนวน 58 คน ในแขวงหัวพันเมื่อ 4 ปีที่แล้ว ซึ่งทั้งหมดถูกศาลตัดสินลงโทษในระดับแตกต่างกันไป และมี 20 คนถูกขับออกจากการเป็นสมาชิกพรรคประชาชนปฏิวัติลาว พ้นจากทุกตำแหน่งในรัฐบาล

การคอร์รัปชันในแขวงภาคเหนือครั้งนั้น ทำให้รัฐสูญเงินงบประมาณกว่า 21,000 ล้านกีบ หรือ 83,330,000 บาทเศษ ตามอัตราแลกเปลี่ยนในขณะนั้น และศาลสั่งให้ยึดทรัพย์ผู้กระทำความผิดทั้งหมด และให้ติดตามนำเงินที่ถูกฉ้อโกงกลับคืนเข้างบประมาณของรัฐ

เหตุการณ์ที่แขวงหัวพัน เป็นผลงานการตรวจสอบโดยคณะกรรมการตรวจสอบแห่งชาติ ที่มีนางเวียงทอง สีพันดอน เป็นประธาน ส่วนเหตุการณ์ล่าสุดในแขวงเวียงจันทน์ เป็นผลงานการตรวจสอบของคณะกรรมการตรวจตราพรรครัฐ ซึ่งเป็นหน่วยงานภายใต้รัฐธรรมนูญ

ในการประชุมใหญ่ครั้งที่ 9 ต้นปี 2554 พรรคประชาชนปฏิวัติลาว ได้ออกข้อมติที่จะป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบในหมู่เจ้าหน้าที่ของรัฐอย่างเด็ดขาด ระบบของลาวในปัจจุบันมี 2 หน่วยงานสำคัญที่เป็นหัวหอกในการปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ ซึ่งได้แก่ องค์การตรวจสอบรัฐบาล ซึ่งเป็นหน่วยงานเทียบเท่ากระทรวง กับคณะกรรมการตรวจตราพรรครัฐ หน่วยงานในสังกัดคณะกรรมการกลางพรรค ที่มีกรมการเมืองพรรคผู้หนึ่งเป็นประธาน.
กำลังโหลดความคิดเห็น