เอเอฟพี/ซินหวา - ผู้แทนระดับสูงของสหรัฐฯ แสดงความวิตกต่อกฎหมายที่จะผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีของกัมพูชาว่า อาจขัดขวางการทำงานสำคัญของเอ็นจีโอในกัมพูชา
กัมพูชา เป็นที่ตั้งของเอ็นจีโอ และกลุ่มประชาสังคมจำนวนมากที่ให้บริการ และการสนับสนุนการดำเนินงานสำคัญทั่วกัมพูชา ที่เป็นหนึ่งในประเทศที่ยากจนที่สุดของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
แต่นายกรัฐมนตรีฮุนเซน ได้แสดงความเป็นศัตรูต่อเอ็นจีโอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่ปกป้องสิทธิมนุษยชนในประเทศที่การยึดที่ดิน และปัญหาทุจริตคอร์รัปชันยังคงเกิดขึ้นไปทั่ว
ร่างกฎหมายฉบับใหม่ยังคงเป็นเช่นเดียวกับกฎหมายฉบับปี 2554 ที่ถูกยกเลิกไป ที่ให้อำนาจรัฐบาลควบคุมการทำงานของเอ็นจีโอ รวมทั้งการปิดหน่วยงานตามคำสั่งศาล หรือปฏิเสธการลงทะเบียน
“ผมเป็นห่วงว่ากฎหมาย...ยังไม่ได้แบ่งปันกับประชาชน เพื่อที่ภาคประชาสังคมและประชาชนชาวกัมพูชาจะสามารถเข้าใจถึงผลกระทบที่พวกเขาจะได้รับ” สก็อต บัสบี้ รองผู้ช่วยรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศในกิจการด้านประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน และแรงงาน ของสหรัฐฯ กล่าวต่อผู้สื่อข่าว
“ผมวิตกว่ากฎหมายจะกำหนดข้อจำกัด และเป็นภาระต่อเอ็นจีโอที่จะทำให้เอ็นจีโอทำงานยากลำบาก หรือแม้แต่เป็นไปไม่ได้ที่จะทำงานสำคัญของพวกเขา” บัสบี้ กล่าว
บัสบี้ ระบุว่าได้ยกประเด็นข้อกังวลนี้ขึ้นหารือกับฮอร์ นัม ฮอง รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศกัมพูชา ระหว่างเยือนกรุงพนมเปญ
ด้านกลุ่มสิทธิมนุษยชนกลัวว่า กฎหมายใหม่ครอบคลุมเอ็นจีโอ และกลุ่มประชาสังคมทั้งหมด และจะจำกัดการทำงานของกลุ่มชุมชน และนักเคลื่อนไหว
เป็นที่คาดว่าคณะรัฐมนตรีจะรับรองร่างกฎหมายหลังสัปดาห์นี้ และจะลงมติในรัฐสภาที่พรรคของฮุนเซนครองอำนาจอยู่ ด้านกลุ่มประชาสังคมได้เรียกร้องให้รัฐบาลปรึกษาหารือกับพวกเขาสำหรับการออกร่างสุดท้ายก่อนนำเข้าสู่สภา แต่ฮุนเซนกล่าวปกป้องกฎหมายโดยระบุว่า มีเวลาพอสำหรับการปรึกษาในกฎหมายที่มีวัตถุประสงค์จะปกป้องเอ็นจีโอ และกลุ่มประชาสังคม
“รัฐบาลจะรับรองกฎหมายนี้ในอีกไม่กี่วันข้างหน้า และจะส่งไปรัฐสภา ประเทศอื่นๆ ต่างก็มีกฎหมายนี้ แล้วทำไมพวกเขาถึงคัดค้านมันในกัมพูชา กฎหมายนี้จะคุ้มครองคุณ กฎหมายนี้จะให้การสนับสนุน และรับรองว่าคุณดำเนินการภายใต้กฎหมาย” ฮุนเซน กล่าว และเรียกร้องให้เอ็นจีโอ และกลุ่มประชาสังคมไม่ต้องวิตกกังวล
ผู้นำกัมพูชาระบุว่า กฎหมายไม่ได้ขัดขวางกิจกรรมของเอ็นจีโอ และกลุ่มประชาสังคมต่างๆ แต่มีเป้าหมายที่จะต่อสู้ต่อการฟอกเงิน การสนับสนุนการเงินแก่กลุ่มก่อการร้าย และการตั้งกองกำลังอาวุธผิดกฎหมาย
เต็ก วันนารา ผู้อำนวยการบริหารเอ็นจีโอฟอรั่ม กล่าวว่า กลุ่มประชาสังคมไม่สามารถพิจารณาถึงผลกระทบของกฎหมายที่จะส่งผลต่อการทำงานของเขาเนื่องจากไม่ทราบเนื้อหาของกฎหมาย
“รัฐบาลควรให้เวลาในการปรึกษามากกว่านี้” เต็ก วันนารา กล่าว
ร่างกฎหมายนี้กำหนดให้เอ็นจีโอ และสมาคมลงทะเบียนสัญชาติของหน่วยงานต่อรัฐบาล เพื่อที่จะได้สิทธิในการดำเนินการทางกฎหมาย และเอ็นจีโอเหล่านั้นจะต้องยื่นรายงานประจำปีเกี่ยวกับกิจกรรม และการเงินต่อรัฐบาลด้วย
ตามรายงานของกระทรวงมหาดไทย ระบุว่า ปัจจุบันกัมพูชามีเอ็นจีโออยู่ทั้งสิ้น 2,672 แห่ง และกลุ่มประชาสังคม 1,706 แห่ง