เอพี (ย่างกุ้ง) -- ประธานาธิบดีพม่า ได้ลงนามบังคับใช้กฎหมายฉบับหนึ่งที่กำหนดให้มารดาบางกลุ่มต้องทิ้งระยะห่างเป็นเวลา 3 ปี ในการตั้งครรภ์แต่ละครั้ง ซึ่งก่อนหน้านี้ถูกคัดค้านจากหลายฝ่าย รวมทั้งนักการทูตสหรัฐฯ กับนักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิมนุษยชน ที่วิตกว่าไม่เพียงแต่จะเป็นกฎหมายที่กดขี่สตรีเพศ หากยังอาจจะใช้เพื่อกดขี่ทางด้านศาสนา และชาติพินธุ์อีกด้วย
รัฐบัญญัติการควบคุมประชากรและสุขภาพ ที่ร่างขึ้นภายใต้การกดดันของบรรดาพระสงฆ์ฝ่ายหัวรุนแรงที่ต่อต้านชาวมุสลิมในประเทศอย่างแข็งขัน ได้ผ่านการพิจารณาของรัฐสภาในเดือน เม.ย. ที่ผ่านมา และประธานาธิบดีเต็งเส่ง ได้ลงนามรับรองเพื่อบังคับใช้แล้ว สื่อของทางการรายงานในช่วงสุดสัปดาห์นี้ เพียงไม่กี่ชั่วโมงหลังจาก นายแอนโธนี บลิงเคน (Anthony Blinken) รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ได้พบกับผู้นำสูงสุดของพม่า และแสดงความห่วงใยในเรื่องนี้
ขณะที่พม่าซึ่งมีผู้นับถือพุทธศาสนาเป็นประชากรส่วนใหญ่ เริ่มเข้าสู่กระบวนการประชาธิปไตยเมื่อ 4 ปีที่แล้ว เสรีภาพในการแสดงออกได้ช่วยเปิดเผยให้เห็นความเกลียดชังชนกลุ่มน้อยนับถือศาสนาอิสลาม ที่ฝังรกรากมายาวนาน รวมทั้งชาวโรฮิงยามุสลิมที่อพยพหลบหนีไปยังประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อื่นๆ ในเรือเก่าๆ อย่างเบียดเสียดแออัด
มีเป็นจำนวนมากที่หลบหนีการทำร้าย และการใช้ความรุนแรงที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตถึง 280 คน กับอีกราว 140,000 คน ถูกบังคับให้ต้องทิ้งบ้าน ในรัฐระไค (Rakhine/ยะไข่) ทางตะวันตกของประเทศ
กฎหมายประชากรซึ่งแม้จะไม่มีบทลงโทษ แต่ก็ได้ให้อำนาจแก่ทางการท้องถิ่นต่างๆ ในการบังคับใช้มาตรการว่างเว้นการตั้งครรภ์ในพื้นที่ที่มีอัตรการเกิดสูง และถึงแม้รัฐบาลจะอธิบายว่า กฎหมายมีจุดประสงค์เพื่อการลดอัตราการตายของมารดา และทารกแรกเกิด นักเคลื่อนไหวได้ตอบโต้ว่า สิ่งนี้เป็นการละเมิดต่อสิทธิแห่งการเจริญพันธุ์ของสตรี และยังสามารถใช้ในการควบคุมการเติบโตของประชากรบางกลุ่มได้อีกด้วย
ชาวพุทธฝ่ายที่แข็งกร้าวได้เตือนซ้ำแล้วซ้ำเล่าว่า ชาวมุสลิมที่มีอัตราการเกิดสูงอาจจะกลายเป็นประชากรส่วนใหญ่ของประเทศที่มีพลเมือง 50 ล้านคนได้ ถึงแม้ว่าในปัจจุบันประชากรชาวมุสลิมในพม่าจะมีจำนวนคิดเป็นเพียง 10% ก็ตาม
“เป็นเรื่องที่น่าผิดหวังมาก” นางขิ่นเล (Khin Lay) นักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิสตรีกล่าวถึงการที่ประธานาธิบดีพม่าลงนามบังคับใช้กฎหมายฉบับนี้
“ถ้าหากรัฐบาลปรารถนาจะพิทักษ์ปกป้องสตรี ก็ควรจะใช้กฎหม่ายที่มีอยู่แล้วดำเนินการ” นางเลกล่าว
นายบลิงเคน ที่เข้าเยี่ยมคำนับประธานาธิบดีพม่า และได้พบหารือกับผู้บัญชาการกองทัพ และเจ้าหน้าที่ระดับสูงอีกหลายคนสัปดาห์ที่ผ่านมา ได้แสดงความห่วงใยอย่างลึกซึ้งต่อกฎหมายฉบับนี้.