xs
xsm
sm
md
lg

ทีมกู้ระเบิดใต้น้ำเขมรโชว์ฟอร์มงานแรก กู้บี๊กบอมบ์กว่า 500 กก.จากน้ำโขง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

<br><FONT color=#000033>นักข่าวถ่ายภาพระเบิดมาร์ค 82 หรือ MK82 ที่นักเก็บกู้วัตถุระเบิดใต้น้ำชาวกัมพูชากู้ขึ้นมาจากก้นแม่น้ำโขงในจ.กันดาล วันที่ 21 พ.ค.--Agence France-Presse/Tang Chhin Sothy.</font></b>

เอเอฟพี - ทีมเก็บกู้วัตถุระเบิดใต้น้ำกัมพูชาได้กู้ระเบิดที่ผลิตในสหรัฐฯ ขึ้นจากก้นแม่น้ำโขงเป็นครั้งแรกวานนี้ (21) ในความพยายามของกัมพูชาที่จะจัดการต่อระเบิดที่ตกค้างจากสมัยสงคราม ซึ่งคร่าชีวิตผู้คนไปหลายพันราย

สงครามกลางเมืองที่ยาวนานเกือบ 3 ทศวรรษ ตั้งแต่ทศวรรษ 1960 ทำให้กัมพูชากลายเป็นหนึ่งในประเทศที่ถูกทิ้งระเบิด และมีกับระเบิดฝังอยู่มากที่สุดแห่งหนึ่งในโลก

ทีมเก็บกู้วัตถุระเบิดได้เผชิญต่อภารกิจที่ไม่มีใครปรารถนาในการค้นหา และเก็บกู้วัตถุระเบิดที่ยังไม่ระเบิดจำนวนมหาศาล ซึ่งคร่าชีวิตผู้คนไปเกือบ 20,000 คน และทำให้มีผู้บาดเจ็บอีกกว่า 40,000 คน ตั้งแต่ปี 2522 เป็นต้นมา

แต่ระเบิดใต้น้ำนั้นสร้างปัญหามากเป็นพิเศษ เพราะมีทีมเก็บกู้ระเบิดเพียงไม่กี่ทีมที่รู้วิธีดำน้ำ

กลุ่มเก็บกู้ระเบิดจากศูนย์ปฏิบัติการเก็บกู้ระเบิดแห่งกัมพูชา (CMAC) ประสบความสำเร็จเป็นครั้งแรกในการเก็บกู้ และปลดชนวนระเบิด MK82 ที่ผลิตขึ้นในสหรัฐฯ ขึ้นจากก้นแม่น้ำโขงลึก 7 เมตร เมื่อวันพฤหัสบดี (21) หลังจากทีมเริ่มฝึกฝนการจัดการต่อภัยคุกคามที่อยู่ในน้ำ ภายใต้การแนะนำของมูลนิธิมนุษยธรรมโกลเด้นเวสต์ องค์กรการกุศลเกี่ยวกับการเก็บกู้วัตถุระเบิดเมื่อ 2 ปีก่อน

“งานนี้อันตรายมากเพราะเรามองไม่เห็นระเบิดใต้น้ำ เราหาระเบิด และประเมินสถานการณ์ได้จากความรู้สึกผ่านมือของเรา” โสก เจนดา หัวหน้าทีมดำน้ำกล่าวหลังปฏิบัติภารกิจใน จ.กันดาล ห่างจากกรุงพนมเปญทางตะวันออกราว 35 กิโลเมตร โดยที่สมาชิกในทีมหลายคนว่ายน้ำไม่เป็นก่อนเริ่มการฝึกฝน

ระเบิดน้ำหนักครึ่งตันนอนอยู่ก้นแม่น้ำโขงห่างจากท่าเรือริมฝั่งประมาณ 200 เมตร คาดว่าถูกทิ้งจากเครื่องบินของรัฐบาลกัมพูชาไม่ก็สหรัฐฯ ในช่วงปลายทศวรรษ 1960 หรือต้นทศวรรษ 1970 เพื่อโจมตีเขมรแดง ระเบิดลูกนี้เพิ่งค้นพบโดยชาวประมงที่ดำน้ำเพื่อปลดแหหาปลาที่เข้าไปเกี่ยวกับระเบิด

ระเบิดที่จมอยู่ใต้น้ำเป็นภัยอันตรายต่อเรือที่แล่นผ่านไปมา โดยเฉพาะเรือหาปลาที่อาจไปเคลื่อนระเบิดโดยไม่ตั้งใจ จากการทอดแห และระเบิดอาจจุดชนวนขึ้นได้

ทีมดำน้ำได้ผูกบอลลูนเข้ากับระเบิด บอลลูนจะค่อยๆ ยกระเบิดขึ้นจากก้นแม่น้ำ และเคลื่อนเข้าฝั่งที่ทีมเก็บกู้จะปลดชนวนระเบิดได้อย่างปลอดภัย

“นี่เป็นการรับมือครั้งใหญ่ของพวกเขา พวกเขาดำเนินการในทุกขั้นตอน เรียนรู้วิธีว่ายน้ำ วิธีดำน้ำ และในตอนนี้กำลังดำน้ำครั้งที่ยากที่สุดครั้งหนึ่งในโลก” เอลเลน แทน ผู้อำนวยการมูลนิธิมนุษยธรรมโกลเด้นเวสต์ ประจำกัมพูชา กล่าว

ทีมเก็บกู้วัตถุระเบิดมีความเสี่ยงอย่างมากในการปฏิบัติงานในแต่ละครั้ง เมื่อปีก่อนนักเก็บกู้วัตถุระเบิดชาวกัมพูชา 2 คน เสียชีวิตหลังทุ่นระเบิดเก่าที่พวกเขาพยายามจะกู้จากพื้นดินเกิดระเบิดขึ้น

ตามรายงานสถิติของรัฐบาลกัมพูชาระบุว่า มีประชาชนเสียชีวิต หรือได้รับบาดเจ็บจากระเบิดตกค้างทั้งหมด 154 คน ในปี 2557 และ 111 คน ในปี 2556.



กำลังโหลดความคิดเห็น