รอยเตอร์ - การหลั่งไหลของผู้อพยพที่สิ้นหวังในอ่าวเบงกอลจะยังคงดำเนินต่อไปหากพม่ายังไม่ยุติการเลือกปฏิบัติต่อชนกลุ่มน้อยมุสลิมโรฮิงญา ซาอิด ราอัด อัล ฮุสเซน ข้าหลวงใหญ่ด้านสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ กล่าว
“จนกว่ารัฐบาลพม่าจะจัดการต่อการเลือกปฏิบัติต่อชาวโรฮิงญา รวมทั้งการเข้าถึงสิทธิพลเมืองอย่างเท่าเทียม การอพยพที่ไม่ปลอดภัยนี้จะยังคงเกิดต่อไป” ซาอิด ราอัด อัล ฮุสเซน กล่าวในคำแถลง
ซาอิด ระบุว่า สถานการณ์ในรัฐยะไข่ของพม่า ต้นกำเนิดของผู้อพยพจำนวนมากเป็นหนึ่งในแรงจูงใจหลักของความเคลื่อนไหวทางทะเลเหล่านี้
สหประชาชาติระบุว่า ชนกลุ่มน้อยโรฮิงญาเป็นหนึ่งในผู้คนที่ถูกข่มเหงรังแกมากที่สุดในโลก
ผู้อพยพราว 25,000 คน ที่ส่วนใหญ่เป็นชาวโรฮิงญา และบังกลาเทศ เดินทางหลบหนีทางเรือในช่วง 3 เดือนแรกของปีนี้ ส่วนใหญ่ถูกลักลอบค้าไปยังไทย และควบคุมตัวในค่ายจนกระทั่งจ่ายเงินเพื่อเดินทางต่อไปยังชายแดนมาเลเซีย
หลายพันคนถูกทิ้งอยู่กลางทะเลในเรือง่อนแง่นหลังไทยปราบปรามการลักลอบค้ามนุษย์ กองทัพเรือของประเทศต่างๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้ผลักดันคนเหล่านี้ออกจากชายฝั่งประเทศ
ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา มีผู้อพยพเกือบ 2,500 คน ขึ้นฝั่งของมาเลเซีย และอินโดนีเซีย
หน่วยงานผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติเรียกร้องให้นานาชาติค้นหา และช่วยเหลือผู้ที่ยังคงติดอยู่กลางทะเล
“ผมตกใจที่รายงานระบุว่า ไทย อินโดนีเซีย และมาเลเซียได้ผลักดันเรือที่เต็มไปด้วยผู้อพยพสิ้นหวังกลับไปกลางทะเล ที่จะนำไปสู่การเสียชีวิตของคนอีกเป็นจำนวนมากอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ สิ่งสำคัญคือ ควรมุ่งที่การช่วยชีวิต ไม่ทำให้คนเหล่านี้ตกอยู่ในอันตรายอีก” ซาอิด กล่าว.