ASTVผู้จัดการออนไลน์ - ตามกำหนดการที่แถลงสัปดาห์ที่แล้ว เครื่องบินโซลาร์ อิมพัลส์ 2 (Solar Impulse 2) จะบินถึงนครมัณฑะเลย์ ในวันจันทร์ 9 มี.ค.นี้ เพื่อแวะเยือนประเทศนี้เป็นเวลา 2 วัน เนื่องจากเกิดความล่าช้าที่ต้นทางได้ทำให้ต้องเลื่อนการเดินทางออกมาเป็นเช้าวันจันทร์นี้แทน และกำหนดการแวะเยือนพม่า ต้องเปลี่ยนแปลงไป และเลื่อนออกไปเป็นช่วงปลายเดือน แต่จะเปิดให้สาธารณชนได้ชม เป็นเวลา 3 วันเหมือนเดิม
เครื่องบินที่ใช้พลังงานจากแสงอาทิตย์ซึ่งออกแบบในประเทศสวิตเซอร์แลนด์ลำนี้ จะบินถึงท่าอากาศยานนานาชาตินครมัณฑะเลย์ ในภาคเหนือของพม่า วันที่ 16 มี.ค. โดยบินจากอินเดีย ทางการท้องถิ่นได้จัดเตรียมกำหนดการต่างๆ พร้อมแล้ว รวมทั้งจัดให้นักเรียนนักศึกษาได้เข้าชมโซลาร์ อิมพัลส์ 2 ตลอดเวลา 2 วัน กับ 3 คืนในพม่า ก่อนจะบินต่อไปยังนครฉงชิ่ง ของจีน ซึ่งจะเป็นจุดแวะพักแห่งที่ 3
ระหว่างอยู่ในพม่าจะมีนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยี จำนวน 200 คน นักเรียนมัธยมศึกษาตอนปลายในมัณฑะเลย์อีก 150 คน เจ้าหน้าที่อื่นๆ ตลอดจนบุคคลทั่วไปอีก 210 คน รวมเป็นทั้งหมด 760 คน ที่จะมีโอกาสได้ชมอากาศยานล้ำยุคนี้อย่างใกล้ชิด และเข้ารับฟังการบรรยายสรุป หนังสือพิมพ์โกลบอลนิวไล้ท์ออฟเมียนมาร์ รายงานอ้าง นายจอส่าน (Kyaw Hsan) มนตรีการขนของคณะผู้บริหารเขตมัณฑะเลย์
ทางการยังคงเปิดรับประชาชนทั่วไปที่อยากจะเข้าชมโซลาร์ อิมพัลส์ 2 โดยจะต้องติดต่อล่วงหน้าไปยังสำนักงานรับผิดชอบของเขตมัณฑะเลย์ ซึ่งจะมีการจัดรถรับส่งผู้ที่ได้รับอนุญาตไปและกลับระหว่างโรงเรียนประถมศึกษาแห่งหนึ่งกับท่าอากาศ
เครื่องบินโซลาร์ อิมพัลส์ 2 อยู่ระหว่างการบินรอบโลก ถ้าหากสภาพภูมิอากาศเอื้ออำนวยจะออกเดินทางจากกรุงอาบูดาบี ในตอนเช้าวันจันทร์ 9 มี.ค.นี้ แวะจอดในโอมานเป็นจุดแรก ก่อนบินสู่เมืองพาราณสี ในอินเดีย มัณฑะเลย์ นครฉงชิ่ง กับหนานจิงในแผ่นดินใหญ่จีน ก่อนจะบินข้ามมหาสมุทรแปซิฟิกไปยังมลรัฐฮาวาย เข้ารัฐแอริโซนา สหรัฐเป็นด่านแรก ไปยังนครนิวยอร์ก และบินข้ามมหาสมุทรแอตแลนติก ตัดตรงเข้าสู่แอฟริกาเหนือ กลับไปยังต้นทางในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ รวมระยะทางกว่า 35,000 กิโลเมตร โดยจะใช้เวลาประมาณ 5 เดือน เพื่อพิสูจน์ให้เห็นว่า เครื่องบินรุ่นนี้สามารถบินรอบโลกได้ โดยใช้พลังงานแสงอาทิตย์เพียงอย่างเดียว
ถ้าหากโซลาร์ อิมพัลส์ 2 ทำได้สำเร็จ ก็จะเป็นประวัติการณ์ในอุตสาหกรรมการบินของโลกเลยทีเดียว และจะเป็นพื้นฐานการพัฒนาในขั้นต่อไป ซึ่งในอนาคตอาจจะทำให้อากาศยานบินไปไหนมาไหนได้อย่างอิสระ โดยไม่มีขอบเขตจำกัด เนื่องจากไม่ต้องพึ่งพาน้ำมันเชื้อเพลิงชนิดใดอีกต่อไป.