เอเอฟพี - ศาลเขมรยืนคำตัดสินจำคุกนักเคลื่อนไหวที่ดิน 11 คน ที่มีส่วนในการประท้วงเมื่อปีก่อน โดยส่วนใหญ่ได้รับการลดโทษลงเล็กน้อย ขณะที่กลุ่มสิทธิมนุษยชนกล่าวประณามว่า เป็นการปราบปรามเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น
เมื่อเดือน พ.ย.2557 ที่ผ่านมา นักเคลื่อนไหวหญิง 10 คน ที่รวมทั้งหญิงชราอายุ 75 ปี และพระสงฆ์รูปหนึ่งที่ออกจากสมณเพศแล้ว แต่ละคนถูกตัดสินโทษจำคุกเป็นเวลา 1 ปี อันเนื่องจากการขัดขวางการจราจร หรือกีดขวางการทำงานของเจ้าหน้าที่ระหว่างชุมนุมประท้วงในกรุงพนมเปญ
ศาลอุทธรณ์ของกัมพูชายังคงยืนคำตัดสินเดิม แต่ลดโทษจำคุกให้นักเคลื่อนไหว 8 คน เหลือคนละ 10 เดือน ขณะที่โทษสำหรับ เง็ธ คุน นักเคลื่อนไหวที่มีอายุมากที่สุด ได้รับการลดโทษจำคุกเหลือ 6 เดือน ส่วนโทษจำคุกสำหรับ เทพ วันนี นักเคลื่อนไหวที่มีชื่อเสียง และพระสงฆ์อีกรูปหนึ่งนั้นยังคง 1 ปี ตามคำตัดสินเดิม
“พวกเขาเป็นแม่บ้าน และแม่ที่ต้องดูแลลูก พวกเขาจึงได้รับการลดโทษลงบางส่วน” งวน อิม ผู้พิพากษา กล่าว
นักรณรงค์เคลื่อนไหวที่เต็มไปด้วยน้ำตาในชุดนักโทษสีส้มต่างร้องตะโกนคำว่า “ไม่ยุติธรรม” ในภาษาเขมร ขณะถูกนำตัวออกจากห้องพิจารณาคดี
นักเคลื่อนไหวส่วนใหญ่มาจากครอบครัวไม่กี่สิบครอบครัวที่ยังคงอาศัยอยู่ในชุมชนบึงกาก ของกรุงพนมเปญ พื้นที่ที่เคยมีครอบครัวชาวเขมรอาศัยอยู่ราว 4,000 ครอบครัว ซึ่งถูกบังคับให้ย้ายออกเพื่อเปิดทางให้แก่โครงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์
ผู้หญิง 7 คน ถูกจับกุมตัวขณะร่วมประท้วงเหตุน้ำท่วมในพื้นที่ ส่วนนักเคลื่อนไหวอีก 4 คน ถูกจับจากการชุมนุมประท้วงเรียกร้องให้ปล่อยตัวผู้ที่ถูกจับไปก่อนหน้า
กลุ่มสิทธิมนุษยชนวิจารณ์การตัดสินของศาลว่า เป็นความพยายามที่จะปราบปรามการประท้วงที่ถูกต้องตามกฎหมาย
“นี่เป็นสัญญาณที่ส่งถึงนักเคลื่อนไหวคนอื่นๆ ที่กล้าจะต่อสู้เพื่อเสรีภาพในการแสดงออกว่า พวกเขาจะต้องเผชิญต่อโทษจำคุก” โสเพียบ จัก ผู้อำนวยการบริหารศูนย์สิทธิมนุษยชนกัมพูชา กล่าว
แอนเดรีย จิออเก็ตต้า จากสหพันธ์สิทธิมนุษยชนสากล (FIDH) โจมตีรัฐบาลว่า เป็นบทสรุปที่รู้ล่วงหน้าของการพิจารณาคดีที่น่ารังเกียจ
“นี่เป็นตัวอย่างล่าสุดของการปราบปรามผู้ปกป้องสิทธิมนุษยชนของรัฐบาลกัมพูชา และการใช้ศาลเป็นเครื่องมือทางการเมือง” จิออเก็ตต้า กล่าว
การขับไล่ที่ดินเป็นหนึ่งในประเด็นปัญหาสิทธิมนุษยชนที่สำคัญที่สุดในกัมพูชาทุกวันนี้ การอ้างกรรมสิทธิ์ที่ดินของผู้อยู่อาศัยซึ่งมักถูกเพิกเฉย และการชุมนุมประท้วงของชาวบ้านจากการขับไล่ที่ ที่มักเผชิญต่อการปราบปรามอย่างรุนแรงโดยเจ้าหน้าที่รัฐ
เขมรแดง ได้ทำลายสิทธิการเป็นเจ้าของที่ดินในช่วงการปกครองระหว่างปี 2518-2522 เอกสารทางกฎหมายจำนวนมากสูญหายไปในช่วงการปกครองของเขมรแดง ซึ่งทำให้การอ้างกรรมสิทธิ์ที่ดินในปัจจุบันเป็นเรื่องซับซ้อน.