xs
xsm
sm
md
lg

ชาวเขาเวียดนาม 14 คน หนีข้ามแดนซ่อนตัวในป่าเขมร ขอลี้ภัยตามรอยกลุ่มแรก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

<br><FONT color=#000033>ภาพแฟ้มเอเอฟพีวันที่ 20 ธ.ค. 2557 ที่ได้รับการเผยแพร่จากกลุ่มสิทธิมนุษยชน Adhoc เผยให้เห็น กลุ่มชาวเขา 13 คน จากเวียดนามที่หลบหนีข้ามพรมแดนเข้ามาซ่อนตัวอยู่ในป่าของกัมพูชา ยอมออกจากที่ซ่อนพบกับเจ้าหน้าที่จากสหประชาชาติเพื่อขอลี้ภัย ล่าสุดมีชาวเขาหลบหนีข้ามแดนจากเวียดนามอีก 14 คน ตามรอยกลุ่มแรกเพื่อขอลี้ภัยเช่นกัน.-- Agence France-Presse/ADHOC.</font></b>

เอเอฟพี - ชาวเขาเวียดนาม 14 คน หลบซ่อนตัวอยู่ในป่าลึกของกัมพูชาหลังข้ามพรมแดนหลบหนีการกดขี่ข่มเหง และขอลี้ภัย นักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชนระบุวันนี้ (20)

ชาวเขากลุ่มนี้ตามรอยชาวเขา 13 คนแรกที่ยื่นขอลี้ภัยในกัมพูชาเมื่อเดือน ธ.ค. ด้วยความช่วยเหลือของสหประชาชาติ หลังใช้เวลาเกือบ 2 เดือนตั้งค่ายอยู่ในป่าใน จ.รัตนะคีรี ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศ

ชาวเขาที่นับถือศาสนาคริสต์จากเขตที่ราบสูงภาคกลางของเวียดนามจำนวนมากได้ข้ามพรมแดนมายังกัมพูชาในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้ เพื่อหลบหนีการเลือกปฏิบัติ

กลุ่มชาวเขาจำนวนมากยังคงกิจวัตรตามแนวทางของนิกายโปรเตสแตนต์ ที่ทำให้ขัดแย้งต่อผู้ปกครองคอมมิวนิสต์ ที่ควบคุมศาสนาอย่างเข้มงวด

นักเคลื่อนไหวจากกลุ่มสิทธิมนุษยชน Adhoc ในกัมพูชา กล่าวว่า ชาวเขา 5 คน เดินทางมาถึงกัมพูชาเมื่อวันที่ 3 ม.ค. ส่วนอีก 9 คนที่เหลือ รวมเด็กอีก 3 คน ข้ามพรมแดนมาเมื่อวันเสาร์ (17)

“พวกเขาซ่อนตัวอยู่ในป่าเพื่อเลี่ยงการจับกุมของเจ้าหน้าที่กัมพูชา พวกเขาต้องการให้สหประชาชาติช่วยเหลือ พวกเขาบอกว่า หลบหนีมาจากเวียดนามเพราะรัฐบาลเวียดนามจำกัดเสรีภาพ และการปฏิบัติทางศาสนา” นักเคลื่อนไหว กล่าว

ชาย ธี จาก Adhoc กล่าวว่า องค์กรของเขาได้แจ้งไปยังหน่วยงานผู้ลี้ภัยของสหประชาชาติเกี่ยวกับคนกลุ่มนี้แล้ว

ในปี 2544 กองกำลังทหารเวียดนามได้เข้าปราบปรามการชุมนุมประท้วงในเขตที่ราบสูงภาคกลาง ส่งผลให้ชาวเขาจำนวนมากอพยพออกจากพื้นที่ และทางการเวียดนามมักขอให้ทางการกัมพูชาส่งตัวผู้ที่หลบหนีกลับประเทศ

ในกรุงพนมเปญ วันนี้ (20) เคียว โสเพียก โฆษกกระทรวงมหาดไทย ระบุว่า กลุ่มชาวเขาที่หลบซ่อนตัวนั้นเป็นผู้อพยพผิดกฎหมาย

“เรายังไม่เชื่อว่าพวกเขาเป็นชาวเขา แต่เราทราบว่า มีผู้อพยพผิดกฎหมายอยู่ในป่า เราไม่สามารถตัดสินได้ว่า พวกเขาเป็นชาวเขาหรือไม่จนกว่าจะได้สอบถาม” เคียว โสเพียก กล่าว

ในเดือน พ.ค.2554 ชาวม้งหลายพันคนได้รวมตัวในพื้นที่ห่างไกลทางตะวันตกเฉียงเหนือของเวียดนาม เพื่อรอการมาถึงของพระผู้ช่วยให้รอด การรวมตัวครั้งนั้นถูกเจ้าหน้าที่เข้าสลาย หลายสิบคนถูกจำคุกจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ซึ่งทางการเวียดนามอ้างว่า เป็นแผนของผู้สนับสนุนแบ่งแยกดินแดนที่ต้องการจะโค้นล่มรัฐบาล.
กำลังโหลดความคิดเห็น