เอเอฟพี - กลุ่มสิทธิมนุษยชนได้กล่าวโจมตีวิจารณ์ผู้นำกัมพูชา ว่าใช้ “ความรุนแรง การปราบปราม และการทุจริตคอร์รัปชัน” เพื่อรักษาอำนาจไว้ในกำมือ ในโอกาสที่ฮุนเซน ครบรอบ 30 ปี การเป็นนายกรัฐมนตรีของประเทศในวันนี้ (14)
อดีตทหารเขมรแดงกลายเป็นนายกรัฐมนตรีที่อายุน้อยที่สุดของโลก เมื่อฮุนเซน ขึ้นนั่งเก้าอี้ผู้นำในวันที่ 14 ม.ค.2528 ขณะมีอายุ 32 ปี แต่การบริหารปกครองบ้านเมืองของฮุนเซนถูกกล่าวหาว่ามีการรับสินบน และมักถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่า เพิกเฉยต่อสิทธิมนุษยชน และปราบปรามผู้เห็นต่าง
ฮิวแมนไรท์วอช ระบุในรายงานที่เผยแพร่เมื่อวันอังคาร (13) กล่าวหาผู้นำอายุ 62 ปีรายนี้ว่าปกครองบ้านเมืองด้วยความรุนแรง ควบคุมกองกำลังรักษาความปลอดภัย และจัดการการเลือกตั้งให้ตัวเองกลายเป็นผู้นำทางการเมืองที่อยู่ในอำนาจยาวนานที่สุดคนที่ 6 ของโลก
“สำหรับช่วง 3 ทศวรรษที่ผ่านมา ฮุนเซน ได้ใช้ความรุนแรงทางการเมือง การปราบปราม และการคอร์รัปชัน เพื่อรักษาอำนาจตัวเองไว้” แบรด อดัมส์ ผู้อำนวยการฮิวแมนไรท์วอช ประจำภูมิภาคเอเชีย กล่าวในคำแถลงฉบับหนึ่ง
“กัมพูชาจำเป็นที่จะต้องปฏิรูปอย่างเร่งด่วนเพื่อให้ประชาชนสามารถใช้สิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานของตัวเองโดยปราศจากซึ่งความกลัวของการถูกจับกุม ทรมาน และการประหาร ซึ่งบทบาทของประเทศผู้บริจาคเป็นสิ่งสำคัญในการทำให้สิ่งดังกล่าวเกิดขึ้น” แบรด อดัมส์ ระบุ
ในช่วงที่กัมพูชาตกอยู่ในภาวะสงครามกลางเมืองในปี 2513 ฮุนเซน เข้าร่วมเป็นทหารในการปกครองของเขมรแดง และก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งรองผู้บัญชาการกองพลภาคตะวันออกของกองกำลังเขมรแดง ก่อนเข้าร่วมกับฝ่ายเวียดนาม และกลับมาพร้อมกับกองกำลังทหารของเวียดนามเพื่อขับไล่เขมรแดง และขึ้นสู่ตำแหน่งสูงสุดของรัฐบาลที่เวียดนามหนุนหลังในกัมพูชา
“ผมขอขอบคุณผู้ที่กล่าวว่า ผมเป็นคนไม่ดี และขอบคุณผู้ที่กล่าวว่าผมเป็นคนดี ผมขอขอบคุณทุกคน” ฮุนเซน กล่าวในพิธีก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโขง ในเมืองเนียกเลือง ห่างจากกรุงพนมเปญทางตะวันออกเฉียงใต้ราว 60 กม.
“หากไม่มีฮุนเซน ก็จะไม่มีข้อตกลงสันติภาพกรุงปารีส” ฮุนเซน อ้างถึงข้อตกลงปี 2534 ที่ให้สหประชาชาติเข้าจัดการการหยุดยิง และการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย หลังกัมพูชาอยู่ในภาวะสงครามกลางเมืองหลายปี
“หากฮุนเซน ไม่เข้าถ้ำเสือ ก็คงไม่ได้เสือ” ผู้นำกัมพูชากล่าวอ้างถึงบทบาทในการโค่นล้มเขมรแดง
“แม้อันที่จริงแล้วผมได้ทำผิดพลาดไปบ้าง แต่ได้โปรดช่วยชั่งน้ำหนักระหว่างสิ่งที่ถูก และสิ่งที่ผิด”
เมื่อประเทศหลุดพ้นจากความขัดแย้ง ฮุนเซน ทิ้งความเชื่อการปกครองระบอบคอมมิวนิสต์ของกองกำลังเวียดนาม เปิดรับระบบตลาดเสรี และมองหาพันธมิตรกับประเทศมหาอำนาจ
“ในขณะที่กัมพูชากำลังยินดีต่อความสัมพันธ์ที่มั่นคงขึ้น แต่นายกรัฐมนตรีเผด็จการได้หล่อเลี้ยงระบบที่อำนาจทางการเมืองเป็นฐานพันธมิตรให้แก่พรรครัฐบาล” โสเพียบ จัก ผู้อำนวยการบริหารของศูนย์สิทธิมนุษยชนกัมพูชาในกรุงพนมเปญ ระบุ
“รัฐบาลล้มเหลวที่จะสร้างหลักนิติธรรม หรือต่อสู้ต่อการไม่ต้องถูกลงโทษ และการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรงมักเกิดขึ้นบ่อยครั้ง” โสเพียบ กล่าว
ความไม่พอใจของประชาชนเกี่ยวกับการบังคับไล่ที่ และปัญหาความไม่เท่าเทียมกันเพิ่มสูงขึ้นในกัมพูชา หนึ่งในประเทศที่ยากจนที่สุดในโลก ซึ่งนำไปสู่การสนับสนุนพรรคกู้ชาติกัมพูชา (CNRP) ที่เป็นฝ่ายค้านเพิ่มขึ้น
CNRP คว่ำบาตรรัฐสภาเกือบ 1 ปี หลังกล่าวหาว่า ฮุนเซน โกงการเลือกตั้งปี 2556 ที่ทำให้พรรคประชาชนกัมพูชาของฮุนเซน ครองอำนาจต่อ CNRP เพิ่งเข้านั่งในรัฐสภาเมื่อเดือน ก.ค. หลังได้รับคำมั่นเกี่ยวกับการปฏิรูปรัฐสภา และระบบการเลือกตั้ง
“ประเทศอื่นๆ จะเปลี่ยนผู้นำใหม่เพื่อเป็นเกียรติแก่ประชาธิปไตย และความก้าวหน้าของประเทศ แม้แต่ประเทศคอมมิวนิสต์ เช่น จีน และเวียดนาม ก็เปลี่ยนผู้นำ ผู้นำที่ยึดอำนาจเป็นเวลายาวนานไม่ได้ให้อะไรต่อประเทศตนเอง” สม รังสี หัวหน้าพรรค CNRP กล่าว
แต่ในวันนี้ (14) ฮุนเซน กล่าวว่า เขาจะอยู่ในอำนาจไปจนอย่างน้อยปี 2561 ซึ่งเป็นปีที่กำหนดจัดการเลือกตั้งทั่วไปครั้งถัดไป และว่าเขาจะอยู่ในอำนาจยาวนานเท่าใดนั้นขึ้นอยู่กับผู้มีสิทธิลงคะแนนเสียงด้วย จากเดิมก่อนหน้านี้ ฮุนเซน ได้ให้คำมั่นว่าจะครองอำนาจไปจนกว่าจะอายุ 74 ปี.