xs
xsm
sm
md
lg

เขมรระดมทหารเตรียมพร้อม หลังแรงงานเดินขบวนร้องขึ้นเงินเดือนรอบใหม่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

<br><FONT color=#000033>แรงงานตัดเย็บเสื้อผ้าสำเร็จรูปถือป้ายเรียกร้องปรับค่าแรงให้สูงขึ้นจาก 100 ดอลลาร์ เป็น 177 ดอลลาร์ต่อเดือน ในกรุงพนมเปญ วันที่ 17 ก.ย. ทางการได้ระดมกองกำลังติดอาวุธเข้ามาประจำการในเมืองหลวงเมื่อแรงงานรวมตัวเดินขบวนรณรงค์ปรับเพิ่มค่าแรง.--Reuters/Samrang Pring.</font></b>

รอยเตอร์ - ทางการกัมพูชา ระดมกองกำลังติดอาวุธตั้งอยู่ในเมืองหลวงของประเทศวันนี้ (17) เมื่อแรงงานตัดเย็บเสื้อผ้าสำเร็จรูปรวมตัวเดินขบวนครั้งใหม่เรียกร้องการปรับค่าแรงสูงขึ้น ที่อาจเป็นการจุดชนวนวิกฤตการเมืองนานนับปีให้ปะทุขึ้นอีกครั้ง

แรงงานจากโรงงานตัดเย็บเสื้อผ้าสำเร็จรูปราว 500 คน เดินขบวนในย่านอุตสาหกรรมชานกรุงพนมเปญ เรียกร้องปรับเพิ่มค่าแรงจาก 100 ดอลลาร์ เป็น 177 ดอลลาร์ต่อเดือน ขณะที่ทหารพร้อมปืนไรเฟิลหลายสิบนายเฝ้าจับตาดูการชุมนุมครั้งนี้ และผู้เห็นเหตุการณ์ระบุว่า มีเฮลิคอปเตอร์บินอยู่เหนือโรงงานก่อนหน้านี้

ตำรวจประมาณ 100 นาย เตรียมพร้อมอยู่ที่เขตเศรษฐกิจใน จ.สวายเรียง ติดกับพรมแดนเวียดนาม ที่บรรดาแรงงานโรงงานตัดเย็บเสื้อผ้าสำเร็จรูปได้รวมตัวกันอยู่เช่นกัน ประธานกลุ่มสหภาพเคลื่อนไหวแรงงานเปิดเผยต่อรอยเตอร์

“ทำไมรัฐบาลของเรากลัวประชาชนของตัวเอง โดยเฉพาะคนที่ชุมนุมเพื่อเรียกร้องเพียงแค่เงินเดือน” ผู้อำนวยการกลุ่มสิทธิมนุษยชน Licadho กล่าว และให้ข้อมูลว่า แกนนำสหภาพแรงงาน 2 คน ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจับตัว

อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีรายงานเหตุรุนแรงเกิดขึ้นในการชุมนุมครั้งนี้

การเติบโตของภาคตัดเย็บเสื้อผ้าสำเร็จรูปได้กลายเป็นประเด็นปัญหาสำหรับรัฐบาลนายกรัฐมนตรีฮุนเซน ภาคส่วนที่มีบทบาทสำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศ สร้างงานกว่า 500,000 ตำแหน่ง และสร้างรายได้ 5,000 ล้านดอลลาร์ในแต่ละปี แต่มักเกิดการชุมนุมประท้วงโดยสหภาพที่แข็งกร้าวมากขึ้นทดสอบความอดทนของรัฐบาล

หากการเคลื่อนไหวนำไปสู่การผละงานที่ยาวนาน เป็นไปได้ที่คำสั่งซื้อจากบริษัทที่จ้างให้โรงงานในกัมพูชาผลิต เช่น Gap Nike H&M Hennes&Mauritz และ Zara จะลดลง

“เราต้องการส่งสารไปยังผู้ซื้อทุกรายว่า เราต้องได้รับค่าจ้างขั้นพื้นฐาน” อัธ ธน ประธานสหภาพแรงงานเครื่องนุ่งห่มกัมพูชา ที่เป็นสหภาพอิสระกลุ่มใหญ่ที่สุด กล่าวต่อผู้สื่อข่าวในที่ชุมนุม

ภาคอุตสาหกรรมตัดเย็บเสื้อผ้าสำเร็จรูปของกัมพูชายังเล็กกว่าในจีน และเวียดนาม แต่ด้วยค่าแรงที่ต่ำกว่าทำให้ดึงดูดแบรนด์ต่างๆ มายังกัมพูชาได้

อย่างไรก็ตาม ข้อร้องเรียนเกี่ยวกับการใช้แรงงานเยี่ยงทาส สภาพการทำงานที่ย่ำแย่ และการปราบปรามโดยกองกำลังรักษาความปลอดภัยในเดือน ม.ค. จนทำให้มีผู้เสียชีวิต 5 คน สามารถสร้างความเสียหายต่อชื่อเสียงของแบรนด์เสื้อผ้าเหล่านั้น

อัธ ธน กล่าวว่า พันธมิตรนักเคลื่อนไหวของสหภาพยังได้ให้การสนับสนุนการรณรงค์ในวันนี้ในเมืองหลวงหลายแห่งด้วยการยื่นคำร้องไปยังสถานทูตกัมพูชา และร้านค้าชั้นนำที่จำหน่ายเสื้อผ้าที่ผลิตขึ้นในกัมพูชา

IndustriALL ที่เป็นตัวแทนแรงงาน 50 ล้านคน ใน 140 ประเทศทั่วโลก ระบุว่า กิจกรรมการรณรงค์เกิดขึ้นในออสเตรเลีย เบลเยียม และสวิตเซอร์แลนด์

“พวกเขาเข้าใจว่า ภาคตัดเย็บเสื้อผ้าสำเร็จรูปของกัมพูชาได้ทำให้แรงงานจำนวนมากกลายเป็นเหยื่อ เมื่อแรงงานไม่ได้รับเงินเดือนพื้นฐาน พวกเขาประท้วง และก็ถูกฆ่าในที่สุด” อัธ ธน กล่าว

ข้อขัดแย้งที่ดำเนินมายาวนานเกี่ยวกับค่าแรงดูเหมือนจะได้รับการจัดการในช่วงก่อนหน้าการเลือกตั้งปีก่อน ที่บรรดาสมาคมผู้ผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูปในกัมพูชาได้เห็นพ้องกันที่จะค่อยๆ ปรับเพิ่มเงินเดือนขั้นต่ำให้แรงงานเป็น 160 ดอลลาร์ ในปี 2561

แต่หลายอย่างเปลี่ยนแปลงไป เมื่อพรรคกู้ชาติกัมพูชา (CNRP) ออกรณรงค์เลือกตั้งด้วยการให้คำมั่นว่าจะปรับเพิ่มเงินเดือนให้มากขึ้นไปอีก และพรรค CNRP ได้เสียงสนับสนุนจากสหภาพแรงงานตัดเย็บเสื้อผ้าในช่วงหลายเดือนของการประท้วงบนท้องถนนเพื่อเรียกร้องให้มีการจัดการเลือกตั้งใหม่จากข้อกล่าวหาว่าพรรครัฐบาลโกงเลือกตั้ง

ต่อมา พรรค CNRP ได้ตกลงกับพรรคประชาชนกัมพูชา ที่จะยุติการคว่ำบาตรรัฐสภา และสงบศึกกันชั่วคราว แต่ยังไม่เป็นที่ชัดเจนว่า พรรค CNRP ให้การสนับสนุนการชุมนุมเรียกร้องเงินเดือนของแรงงานครั้งล่าสุดนี้หรือไม่.
กำลังโหลดความคิดเห็น