ASTVผู้จัดการออนไลน์ - กองทัพพม่าจัดพิธีสวนสนามครั้งใหญ่ในกรุงเนปีดอ วันอาทิตย์ (4 ม.ค.) ที่ผ่านมา เนื่องในโอกาสครบรอบปีที่ 67 การประกาศเอกราช และถ้าหากสังเกตให้ดีก็จะพบว่า การสวนสนามครั้่งนี้เป็นพิเศษกว่าทุกครั้งที่ผ่านมา นั่นก็คือ ทหารทุกเหล่าที่เข้าร่วมพิธีล้วนถือปืนกลกึ่งอัตโนมัติแบบ “บุลพับ” (Bullpub) รุ่นใหม่ล่าสุดที่ผลิตเองในประเทศ ซึ่งอาจจะแสดงให้เห็นว่าเป้าหมายการผลิตปืนรุ่นใหม่สำหรับกองทัพใกล้บรรลุแล้ว
เป็นที่ทราบกันดีว่า กระทรวงกลาโหมพม่าได้ซุ่มผลิตปืนเล็กยาวกึ่งอัตโนัติแบบ MA1, MA2, MA3 และ MA4 ตั้งแต่ 5-6 ปีที่แล้ว แต่กำลังพัฒนาขึ้นเป็น MA1 Mk2 และ MA3 Mk3 ที่ทันสมัยกว่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือรุ่นหลังนั้น พม่าตั้งใจจะให้เป็นปืนไรเฟิลมาตรฐานสำหรับทุกเหล่าทัพภายในปี 2559 หรือปีหน้านี้
นั่นคือปืนชุด Myanmar Army ที่จะถูกนำเข้าประจำการแทนที่ปืนชุด BA (Burma Army) ซึ่งก็คือ ไรเฟิล G3 ของเอชเคจากเยอรมนีในอดีต กับรุ่นหลังๆ ที่แหล่งข่าวกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์ตามแนวชายแดนไทย กล่าวว่า พม่าใช้ต้นแบบจาก HK33 ที่ผลิตโดยกองทัพไทย และยึดไปได้จากการปะทะตามแนวชายแดนเมื่อหลายปีก่อน รวมทั้งปืนตระกูล MA 11 กับ MA 12 ที่ใช้แพร่หลายในเหล่าทัพต่างๆ ด้วย
ชุด MA 11 กับ MA 12 นี้ พม่าพัฒนาขึ้น และใช้งานมาตลอดในช่วงเกือบ 20 นี้ โดยดัดแปลงจากไรเฟิลกาลิล (Galil) ของอิสราเอล
จากปืนไรเฟิลมาตรฐานแบบเก่าๆ ที่เคยเห็นกันชินตาเวลาเกือบครึ่งศตวรรษ กองทัพพม่ากำลังจะก้าวเข้าสู่อีกยุคหนึ่งที่ดูทันสมัย ด้วยไรเฟิลสมัยใหม่ แบบที่ติดตั้งชุดเหนี่ยวไกยิงอยู่ด้านหน้าซองบรรจุกระสุน ซึ่งทำให้ปืนมีขนาดสั้นลง กะทัดรัด สะดวกในการพกพา แต่ในขณะเดียวกันก็ทำให้ลำกล้องยาวขึ้น รักษาความแม่นยำไว้ในระดับสูงสุด
พร้อมๆ กับผลิต MA 1 ไรเฟิลบุลพับแบบคาร์บิน (Carbine) หรือปืนเล็กยาวโจมตีทั่วไป กระทรวงกลาโหมพม่าได้ผลิต MA 2 ออกมาเป็นปืนกลเบา (Light Machine Gun) บุลพับที่ยาวขึ้นพร้อมติดขาตั้งยิง (Bipod) ที่ด้านหน้า กับ MA 3 ปืนคาร์บินขนาดลำกล้องยาวขึ้น ติดตั้งอุปกรณ์ได้หลากชนิด และ MA 4 ไรเฟิลบุลพับที่ติดตั้งเครื่องยิงระเบิดขนาด 40 มม. ที่มือจับด้านล่าง ซึ่ง Jane's Weekly เคยรายงานว่า พม่าพัฒนาโดยดัดแปลงเพียงเล็กน้อย จากเครื่องยิง M203 ของสหรัฐฯ ที่สิงคโปร์ซื้อสิทธิบัตรไปผลิตสำหรับติดไรเฟิล M16-S1 ของตนเมื่อก่อนนี้ ต่อมา M203 ของสิงคโปร์ถูกคนวงในลักลอบส่งไปขายให้พม่าอีกที
แต่ปืนชุด Myanmar Army ล่าสุดนี้ พม่าได้ต้นแบบไปจากแหล่งใด? เป็นคำถามที่ถามกันมาในช่วง 5-6 ปีมานี้ และทุกอย่างได้เป็นที่กระจ่างในอีกไม่นานต่อมาจากรายงานในสื่อจีน เนื่องจากไม่ว่าจะมองมุมไหน ปืนของพม่าก็ดูคล้ายกับไรเฟิลบุลพับ QBZ-97 ที่ผลิตโดยโนรินโก (NORINCO) บริษัทผลิตอาวุธของรัฐบาลจีน จนกลายต่อหลายคนเข้าใจว่า พม่่าซื้อไปจากจีนเป็นล็อตใหญ่
.
2
3
4
5
6
7
8
9
10
11
*แต่ก็มีเรื่องยาวกว่านี้อีก*
ไรเฟิล BA63 หรือ G-3 รุ่นแรกๆ นั้นพม่าซื้อจาก Heckler & Koch GmbH (HK) ในเยอรมนีโดยตรง ก่อนจะถูกโลกตะวันตกคว่ำบาตรหลังเหตุการณ์ปราบปรามผู้เดินขบวนเรียกร้องประชาธิปไตยเมื่อปี 2531 ซึ่งมีผู้ถูกสังหารไปไม่น่าจะต่ำกว่า 3,000 คน หลักฐานภาพถ่ายทำให้เชื่อว่า ทหารพม่าใช้ G-3 เป็นอาวุธสังหาร แต่การค้าการขายไม่เข้าใครออกใคร บริษัทลูกของ HK แห่งหนึ่งได้เข้าไปจดทะเบียนในพม่า นำเข้าอุปกรณ์เครื่องจักร เข้าไปเปิดสายการผลิตปืนในพม่าเสียเลย โดยร่วมกับวิสาหกิจผลิตอาวุธของกระทรวงกลาโหม กว่ารัฐบาลเยอรมนีจะไหวทันก็ช้าเกินไป ทำให้พม่าผลิต BA ออกมาอีกหลายรุ่น รวมทั้ง BA 72 กับ BA 100 ซึ่งแม้ว่ารูปลักษณ์จะดูต่างออกไป แต่ทั้งหมดใช้เทคโนโลยีของ HK ล้วนๆ
พม่ายังคงดิ้นรนเพื่อพัฒนาต่อไปไม่หยุดยั้ง จนในที่สุดก็ไปคว้าเทคโนโลยีจากบริษัท Israel Military Industries Ltd หรือ IMI ซึ่งเป็นผู้ผลิตไรเฟิลที่มีชื่อเสียง 3 รุ่น คือ “ทาวอร์” TAR-21 (Tavor), เนเกฟ (Negev Light Machine Gun) เป็นปืนกลเบาอานุภาพสูง กับไรเฟิลมาตรฐานกาลิล ซึ่งใช้ระบบเดียวกันกับ AK-47 ของกาลาสนิกอฟแห่งสหภาพโซเวียตเมื่อก่อน
ด้วยความช่วยเหลือจาก IMI ทำให้พม่าสามารถพัฒนาปืนไรเฟิลโจมตีมาตรฐาน (Standard Assault Rifle) รุ่นใหม่ออกมาใช้ทั้งกองทัพ ซึ่งเป็นที่คุ้นหน้าคุ้นตาในช่วง 20 ปีมานี้ คู่กับไรเฟิล BA เมื่อก่อน นั่นก็คือ MA11 กับ MA12
แต่ไรเฟิลบุลพับพม่ามีความเป็นมาแตกต่างกัน ปืนซีรีส์ใหม่คือ MA 1, MA 2, MA 3 และ MA 4 ไม่ได้เกี่ยวข้องใดๆ กับ TAR-21 บุลพับที่มีชื่อเสียงก้องโลกของอิสราเอล แต่พม่าพัฒนาขึ้นมาโดยใช้ QBZ-97 บุลพับของจีนเป็นแบบฉบับ
จะเรียกว่าก๊อบปี้จากจีนอีกทีก็ไม่ผิด เพราะรูปลักษณ์รวมทั้งรายละเอียดภายในจะแตกต่างออกไปก็เพียงปลีกย่อย
ไรเฟิลบุลพับของพม่าเป็นข่าวให้ฮือฮากันครั้งแรกเมื่อหลายปีก่อน ซึ่งหน่วยรักษาความปลอดภัยการก่อสร้างท่อน้ำมันของบริษัทจีนแห่งหนึ่ง ถือไรเฟิลรุ่นหนึ่งที่ดูไปก็คล้ายๆ กับ QBZ-97 มากๆ ทีแรกก็เข้าใจกันว่า บริษัทจีนแห่งนั้นขอซื้อจาก NORINCO เพื่อนำไปใช้งานในพม่า ในช่วงปีที่จีนยังไม่ค่อยเต็มใจจะขายไรเฟิลหน้าตาดีรุ่นนี้ให้ใคร
รายงานของสื่อกลาโหมหลายสำนักระบุชัดว่า บริษัทลูกของ NORINCO เอง ที่นำ QBZ-97 จำนวนหนึ่งไปให้กองทัพพม่าได้ทดสอบ ซึ่งก็เป็นที่พอใจยิ่ง และไม่ทราบว่าเกิดอะไรขึ้นเมื่อนำเข้าไปแล้วจึงไม่ได้นำออกไปด้วย
ในปี 2552 นิตยสารข่าวอิรวดีรายงานว่า ช่วงนั้นพม่ากำลังผลิตซีรีส์ MA1-MA4 ออกมา เพื่อนำไปใช้ทำศึกกับกองกำลังของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ในแนวหน้า เนื่องจากเบากว่า และคล่องตัวกว่าพวก BA กับ MA 11-12 ถึงแม้ว่าจะไม่มีฤทธิ์หนักหน่วงเท่ากับไรเฟิล 2 กลุ่มแรกก็ตาม
แต่นั่นคือข้อสันนิษฐานเริ่มแรก โดยในขณะนั้นยังไม่มีใครเฉลียวใจว่า พม่ากำลังผลิตปืน MA ชุดใหม่โดยมีแผนการใหญ่โตยิ่งกว่านั้นอีก นั่นก็คือ การเปลี่ยนปืนเล็กยาวโจมตีมาตรฐานให้แก่ทุกเหล่าทัพ ที่เชื่อว่ามีกำลังพลรวมทั้น 100,000-200,000 คน และกว่าภายนอกจะรู้เรื่องนี้ พม่าก็ไปไกลมากแล้ว
ในพิธีเดินสวนสนามโอกาสครบรอบ 66 ปีการก่อตั้งของกองทัพเรือเมื่อปีที่แล้ว ได้ปรากฏว่าหน่วยนาวิกโยธินถือไรเฟิลบุลพับกันเพียบ แหล่งข่าวกลาโหมทั้งในปากีสถาน และบังกลาเทศที่เฝ้าติดตามพัฒนาการในเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด กล่าวว่า นั่นคือ MA 3 Mk 3 แบบเดียวกับที่ทุกเหล่าทัพนำออกอวดในพิธีสวนสนามวันเอกราชในวันอาทิตย์ที่ผ่านมา
จีนนั้นได้ชื่อว่าทำได้ทุกอย่าง ลอกเลียนแบบอาวุธได้ทุกชนิด ตั้งแต่ปืนพก ปืนเล็กยาว จนถึงเรือรบ และจรวดยิงเรือ เครื่องบินกับจรวดต่อสู่อากาศยาน และยานลำเลียงพลหุ้มเกราะ รถบรรทุกทหารจนถึงรถถัง และเป็นที่ทราบกันดีว่า ไม่กี่ปีมานี้จีนได้จำหน่ายไรเฟิล QBZ-97 ให้แก่กองทัพหลายประเทศทั่วโลก รวมทั้งกองทัพราชอาณาจักรกัมพูชา และ กองทัพประชาชนลาว ด้วย
แต่ต้องมาเจอบุลพับหม่องประดิษฐ์ซึ่งจีนได้แต่ทำตาปริบๆ.
.
ประธานาธิบดีเต็งเส่ง เป็นประธานในพิธีสวนสนามวันเอกราช วันอาทิตย์ 4 ม.ค.ที่ผ่านมา ในกรุงเนปีดอ กองทัพพม่านำอาวุธยุทโธปกรณ์หลากชนิดที่รู้จักกันดีอยู่แล้วออกแสดง ทั้งเครื่องบินโจมตีทิ้งระเบิดแบบ MiG-29 เครื่องบินโจมตีขนาดเบาผลิตเองในประเทศ จรวดต่อสู้อากาศยานตระกูล “เปชอรา” และ “ดาวินา” คือ S-75 กับ S-125 (SA-2, SA-3) ที่ซื้อจากรัสเซียและจำนวนหนึ่งในนั้นเป็นเวอร์ชันผลิตในจีน กองทัพบกนำ ป.อัตตาจร 155 มม., 122 มม. ยานต่อสู้รถถังติดปืนใหญ่ 100 มม. กับรถถัง T-59 และ T-69 ที่ซื้อจากจีนเข้าร่วม ไม่ปรากฏตัวในปีนี้คือ รถถังหลัก MBT2000 ที่ซื้อจากจีน กับ T-72 จากยุโรปตะวันออก แต่อาวุธที่แย่งซีนสุดๆ เที่ยวนี้กลับเป็นไรเฟิลบุลพับ MA3 Mk3 ที่จะเป็นปืนเล็กยาวมาตรฐานของกองทัพพม่าภายในปี 2559 นี้. -- Reuters/AFP/AP. |
12
13
14
15
16
17
18
19
20
21
22