ASTVผู้จัดการออนไลน์ - ปี 2557 กำลังจะผ่านไปอย่างมีความหมายสำหรับผู้คนในวงการกลาโหมระดับนานาชาติ และภูมิภาค เป็นปีที่มีการนำเอาเทคโนโลยีล้ำยุคมาประยุกต์ใช้เพื่อการป้องกันประเทศ และมีความคืบหน้าที่สัมผัสได้ในหลายๆ ด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือ การพัฒนาหุ่นยนต์ที่คิดเป็นแบบมนุษย์ แข็งแรง และมีความสามารถเหนือมนุษย์ ซึ่งในอนาคตอันไม่ใกล้ไม่ไกลอาจจะได้เห็นหุ่นยนต์พวกนี้เข้าทำหน้าที่ในด้านต่างๆ แทนคน ทั้งในสงคราม และในยามสันติ ..การพัฒนาหุ่นยนต์ใต้น้ำที่เลียนรูปลักษณ์ และการว่ายที่ดูเป็นธรรมชาติแบบปลาทูน่า สำหรับการออกลาดตระเวน รวมทั้งการโจมตีทำลายเรือข้าศึกจากใต้สมุทร ไปจนถึงการพัฒนาหุ่นยนต์บนบก ที่สามารถแบกหามทำงานหนักแทนมนุษย์ กับหุ่นยนต์อีกตัวหนึ่งที่สามารถวิ่งได้เร็วกว่านักวิ่งโอลิมปิกคนหนึ่ง เร็วระดับเสือแผ้ว หรือเสือชีตาห์ (Cheetah) ก็ล้วนมีความคืบหน้าไปไกลเช่นเดียวกัน
การพัฒนาหุ่นยนต์แบบฮิวมานอยด์ (Humanoid) กำลังดำเนินไปโดย DARPA หรือองค์การวิจัยโครงการก้าวหน้าด้านกลาโหม ซึ่งเป็นอีกหน่วยงานหนึ่งของเพนตากอน ซึ่งผลิตต้นแบบหุ่นที่ “คิดเป็น” เหล่านี้ออกมาแสดงความสามารถให้ประจักษ์ และยังจะต้องพัฒนาต่อไปอีกสักระยะ ไม่ต่างกับ “เสือแผ้ว” หรือ “ชีตาห์” หุ่นยนต์ที่วิ่งได้เร็ว.. เร็วกว่าคนสัก 15 เท่าตัว ซึ่งวันข้างหน้ามันอาจจะมีความเร็วได้เท่ากับเสือชีตาห์แห่งป่าซาวันนาในแอฟริกาก็เป็นได้
หน่วยงานหนึ่งของสถาบันเทคโนโลยีแห่งแมสซาชูเซตส์ หรือเอ็มไอที (MIT) ได้นำเจ้าชีตาห์น้อยของตัวเองออกโลดแล่นเป็นครั้งแรกในสนามทดลองช่วงกลางปีนี้ ซึ่งมันวิ่งได้เร็วจริง โดยเลียนแบบการวิ่งของเสือแผ้วทุกย่างก้าว และถ้าหากล้มลงมันก็สามารถลุกขึ้นยืนใหม่ ออกวิ่งใหม่ได้อีกครั้ง ทีมนักวิจัยสัญชาติอเมริกันเกาหลี กับอีกหลายกลุ่มได้ทุ่มเทกำลังสมอง ช่วยกันสร้างต้นแบบที่มีชีวิตจริงขึ้นมา ซึ่งจะได้เห็นในปีหน้า เช่นเดียวกันกับบริษัทบอสตันไดนามิกส์ (Boston Dynamics) ที่วิจัย และทดลองเสือชีตาห์อีกตัวหนึ่งมาก่อนหน้านั้นสัก 2 ปี มันวิ่งได้เร็วกว่าของ MIT มาก วิ่งได้เร็วมากในห้องทดลอง และสักวันหนึ่งมันจะต้องออกมาวิ่งจริงในสนามทดสอบบ้าง
...การวิจัย และทดลอง “เสือชีตาห์” ของทั้ง 2 หน่วยงานนี้ได้รับการสนับสนุนด้านเงินทุนจากแหล่งเดียวกัน คือ DARPA โดยหุ่นยนต์เสือแผ้วนี้ เป็นตอนต่อเนื่องจาก โปรเจกต์ “ไอ้แมวป่า” (Wild Cat) กับ “ไอ้หมาใหญ่” (Big Dog) ที่ออกมาสร้างความฮือฮาเมื่อ 2 ปีก่อน และว่ากันว่านาวิกโยธินสหรัฐฯ อาจจะได้เป็นหน่วยแรกที่นำไปใช้ในปีหน้า
แต่ต่างไปจากแมวป่ากับหมาใหญ่ก็คือ ชีตาห์ของบอสตันไดนามิกส์ และของเอ็มไอที ใช้เทคโนโลยีใหม่ที่ทำให้เจ้าเสือแผ้วเงียบลง โดยใช้มอเตอร์ไฟฟ้าขับเคลื่อน แทนเครื่องยนต์เบนซินที่แผดเสียงลั่น และใช้หลักกลศาสตร์ กับหลักฟิสิกส์ช่วยในการเพิ่มพลังให้เจ้าเสือตัวใหม่นี้วิ่งไปข้างหน้าได้ไม่สิ้นสุด ...
เมื่อตอนต้นๆ ปี DARPA ได้เผยแพร่วิดีโอคลิปชิ้นหนึ่งที่แสดงให้เห็นการพัฒนาวิจัยเจ้า “บักซี” (Bugsy) หุ่นยนต์ตีนตะขาบตัวเล็กๆ ที่สามารถแล่นไปไหนมาไหน เข้าออกได้ทุกซอกหลืบ และ อย่างเงียบกริบ มันสามารถลุยน้ำได้ ปีนป่ายไปตามเส้นท่างขุขระได้ ดีดตัวกระโดดขึ้นหรือลงจากชั้น 2 ของอาคารได้ กับอีกชิ้นหนึ่งเป็นหุ่นยนต์ตุ๊กแกตีนเหนียว ที่สามารถปีนขึ้นลงผนังที่ชันดิ่งของอาคารสูงได้อย่างคล่องแคล่ว ลองหลับตานึกดูภาพในอนาคต เจ้าแมลงปีกแข็ง กับเจ้าตุ๊กแกตัวนี้จะมีประโยชน์มากมายมหาศาลขนาดไหนสำหรับมนุษย์ ทั้งเพื่อสันติ และเพื่อการรบ
นอกจากเรื่องของอนาคตแล้ว ปีนี้ก็ยังมีความคืบหน้าเป็นรูปเป็นร่างในอีกหลายด้าน มีการนำเข้าประจำการแล้วหลายรายการด้วยกัน
ใกล้เข้ามาเมื่อต้นเดือน ธ.ค.นี้ กองทัพเรือสหรัฐฯ ได้เปิดเผยวิดีโอเกี่ยวกับการทดลองที่เรียกว่า GhostSwimmer หรือ “ผีนักว่ายน้ำ” ซึ่งหมายถึงสิ่งประดิษฐ์ใหม่ เป็นหุ่นยนต์ปลาขนาดใหญ่ที่สามารถปฏิบัติการได้ด้วยตัวเอง ปราศจากการบังคับใดๆ โดยมนุษย์ สักวันหนึ่งเจ้าผีนักว่ายน้ำตัวนี้จะออกสอดส่องตรวจหาเรือข้าศึก ตรวจยานใต้น้ำที่อาจแปลกปลอมเข้ามาในบริเวณอ่าว หรือบริเวณฐานทัพ และในวันข้างหน้ามันอาจจะสามารถติดอาวุธโจมตีทำลายข้าศึกได้เช่นกัน
..ในสัปดาห์กลางเดือน ธ.ค. เรือโจมตีชายฝั่ง LCS3 “ฟอร์ตเวิร์ธ” (Forth Worth) เดินทางถึงย่านแปซิฟิกตะวันตก-ทะเลจีนใต้แล้ว โดยเลือกเยือนอินโดนีเซียเป็นประเทศแรก เป็นการเริ่มการประจำการครั้งประวัติศาสตร์ในย่านนี้เป็นเวลาปีครึ่ง เพื่อส่งเสริมสันติภาพ และเสถียรภาพในย่านนี้ ตามที่รัฐบาลสหรัฐฯ กล่าวอยู่บ่อยๆ แต่เรื่องที่มีความสำคัญพอๆ กันก็คือ เรือ LCS3 มาพร้อมกับ “ลูกเสือไฟ” (Fire Scout) ยานลาดตระเวนแบบไร้การบังคับใดๆ ซึ่งเป็นเทคโนโลยีใหม่เอี่ยม และเป็นครั้งแรกที่สหรัฐนำเอาหุ่นยนต์ที่มีรูปลักษณ์แบบอากาศยานปีกหมุนตัวนี้ติดบนเรือรบออกประจำการในต่างแดน