ASTVผู้จัดการออนไลน์ - กองทัพเรือสหรัฐฯ ประกาศในวันพฤหัสบดี 16 ต.ค. (17 ต.ค.เวลาในโซนเอเชีย) เกี่ยวกับแผนการส่งเรือพิฆาตทันสมัยที่สุด 3 ลำ ที่มีขีดความสามารถในการยิงโจมตี ทำลายขีปนาวุธระยะไกลโจมตีแนวดิ่ง หรือ Ballistic Missile เพื่อไปประจำการที่ฐานทัพโยโกสุกะ (Yokosuka) ในญี่ปุ่นระยะ 1-2 ปีข้างหน้า ซึ่งกองทัพเรือกล่าวในเว็บไซต์ว่า เป็นการเปลี่ยนแปลงด้านโครงสร้างครั้งสำคัญอีกครั้งหนึ่ง ในกองกำลังทางเรือที่ประจำการในภูมิภาคเอเชีย-อินโดแปซิฟิก และเป็นส่วนหนึ่งในแผนการ “กลับคืนสู่เอเชีย” ของสหรัฐฯ
2 ลำแรกเป็นเรือที่จะส่งเข้ามาเพิ่มเติมในภูมิภาคนี้ อีก 1 ลำเป็นเรือพิฆาตชั้นเดียวกันที่ผ่านการอัปเกรดเพื่อประจำการแทนเรือรุ่นเก่า ที่ได้เวลาจะต้องอัปเกรดช่วงกึ่งอายุประจำการ
นายชัก เฮเกล (Chuck Hagel) รัฐมนตรีกลาโหม เคยประกาศเมื่อต้นปีเกี่ยวกับการจะส่งเรือพิฆาตสุดทันสมัยจำนวน 2 ลำ ไปประจำการที่ฐานทัพในญี่ปุ่น ซึ่งเป็นที่ตั้งกองกำลังส่วนหน้าของกองทัพเรือที่ 7 แต่ยังไม่เคยได้รับการยืนยันจากเจ้าของงาน คือ กองทัพเรือจนกระทั่งสัปดาห์นี้
เรือเบนโฟลด์ (USS Benfold, DDG 65) กับเรือมีเลียส (USS Milius, DDG 69) เป็นเรือพิฆาตชั้นอาร์ลีห์เบิร์ก (Arliegh Burke Class) ลำแรกๆ ที่ต่อออกมารุ่นแรก หรือที่เรียกว่า “Flight I” เป็นจำนวน 21 ลำ และนำเข้าประจำการในช่วงทศวรรษที่ 1990 ทั้ง 2 ลำได้ผ่านการอัปเกรดช่วงกึ่งอายุเมื่อปี 2554 และผ่านการอัปเกรดด้านเครื่องยนต์ ระบบอิเล็กทรอนิกส์ รวมทั้งติดตั้งระบบป้องกัน-โจมตีแบบเอจิส (Aegis) รุ่นล่าสุด เช่นเดียวกันเรือรุ่นน้องในชั้นเดียวกันที่ต่อออกมาในยุคหลัง ปัจจุบันทั้ง 2 ลำ ประจำอยู่ที่ฐานทัพซานดิเอโก รัฐแคลิฟอร์เนีย
เบนโฟลด์ กับมีเลียส เป็นลำแรกๆ ในบรรดาเรือชั้นอาร์ลีเบิร์ก 21 ลำ กับเรือลาดตระเวนชั้นติคอนเดโรกา (Ticonderoga Class) 4 ลำ ที่กองทัพเรือจะติดตั้งระบบเอจิสรุ่นใหม่ล่าสุด ให้มีขีดความสามารถในการป้องกัน-ยิงทำลายขีปนาวุธโจมตีระยะไกลของข้าศึก ซึ่งตามข้อมูลที่เปิดเผยต่อสาธารณชน จนถึงสิ้นปี 2552 มีเรือพิฆาตที่ผ่านการอัปเกรด ขึ้นสู่มาตรฐานใหม่แล้วเสร็จ จำนวน 15 ลำ จากทั้งหมด 62 ลำ ที่ประจำการในขณะนี้
ปัจจุบัน สหรัฐฯ ต่อเรือชั้นอาร์ลีย์เบิร์กออกมาเป็น Flight IIA ลำล่าสุดคือ ไมเคิล เมอร์ฟีย์ (USS Michael Murphy, DDG 112) ประจำการที่ฐานทัพอ่าวเพิร์ล ตั้งแต่ปลายปี 2552 ปัจจุบันกำลังต่ออีก 5 ลำ คือ DDG 113-DDG 117 นอกจากนั้น ยังมีอีก 9 ลำ ทั้ง Flight 2A และ Flight III คือ DDG 118-DDG 126 อยู่ในขั้นตอนจัดหา
ในขณะที่ใช้ SM 2 (Standard Missile 2) ยิงต่อสู้อากาศยานในระยะไกล เป็นอาวุธมาตรฐานหนึ่งในระบบป้องกันทางอากาศในเรือพิฆาตกับเรือลาดตระเวน จรวด SM 3 พัฒนาขึ้นมาใช้สำหรับยิงขีปนาวุธนำวิถีระยะไกล ที่ตกลงสู่เป้าหมายในแนวดิ่งแบบ Ballistic Missile ซึ่งป้องกันได้ยากยิ่งกว่า และ SM 3 ยังใช้ยิงทำลายดาวเทียมจารกรรมของข้าศึกได้อีกด้วย
.
.
ตามข้อมูลที่เปิดเผยต่อสาธารณชน ในช่วงหลายปีมานี้ สหรัฐฯ ทดลองยิงจรวด SM 3 มาแล้ว 85 ครั้ง ในนั้นกว่า 60 ครั้ง ที่จรวดทำลายเป้าหมายได้สำเร็จ ขณะที่การพัฒนาทางเทคโนโลยียังดำเนินต่อไป
อย่างไรก็ตาม จรวด SM 3 ไม่ใช่อาวุธเพียงชนิดเดียวที่กองทัพเรือสหรัฐฯ ผลิตออกมาเพื่อใช้ยิงทำลาย Ballistic Missile ของข้าศึก ซึ่งมหาอำนาจนิวเคลียร์ต่างผลิตออกมามากมายหลายรุ่น หลายขนาด และหลายระดับชั้น ตั้งแต่ยุคสงครามเย็น รวมทั้งจรวดยิงโจมตีข้ามทวีปทีมีพิสัยทำการตั้งแต่ 5,500 กิโลเมตรขึ้นไป จนถึงขนาดเล็กลงเป็นจรวดระยะกลาง และระยะใกล้ 300-500 กิโลเมตร
การโยกย้ายเรือเบนโฟลด์ กับเรือมีเลียส จึงเป็นการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการวางกำลังป้องกันครั้งสำคัญ หลังจากเกาหลีเหนือได้ทดลองยิงจรวดติดหัวรบนิวเคลียร์พิสัยใกล้ ประสบความสำเร็จ และเกิดความระหองระแหงระหว่างสหรัฐฯ กับจีน ซึ่งในช่วงกว่า 10 ปีมานี้ จีนได้พัฒนาระบบจรวดโจมตีระยะไกลออกมาอีกหลากหลายรุ่น มีขีดความสามารถติดทั้งหัวรบธรรมดา และหัวรบนิวเคลียร์ และมีรัศมีทำการถึงฐานทัพสหรัฐฯ ในย่านนี้ทั้งหมด ถึงแม้ว่าจีนจะประกาศตัวเองเป็นประเทศที่จะไม่เป็นฝายใช้อาวุธนิวเคลียร์ก่อนก็ตาม
.
2
จีนให้เหตุผลว่า เมื่อฝ่ายสหรัฐฯ พัฒนาระบบจรวดต่อต้านขีปนาวุธที่มีประสิทธิภาพสูงขึ้น จีนก็มีความจำเป็นต้องพัฒนาระบบจรวดโจมตีที่มีประสิทธิภาพสูงขึ้น เพื่อประโยชน์ในเชิงป้องปราม เพราะจะช่วยให้สามารถยิงตอบโต้ได้ในกรณีที่เป็นฝ่ายถูกโจมตีก่อน
เมื่อต้นปีนี้สหรัฐฯ ได้ประกาศอย่างชัดเจนเกี่ยวกับพันธสัญญาที่จะต้องป้องกันญี่ปุ่น ถ้าหากถูกฝ่ายจีนโจมตีในความขัดแย้งกรณีเกาะเซ็นกากุ ในทะเลจีนตะวันออก ขณะเดียวกัน สหรัฐฯ ก็กล่าวว่า มีพันธกรณีตามกฎหมายที่จะต้องป้องกันเกาหลีใต้ หากถูกเกาหลีเหนือโจมตี หรือรุกราน
แผนการโยกย้ายเรือพิฆาตทันสมัยทั้ง 2 ลำเข้าสู่ย่านนี้ เป็นส่วนหนึ่งของแผนการกลับสู่เอเชียของสหรัฐฯ ที่เริ่มขึ้นในปี 2555 ในขณะที่ นายจอห์น เมบัส (John Mabus) รัฐมนตรีทบวงกองทัพเรือสหรัฐฯ ให้สัมภาษณ์ที่ฐานทัพโยโกสุกะ ในเดือน ก.ค.ปีนี้ ตอกย้ำอีกครั้งหนึ่งว่า สหรัฐฯ กำลังจะส่งเรือพิฆาตรูปทรง “ล่องหน” ล้ำยุค ซึ่งหมายถึงเรือซูมวอลต์ (USS Zumwalt, DDG 1000) ที่กำลังต่อ และก่อสร้างในขณะนี้ กับเรือโจมตีชายฝั่ง (Littoral Combat Ship) เข้าสู่ย่านแปซิฟิกตะวันตกอีกในช่วงปีข้างหน้า เพื่อสร้างดุลอำนาจในภูมิภาคที่เป็นเส้นทางเดินเรือสำคัญของโลก
การประกาศส่งเรืออาร์ลีห์เบิร์กทั้ง 2 ลำเข้าประจำการในญี่ปุ่น ก็ยังมีขึ้นเพียงข้ามสัปดาห์ หลังจากสหรัฐฯ นำเข้าประจำการเรือโจมตียกพลขึ้นบก ยูเอสเอสอเมริกา (USS America, LHA 6) ซึ่งเป็นเรือรุ่นใหม่ล่าสุด เทคโนโลยีทันสมัยที่สุด สำหรับกองกำลังนาวิกโยธิน พิธีจัดขึ้นที่ท่าเรือซานฟรานซิสโก ในวันเสาร์ 11 ต.ค.2557
เรือชั้นอเมริกา เป็นเรือขนาด 45,000 ตัน มีขนาดเทาๆ กันกับเรือบรรทุกเครื่องบินของอินเดีย และของฝรั่งเศส บรรทุกอากาศยานได้มากกว่า เรือ “เหลียวหนิง” ซึ่งเป็นเรือบรรทุกเครื่องบินลำแรกของจีน ยูเอสเอสอเมริกายังเป็นเรือโจมตียกพลขึ้นบกลำแรก ที่ออกแบบมา รองรับอากาศปีกหมุน V-22 “ออสปรีย์” กับเครื่องบินโจมตีขึ้นลงในแนวดิ่ง F-35B ปัจจุบันอีก 2 ลำ อยู่ระหว่างการต่อและก่อสร้าง จากทั้งหมด 7-8 ลำในโครงการ
กองทัพเรือสหรัฐฯ นำเข้าประจำการเรือชั้นอเมริกา เพื่อใช้แทนเรือชั้นทาราวา (Tarawa Class) ที่ใช้มาตั้งแต่ยุคปลายสงครามเวียดนาม ซึ่งลำสุดท้ายของชั้นนี้ คือเรือเปเลลิว (Peleliu, LHA 5) อยู่ระหว่างรอปลดระวางประจำการ ในขณะเดียวกันจะไม่มีการต่อเพิ่ม เรือลำเลียงพลและยกพลขึ้นบกชั้นวอสป์ (Wasp Class) ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน จำนวน 8 ลำ คือ LHD 1-8
พร้อมๆ กับประกาศเคลื่อนเรือเบนโฟลด์ กับเรือมีเลียส เข้าฐานทัพในญี่ปุ่น ในปี 2559 นี้กองทัพเรือสหรัฐฯ จะโยกเรือพิฆาตแบรี (USS Barry, DDG 52) จากซานดิเอโกอีกลำหนึ่ง ไปประจำการที่โยโกสุกะ แทนเรือแลสเซน (USS Lasssen, DDG 82) ซึ่งเรือแบรีเป็นอีกลำหนึ่งที่ผ่านการพัฒนาขีดความสามารถให้ยิงทำลาย Ballistic Missile ส่วนลำหลังจะกลับไปยังฐานทัพเมย์พอร์ต รัฐฟลอริดา เพื่อเข้าสู่กระบวนการพัฒนาปรับปรุงช่วงกึ่งอายุประจำการ
.
3
ตามข้อมูลที่ “ASTVผู้จัดการออนไลน์” รวบรวมได้จากเว็บไซต์กองทัพสหรัฐฯ เมื่อไม่นานมานี้ได้มีความเคลื่อนไหวสำคัญอื่นๆ อีกจำนวนหนึ่งของเหล่าทัพต่างๆ เกี่ยวกับแผนการกลับคืนสู่เอเชียแปซิฟิกของสหรัฐฯ
ปีหน้ากองทัพเรือที่ 7 จะโยกเรือแอนทีแทม (USS Anthietam, CG 54) ไปประจำการที่โยโกสุกะ แทนเรือคาวเพน (USS Cowpens, CG 63) ทั้ง 2 ลำเป็นเรือลาดตระเวนชั้นติคอนเดโรกาเช่นเดียวกัน แต่ลำแรกติดระบบอาวุธเน้นหนักการทำสงครามใต้ผิวน้ำ-ปราบเรือดำน้ำโดยเฉพาะ ส่วนลำหลังจะกลับฐานทัพในสหรัฐฯ เพื่อเข้าสู่กระขบวนการอัปเกรดช่วงกึ่งอายุประจำการ
เมื่อไม่นานมานี้ กองทัพเรือที่ 7 ได้ทยอยเปลี่ยนถ่ายเครื่องบินแบบพราวเลอร์ (Prowler) ซึ่งเป็นเครื่องบินเพื่อสงครามอิเล็กทรอนิกส์ ที่สร้างขึ้นบนโครงของเครื่องบินขับไล่โจมตีแบบ F/A-18 ที่ใช้งานมานานออกไป และมีการโยกฝูงบินปีกหมุน HSM-77 ที่ผ่านสงครามในตะวันออกกลางมาอย่างโชกโชน ไปประจำการบนเรือบรรทุกเครื่องบินจอร์จ วอชิงตัน (USS George Washington, CVN 73)
ปีหน้ากองทัพเรือจะสับเปลี่ยน เรือโรนัลด์ เรแกน (USS Ronald Reagan, CVN 76) ที่ใหม่กว่า ไปแทนเรือจอร์จ วอชิงตัน ที่ถึงกำหนดจะต้องอัปเกรดช่วงกึ่งอายุประจำการ โดยคาดว่า การสับเปลี่ยนจะมีขึ้นในช่วงปลายปี
เมื่อไม่นานมานี้เช่นกัน กองทัพอากาศสหรัฐฯ ได้ส่ง P-8 โพไซดอน (Poseidon) เครื่องบินตรวจการณ์ทางทะเล-ปราบเรือดำน้ำล้ำยุค ฝูงใหม่เข้าประจำฐานทัพในญี่ปุ่น และบนเกาะกวม
ส่วนใต้น้ำ แม้จะมีการเปิดเผยข้อมูลไม่มาก แต่ก็เป็นที่ทราบกันดีว่า กองทัพเรือสหรัฐฯ มีเรือดำน้ำหลายลำ หรืออาจจะมีจำนวนกว่า 10 ลำ ประจำการในย่านนี้ ทั้งเรือในสังกัดกองเรือบรรทุกเครื่องบินโจมตี และเรือที่ปฏิบัติการโดยอิสระ อันเป็นความลับยิ่งยวด มีทั้งเรือชั้นลอสแองเจลิส (Los Angeles Class) และเรือขั้นเวอร์จิเนีย (Virginia Class) ที่ใหญ่กว่า และทันสมัยกว่า
เจนส์ดีเฟนส์ (Jane's) รายงานเมื่อเดือนที่แล้ว อ้างการเปิดเผยของแหล่งข่าวในกองทัพสหรัฐฯ ที่ยอมรับว่า มีเรือดำน้ำชั้นโอไฮโอ (Ohio Class) อย่างน้อย 2 ลำ ลาดตระเวนในน่านน้ำทะเลจีนใต้ นี่คือมัจจุราชใต้น้ำทันสมัยที่สุด ขนาดใหญ่ที่สุด ติดตั้ง Ballistic Missile ยิงโจมตีระยะไกล และมีขีดความความสามารถติดหัวรบนิวเคลียร์ได้อีกด้วย
เรือชั้นโอไฮโอ ซึ่งใช้พลังงานนิวเคลียร์เช่นเดียวกับเรือดำน้ำชั้นอื่นๆ ของสหรัฐฯ สามารถปฏิบัติการอยู่ใต้น้ำได้ตราบนานเท่านาน เท่าที่เสบียงอาหารจะเอื้ออำนวย เรือชั้นนี้ไม่ได้โผล่ขึ้นเหนือน้ำให้เห็นในย่านนี้อีกเลย นับตั้งแต่ต้นปี 2555 ที่มีการเผยแพร่ภาพ “การชุมนุมเรือดำน้ำ” ครั้งใหญ่อีกครั้งหนึ่ง ที่ฐานทัพเรืออาปรา (Apra Habour) เกาะกวม.
.
4